ยึดความซื่อสัตย์ ไม่บวกกำไรเยอะ! พ่อค้าผัก วัย 75 ขายผักได้วันละหมื่น

ยึดความซื่อสัตย์ ไม่บวกกำไรเยอะ! พ่อค้าผัก วัย 75 ขายผักได้วันละหมื่น

พูดถึงเรื่องการค้าขาย หากมีใจซื่อสัตย์กับลูกค้า ก็จะค้าขายราบรื่น เมื่อลูกค้าอยู่ได้ร้านค้าเองก็อยู่ได้ เช่นเรื่องราวของ คุณพงศกร วัฒธนศิริกูล หรือ เฮียหมี อดีตเจ้าของอู่ซ่อมรถที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้ารับผักจากตลาดสี่มุมเมืองส่งแผงผักตลาดคลองเตย จากรายได้ต่อวัน 1,500 บาท สู่ปัจจุบัน 10,000-15,000 บาทต่อวัน (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย)

เฮียหมี ในวัย 75 ปี เล่าให้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ฟังว่า ตนเป็นคนจังหวัดอุดรธานี เดิมมีอาชีพเปิดอู่ซ่อมรถเล็กๆ แต่มีรายได้ไม่พอใช้ สมัยนั้นคนนิยมเดินทางไปใช้แรงงานที่ต่างประเทศ ตนจึงไปกู้เงินจนได้ไปใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศญี่ปุ่น

“ผมเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงกลับมาตั้งตัวที่ไทย ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี และเป็นจังหวะมีเพื่อนชวนมาเที่ยวตลาดสี่มุมเมือง เพื่อนคนนี้เขาทำอาชีพรับผักไปขาย เลยแนะนำให้ผมลองทำ พอได้ลองก็เห็นว่ารายได้ดี จึงหันมาประกอบอาชีพนี้อย่างจริงจัง”

เฮียหมีเริ่มส่งผักที่แรกให้แผงผักที่ตลาดคลองเตย ต่อมามีโอกาสได้เซ้งแผงที่ตลาดคลองเตย “ในเมื่อโอกาสมาถึงมือแล้วผมก็ไม่รอช้า ตัดสินใจเซ้งแผงขายผักที่ตลาดคลองเตยในปี 2537 จนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็ 28 ปีแล้วครับ ผมก็ยังขับรถมาซื้อผักที่ตลาดสี่มุมเมืองไปขายที่แผงของตัวเองและแผงอื่นๆ ที่ตลาดคลองเตย” เฮียหมี เล่าให้ฟัง

ในทุกๆ วันเฮียหมีจะเข้ามาซื้อผัก “ผักที่ซื้อก็พวกผักสดที่คนนิยมนำไปทำกับข้าว เช่น ต้นหอม ผักชี กระหล่ำ ผักกาดขาว ผักบุ้ง กวางตุ้ง แตงกวา พริก มะนาว แล้วก็มีผักต่างประเทศบ้าง เช่น พวกพริกกระดิ่ง ต้นหอมญี่ปุ่น 

มาซื้อของทุกวันไม่มีวันหยุด ผมจะเตรียมเงินทุนมาซื้อผักทุกวัน วันละ 60,000-100,000 บาท หักค่าผักแต่ยังไม่หักค่าลูกน้อง ค่าน้ำมันรถ รายได้จะอยู่ที่ราวๆ 10,000-15,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างครับ เช่น ถ้าช่วงไหนผักแพง กำไรก็น้อยลง หรือน้ำมันขึ้นราคาผมก็ต้องหาทางประหยัดต้นทุนเช่นเปลี่ยนเป็นรถขนาดเล็กลง แต่ต้องสามารถขนผักในปริมาณเท่าเดิมได้” พ่อค้าผักวัย 75 บอกอย่างละเอียด

โดยผักที่นำมาขายนั้น ลูกค้าที่มาอุดหนุนส่วนใหญ่ คือแผงผักที่ตลาดคลองเตย ซึ่งแผงผักก็จะนำไปขายปลีกให้กับลูกค้าทั่วไป และรองลงมาคือพวกร้านอาหาร

สำหรับเคล็ดลับมัดใจลูกค้าของพ่อค้าผักวัยเก๋า คือการคัดเลือกผักคุณภาพ ซื่อสัตย์ และไม่บวกกำไรเยอะ

“ตั้งแต่เริ่มผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายผัก ยังไม่เคยหยุดยาวสักครั้ง มีล่าสุดคือช่วงโควิดตลาดคลองเตยปิด 7 วัน ครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่หยุดตั้งแต่เริ่มอาชีพนี้ ผมต้องมาตลาดสี่มุมเมืองทุกวัน มาเลือกผักด้วยตัวเอง เพราะเราต้องส่งผักคุณภาพให้ลูกค้าเท่านั้น เอาแค่พออยู่ได้ ให้ได้ค้าขายกันไปนานๆ

การมาซื้อของที่นี่ก็เหมือนได้มาเที่ยว มาเจอเพื่อน พ่อค้าแม่ค้าหรือแม้แต่คนส่งของก็รู้จักกันเกือบหมด เราอย่าคิดว่ามาทำงาน คิดว่ามาเที่ยวเราก็จะสนุกไปกับมันด้วย ส่วนลูกค้าเราก็ต้องซื่อสัตย์จะไม่บวกกำไรเยอะ หาของดีๆ ส่งให้เขา เพราะเขาก็ต้องเอาไปขายต่อให้กับลูกค้าปลายทาง ถ้าของเราไม่ดีเราก็ค้าขายกันได้แป๊บๆ ถ้าลูกค้าอยู่ได้ ผมก็อยู่ได้ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า จะได้ค้าขายกันนานๆ” เฮียหมี บอกด้วยความจริงใจ

ส่วนใครที่อยากรับผักไปขายนั้น เฮียหมี แนะนำว่า “ต้องดูผักให้เป็น แบบไหนเรียกสวย แบบไหนไม่สวย ขยันในการเดินเช็กราคา เราต้องเช็กหลายๆ ร้าน และที่สำคัญคือ การเก็บ การเรียงผักไม่ให้ช้ำไม่ให้เสียหาย เวลาเราบรรทุกผัก เราต้องมีวิธีวาง ต้องเอาอะไรซ้อนกับอะไร เพื่อให้ผักบอบช้ำน้อยที่สุด

และต้องทดลองมาซื้อหลายๆ ช่วงเวลา เพราะแต่ละเวลาราคาก็จะแตกต่างกัน ซึ่งเราจะได้กำไรมากน้อยขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มาซื้อผักด้วย มาเรียนรู้กับผมได้ หรือว่าจะเดินถามพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แล้วเราจะค่อยๆ ชำนาญไปเอง” เฮียหมี ทิ้งท้าย 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2565