ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า ภูมิปัญญาเคยเลือนหาย ปัจจุบัน ผลิตขายแทบไม่ทัน
คุณแสงเดือน เปี้ยตั๋น แห่งศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่ง (แปลง 8) เล่าถึง โครงการพัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพ ในเขตอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยกระดับการทอผ้าจกโบราณและออกแบบลวดลายผ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าทอและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแบบยั่งยืน ว่า
ช่วงปีแรก กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้ดีพอสมควร ทั้งคนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ ผู้สูงอายุที่ทำงานอื่นไม่ได้ก็มานั่งทอผ้ากัน แถมยังมีเวลาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวด้วย เช่น คุณพวงแก้ว ม่วงคำ อายุ 49 ปี อาชีพเกษตรกร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ เขาพยายามฝึกฝนจนทอเป็น และบอกว่าปีที่แล้วเขามีรายได้หลักจากการทอผ้าเลย ทำให้มีเงินส่งลูกเรียน ซึ่งเราก็ภูมิใจมาก
เมื่อกลุ่มเป้าหมายทอผ้าพื้นได้เชี่ยวชาญ ก็เกิด ‘แรงบันดาลใจ’ อยากทอให้ผ้าจกลายโบราณที่มีอยู่เป็นร้อยลาย แต่การทำผ้าจกโบราณ เป็นผ้าที่จะต้องใช้ใจ และใช้เวลาเยอะ จึงเป็นที่มาของการต่อยอดโครงการฯ ปีที่ 2 เพราะคิดว่าถ้าเขาทำได้ จะทำให้เขามีความรู้ มีทักษะมากขึ้น ขายผ้าได้ราคาสูงขึ้น และสามารถใช้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน
โดยกลุ่มเป้าหมายมีเท่าเดิม คือ 50 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่ม 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตดูแลพี่สาวที่พิการ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยเอดส์ กว่าจะเป็นผ้าทอสักผืน ต้องใช้ความพิถีพิถันในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมฝ้าย การย้อม จนถึงกระบวนการทอ รวมถึงอุปกรณ์ในการทอผ้า เสร็จแล้วจะสอนวิธีใช้ การทำเส้นยืน เส้นพุ่งต้องทำอย่างไร การสืบเส้นด้าย
จากนั้นให้เริ่มทอ พอเริ่มทอได้มีทักษะการทอผ้าพื้นธรรมดา ก็ค่อยๆ สอดแทรกลายเข้าไป ซึ่งกลุ่มเป้าหมายใหม่จะต้องเรียนรู้ เข้าใจและฝึกฝนทักษะในทุกขั้นตอน ส่วนสมาชิกเก่าที่มีความรู้พื้นฐานการทอผ้าพื้น คุณเดือน จะเริ่มต่อยอดองค์ความรู้ทั้งการย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบลวดลาย และการทอผ้าจกลายโบราณ
โดยเชิญผู้รู้ในหมู่บ้าน และเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นวิทยากรเสริมในแต่ละหัวข้อของการอบรม โดยปีนี้เริ่มสอนเรื่องลายโบราณ ตั้งแต่การออกแบบลายผ้า การเก็บเขาลายผ้าทอแบบครบวงจร สอนให้รู้เทคนิคของการทอ แล้วก็สาธิตการทอ
ด้วยเป็นผ้าจกลายโบราณ ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของดอยเต่า ทำให้การทอมีความยาก ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง มีความซับซ้อนในขั้นตอนของการทอ และต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ผู้ทอต้องใช้ทักษะและความอดทนสูง “เขาบอกว่า ต้องมาฝึก ต้องได้ ต้องทำได้” คุณแสงเดือน เล่าสะท้อนถึงความรู้สึกและความมุ่งมั่นของกลุ่มเป้าหมาย
ก่อนเล่าต่อว่า ลายที่ยาก คือ ลายเกล็ดเต่าและลายดีดอกใหญ่ เป็นลายที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันมากนัก แต่เริ่มมีคนทอได้ เพราะว่าใช้เทคนิคการเหยียบ ซึ่งจะเขียนไว้ในเอกสารหลักสูตรการสอนเลยว่าต้องเหยียบอย่างไร
“บางคนสอนแป๊บเดียวทำได้แล้ว บางคนก็ยังทำไม่ได้ ตอนนี้มีคนที่ทอเป็นผ้าผืนได้สวยงาม ผลงานเป็นที่น่าพอใจประมาณ 12 คน และบางคนพอเริ่มทอลายได้แล้ว เขาจะทอลายนิดหน่อย แล้วก็ลองไปใช้ทำกระเป๋า ซึ่งก็มีคนสนใจและขายได้ ตอนนี้เราพยายามกระตุ้นให้เขาออกแบบลายเองให้ได้ แล้วก็เอาลายที่ตัวเองออกแบบไปทอให้ได้” คุณแสงเดือน เล่า
ทั้งนี้ ผลงานผ้าทอของกลุ่มเป้าหมายแต่ละชิ้นจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้รู้ในชุมชนและอาจารย์จากวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งยังมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงชิ้นงานให้สวยงามมากขึ้นด้วย
สำหรับอุปสรรคปัญหาในการทำงาน คุณแสงเดือน บอกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเวลาที่ไม่ตรงกัน กลุ่มเป้าหมายบางคนจะต้องดูแลลูกหรือผู้สูงอายุในครอบครัว แต่เราก็ใช้ความยืดหยุ่นปรับแก้ไปตามสถานการณ์ เช่น ให้กลุ่มเป้าหมายนำผ้าไปทอที่บ้านเพื่อให้มีเวลาดูลูก และเมื่อได้งานก็ให้นำมาส่ง
เส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่ถูกถักทออย่างบรรจง จนได้ผ้าซิ่นตีนจกที่มีลวดลายงดงามถูกส่งต่อให้กลุ่ม เพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘เอื้อมเดือน’ หรือกลุ่มเป้าหมายจำหน่ายด้วยตนเอง รวมทั้งยังเริ่มมีการแปรรูปผ้าจกสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม และเพิ่มเติมความสุขจากการได้มาร่วมกลุ่มทอผ้ายามว่างจากฤดูการทำการเกษตร
คุณแสงเดือน บอกว่า ดีใจที่ชาวบ้านมีทักษะ และสามารถสร้างรายได้ ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อ เป็นข้าราชการ ครู เจ้าหน้าที่ในอำเภอ จะมาซื้อผ้านุ่ง เสื้อ และผ้าซิ่น โดยเสื้อจะมีการนำผ้าทอลายเกล็ดเต่า มาแต่งตรงคอปกเสื้อ และตรงปลายแขนเสื้อ เพราะว่าถ้าทำเป็นผ้าถุงอย่างเดียว ราคาจะค่อนข้างสูง อีกทั้งมีอาจารย์ เข้ามาช่วยเรื่องการแปรรูปนำผ้าจกมาทำปลอกหมอน ผ้ารองจาน แล้วก็กล่องกระดาษทิชชู ซึ่งจริงๆ กำลังเริ่มทำกันแล้ว แต่พอมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป
ด้านคุณอริสา มูลอุด อายุ 53 ปี อาชีพช่างทอผ้าและเย็บผ้า กลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า ปีที่ผ่านมาทอผ้าขายได้ประมาณ 18,000 บาท โดยเธอจะทอผ้าไปด้วย ดูแลผู้สูงอายุไปด้วย ซึ่งปีนี้ผ้าที่เธอทอเป็นผ้าทอจกลายโบราณทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มาร่วมโครงการฯ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากที่ได้แค่เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 700-800 บาท จากการมาช่วยงานที่ศูนย์ เราจะให้เขาทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก
ที่สำคัญ การได้มาร่วมกลุ่มกันได้กลายเป็น ‘พื้นที่สร้างสุข’ ให้คนในชุมชนได้มาพูดคุยปรับทุกข์กัน แต่ที่ดีใจมากที่สุดคือ การได้ช่วยผู้ด้อยโอกาสอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่สาวของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใหม่ เขาเป็นคนพิการ ไม่มีแม้แต่บัตรประชาชน เราก็พยายามช่วย จนตอนนี้ได้ทั้งบัตรประชาชน บัตรผู้สูงอายุ และคนพิการ ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีรายได้มากขึ้น ประมาณ 10,000-18,000 บาท
การเสริมสร้างทักษะการทอผ้าจกของโครงการฯ ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ในชุมชน และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้านดอยเต่าเท่านั้น แต่ยังทำให้กลุ่มเป้าหมายบางส่วน เริ่มเห็นคุณค่างานทอผ้าด้วยการจัดหากี่ทอผ้าไว้ทำงานใต้ถุนบ้านของตนเอง อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มทำอาชีพทอผ้าจกได้อย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชน
คุณแสงเดือน บอกว่า ผลจากการทำโครงการฯ มาตลอด 2 ปี เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนชัดเจน เริ่มมีคนเห็นคุณค่าของผ้าทอจกดอยเต่ามากขึ้น เช่น ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ถ้าเป็นช่วงปกติที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ภาพที่เห็นทุกวัน คือ จะมีคนมาทอผ้าเต็มไปหมด
“ตอนนี้นอกจากมีรายได้แล้วก็มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มเข้มแข็ง เขาก็จะมีการเก็บเงินเพื่อเป็นส่วนกลาง เช่น เก็บค่าทอผ้าเมตรละ 3 บาท สมมติว่าปีนี้ เรายังไม่ได้ขอทุนโครงการฯ กสศ. ต่อ เราก็จะนำเงินส่วนกลางที่เก็บไว้มาเป็นทุนใช้จ่ายซื้อด้าย ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ หรือจ้างผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมานั่งปั่น นั่งทอผ้าที่ศูนย์ฯ” คุณแสงเดือน บอก
เมื่อถามถึงความสำเร็จ คุณแสงดือน บอกว่า พอใจมาก แม้กลุ่มเป้าหมายจะทอผ้าจกดอยเต่าเป็นแล้ว แต่ก็พยายามกระตุ้นให้เขาไม่ทอดทิ้งงานผ้า คือ ให้อาชีพทอผ้าจกดอยเต่าเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชุมชนให้ได้ จริงๆ ยังมีแผนงานที่คิดจะทำอีกเยอะ เช่น การปลูกฝ้ายในชุมชน เพื่อให้เขาเห็นกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น
สนใจผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า ผลงานจากโครงการพัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพ ในเขตอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อ คุณแสงเดือน เปี้ยตั๋น โทรศัพท์ 085-624-3976