ถอดรหัส ธุรกิจเสื้อผ้าญี่ปุ่นสัญชาติไทย ฝ่าวิกฤต โดยใช้ โซเชียล เป็นเรือหลัก

ถอดรหัส Neelor ธุรกิจเสื้อผ้าญี่ปุ่นสัญชาติไทย ฝ่าวิกฤต โดยใช้ โซเชียล เข้าถึงลูกค้า

คนไทยจำนวนมากชื่นชอบสินค้าและท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ด้วยธรรมชาติคนประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับดีไซน์และรูปลักษณ์ของสินค้าผลิตภัณฑ์มาก การออกแบบว่าจ้างดีไซเนอร์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือควรมองข้าม

ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สินค้าหรือบริการบางชนิดเมื่อใส่พลังความคิดดีไซน์ลงไป ก็สามารถทำให้แบรนด์สินค้านั้นถูกพูดถึงในตลาดออนไลน์และออฟไลน์และทำยอดขายได้สูงมาก โดยใช้งบการตลาดไม่มากจนเกินไป ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหันมาออกแบบและผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ ที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างดี แม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 มาหลายปี

นายนฤเบศร์ หน่อคำ ผู้บริหารเสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่นแบรนด์ Neelor เล่าว่า ตนเป็นศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยช่วยสร้างแบรนด์เสื้อผ้าสไตส์ดั้งเดิมญี่ปุ่น มีการผสมผสานความเป็นโมเดิร์นแบบสมัยใหม่ ดั้งเดิมแต่ยังดูใหม่ ภายใต้ชื่อ Neelor ไม่มีความหมาย แต่ถ้าอ่านเป็นภาษาไทยจะอ่านว่า “นี่เหรอ”

ประกอบไปด้วยเสื้อ กางเกง กางเกงขาสั้น และชุดชั้นในทั้งหญิงทั้งชาย เสื้อผ้าทุกตัวทำมาจากวัตถุดิบของประเทศไทยทั้งหมด ผ้านำมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เราใช้วัตถุดิบของไทยทั้งหมด เพียงแต่ดีไซน์และการออกแบบนั้นให้มีความสอดคล้องวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งความพิเศษของวัตถุดิบที่เน้นเป็นพิเศษเป็นผ้าฝ้ายเมือง เป็นลักษณะของล้านนาเก่า เป็นเสื้อผ้าฝ้ายที่ทอมือโดยบริษัทอยากจะนำเสนอในส่วนนี้ออกมาด้วยเช่นกัน

แต่มีความเป็นญี่ปุ่นและไม่ทิ้งความเป็นล้านนาไทย โดยลักษณะของผ้ามีความพิเศษยิ่งใส่ยิ่งนุ่ม และผ้าระบายอากาศอย่างดี ทำให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย ที่สำคัญ ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังสำหรับผู้ที่แพ้ง่าย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นและชอบใส่เสื้อผ้าสไตล์ญี่ปุ่น

ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์เป็นหลักทุกแพลตฟอร์ม ได้แก่ Facebook, Instagram, Shopee, Lazada และ TikTok แต่ยอดขายที่ได้รับความนิยมนั้นจะเน้นไปทางผู้ชายค่อนข้างมาก ประมาณ 60% ของยอดขาย และผู้หญิงประมาณ 40% ส่วนกลุ่มลูกค้าต่างประเทศตอนนี้อยู่ที่ 5%

“ช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 ค่อนข้างได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทางผู้รับจ้างผลิตสินค้ามีการขึ้นค่าผลิตวัตถุดิบหลายเท่าตัว เพราะมีค่าน้ำมันและค่าแรงเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การหาผู้ผลิตสินค้ารายใหม่ ที่สามารถเปรียบเทียบราคาได้และให้มีราคาที่ถูกกว่ากัน จากนั้นก็มาวางแผนปรับโครงสร้างของบริษัทด้านการลงทุน”

“โดยที่ยอดสั่งซื้อนั้นยังคงเดิมไม่มีลดลง เพราะบริษัทไม่เคยลดราคา ตัวสินค้าเชื่อว่าสามารถขายได้ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าที่ซื้ออยู่ตลอดเวลาและกลับมาซื้อซ้ำ แต่บริษัทสนับสนุนลูกค้าในเรื่องค่าส่งทดแทน หลักจากนี้ประมาณอีก 1 ปี บริษัทจะเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศเต็มรูปแบบ โดยเน้นย้ำว่า ทำสิ่งที่ถนัด ใช้กลยุทธ์ที่ทำอยู่ในประเทศให้สอดคล้องกัน ขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์อย่างเดียวกันกับตลาดต่างประเทศ จะเปิดตลาดใน Alibaba และ Amazon”

“ทุกๆ การขายในแต่ละแพลตฟอร์มการใช้งานจะแตกต่างกัน ลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ TikTok จะทำเป็นคลิปสั้นๆ ด้าน Facebook จะต้องมีความน่าเชื่อถือขึ้นมาอีกระดับ ด้าน Instagram จะเน้นที่ความสวยงามการถ่ายรูปสินค้าที่ดูสบายตา แต่ละแพลตฟอร์มกลยุทธ์ก็จะแตกต่างไปตามแต่ละแพลตฟอร์มนั้น โดยคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่นำเสนอนั้นต้องสอดคล้องต้องมีความน่าเชื่อถือเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ตั้งไว้” นายนฤเบศร์ กล่าวทิ้งท้าย