เคยปูเสื่อขายหน้าห้าง ก่อนเป็น ร้านดินปั้น ขายออนไลน์เดือนละหลายหมื่น

เคยปูเสื่อขายหน้าห้าง ก่อนเป็น ร้านดินปั้น ขายออนไลน์เดือนละหลายหมื่น

คนเราถ้าตั้งใจทำอะไรแล้ว ย่อมเห็นผลสำเร็จ เช่นเดียวกับ คุณกัญ-กัญชนก ต๊ะมามูล ที่ฝึกฝนวิชาการปั้นดินด้วยตัวเอง บวกกับพรสวรรค์ที่มี จนสามารถเปิดร้านดินปั้น ครีเอตเป็นเครื่องประดับ เคสโทรศัพท์ และ Griptok งานแฮนด์เมด ที่เธอปั้นเองทุกชิ้น ผ่านเมนูอาหารไทย ฝรั่ง และขนมหวานหน้าตาน่าทาน สร้างรายได้ดีเดือนละ 30,000-40,000 บาท

เจ้าของร้านสาว เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า เธออยากทำธุรกิจของตัวเอง เมื่อเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงเริ่มฝึกฝนการปั้นดิน ไม่ได้ผ่านการลงคอร์สจริงจัง แต่ฝึกด้วยตัวเอง จากนั้นถึงเริ่มปั้นเครื่องประดับ

“เคยทำงานแฮนด์เมดขายตั้งแต่สมัยเรียน ก็ชอบตั้งแต่นั้นมา อาศัยฝึกฝนเอาเองจนทำได้ ใช้ดินไทยและดินญี่ปุ่นสลับกันไป งานปั้นชิ้นแรกคือเครื่องประดับ มีทั้งกำไล สร้อย ต่างหู พวงกุญแจ ทำเป็นรูปอาหาร เพราะชอบกินและมีหลากหลายเมนูช่วยให้เราจินตนาการได้เรื่อยๆ”

คุณกัญเริ่มขายเครื่องประดับจากออฟไลน์ คือปูเสื่อขายหน้าห้าง อยู่ 3-4 ครั้ง รวมทั้งออกบู๊ธ จากนั้นย้ายมาขายออนไลน์ ผ่านเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมไปพร้อมๆ กัน ชื่อร้าน Gokudera Jewelry หรือโกคุเดระ มาจากชื่อตัวละครเรื่องครูพิเศษจอมป่วน รีบอร์น ที่เธอชื่นชอบมาก

ธุรกิจดินปั้นของคุณกัญเติบโตเรื่อยมา พีกสุดคือโพสต์ขายในเว็บไซต์ไต้หวัน ได้ลูกค้าต่างชาติอุดหนุนเพียบ และขยับขยายสู่ Shopee LAZADA และ LINE SHOPPING ถึงวันนี้เธอปั้นดินมาแล้ว 7 ปี

“เครื่องประดับขายดีมาก จนเราขยับขยายมาทำเคสโทรศัพท์เพิ่ม ล่าสุดต่อยอดเป็น Griptok หรือที่ติดหลังโทรศัพท์ ให้ผู้ใช้งานจับโทรศัพท์ได้สะดวกมากขึ้น โดยยังทำเป็นเมนูอาหารเหมือนเดิมค่ะ” เธอบอกอย่างนั้น

ก่อนบอกต่อ ทำ Griptok ยากกว่าการทำเคสโทรศัพท์เป็นไหนๆ เพราะมีพื้นที่จำกัดจึงต้องปั้นให้เล็กลง โดยมีขั้นตอนการทำเบื้องต้น ก่อนเป็นอาหารจานสวยเสิร์ฟถึงมือลูกค้า

ขั้นแรกนำดินมาผสมสี จากนั้นปั้นตามรูปแบบที่ต้องการ แล้วปล่อยให้แห้งประมาณ 1 วัน ถ้าชิ้นไหนหนา อาจต้องใช้เวลาถึง 2 วัน จากนั้นตกแต่ง เก็บงาน เก็บสี ทำเงาให้เหมือนจริง แล้วนำมาประกอบร่างด้วยกาวติดเครื่องประดับ สุดท้ายเคลือบเงาให้สวยงาม เป็นอันเสร็จ

“บางแบบใช้ดินไทย บางแบบใช้ดินญี่ปุ่นผสมๆ กันไป ต้นทุนดิน น้ำหนัก 200-250 กรัม ราคาประมาณ 70 กว่าบาท ส่วนสีผสมดินใช้สีอะครีลิกค่ะ ทุกขั้นตอนที่บอกไป ยากสุดคือการปั้นดินชิ้นเล็กๆ เช่น เม็ดข้าว ต้องเล็กมากๆ เราต้องปั้นดินให้เป็นเส้นยาวๆ ก่อน แล้วตัดให้เป็นเม็ด Griptok 1 ชิ้นใช้เวลาทำ 2 วันได้ค่ะ สินค้าคงทนค่ะ ใช้ได้นาน” เธออธิบาย

อย่างไรก็ตาม เมนูอาหารยอดนิยมที่ลูกค้าสั่งบ่อย เจ้าของร้านคนเดิม บอกว่า “ถ้าเคสโทรศัพท์ ลูกค้าชอบสั่งลายส้มตำ กะเพราหมูกรอบ ส่วน Griptok สั่งเยอะสุดคือหมูกระทะ เมนูเหล่านี้เราทำจนชินมือ แต่กว่าจะได้ขนาดนี้เริ่มแรกก็เหมือนเด็กอนุบาลปั้นอยู่ค่ะ ฝึกมาเรื่อยๆ บวกกับจินตนาการจนได้อย่างทุกวันนี้”

“อาทิตย์กว่าๆ ทำ Griptok เป็นร้อยชิ้น ราคาเริ่มต้น 80-120 บาท แล้วแต่ว่าลงรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน อย่างไข่ดาว 80 บาท ถ้าหมูกระทะ 95 บาท ส่วนเคสโทรศัพท์ เริ่มต้น 270-350 บาท มีทุกรุ่นที่ต้องการ ถ้าสั่ง ให้ออร์เดอร์ล่วงหน้า 7 วัน เพราะเป็นงานแฮนด์เมดทุกชิ้น ต้องใช้เวลา รวมรายได้ทั้งเคสและ Griptok ราวๆ 30,000-40,000 กว่าบาทต่อเดือน แล้วแต่ช่วงด้วยค่ะ” เจ้าของร้าน ทิ้งท้าย

แวะไปอุดหนุนได้ที่ เพจ Gokudera Jewelry อินสตาแกรม : gokudera.jw และ LINE SHOPPING : Gokudera

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2565