‘ผลไม้อบแห้ง’ สินค้าชุมชนบ้านแคว สารภี-เชียงใหม่ สู่ของฝากโกอินเตอร์

ภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ทั้งการเดินทางผ่านท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ และเส้นทาง R3A จากแผ่นดินใหญ่ มุ่งหน้าข้ามแดนจากฝั่งลาว มาเยือนล้านนานคร เพื่อเยือนแหล่งท่องเที่ยว และจับจ่ายซื้อสินค้า สร้างความคึกคักแก่เมืองท่องเที่ยวของประเทศไทย

 เมื่อมาเที่ยวแล้ว เวลากลับก็ต้องมี..ของฝาก ตามประสาชาวเอเชียผู้มีน้ำใจงาม หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อและถูกเลือกซื้อติดไม้ติดมือไปให้คนทางบ้าน ได้แก่ ของขบเคี้ยว ที่มาจากผลิตของชุมชนในท้องถิ่นจำพวก อบแห้ง ซองเล็กน้ำหนักไม่มากพกพาสะดวก เป็นสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านของฝากของที่ระลึกเมืองเชียงใหม่ ทั้งที่สนามบิน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังสุดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวจากแดนมังกร ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

aa16

 สืบความได้สถานที่ก็มุ่งหน้าไปยังแหล่งผลิตทันที ใช้เวลาเดินทางลัดเลาะไปตามถนนต้นยางใหญ่ สายเชียงใหม่-ลำพูน เลี้ยวขวาผ่านหมู่บ้านต่างๆ ไปเรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึง..วิสาหกิจชุมชนบ้านแควแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 70/1 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 

 พี่แดง ทองเพียร ศรีสว่าง ประธานกลุ่มฯ ยืนยิ้มรอต้อนรับ พร้อมเชื้อเชิญเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรชุมชนในท้องถิ่น โรงงานขนาดย่อมเรียงรายกันไปตามทางยาวของที่ดินกว่า 3 ไร่ แม้จะเล็ก แต่กลับกว้างขวาง โล่ง สบายตา สำคัญสุดคือ ความสะอาด สมกับเป็นสถานที่ผลิตอาหารเพื่อชาวโลก มีป้ายคำขวัญติดไว้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างเงินล้านสู่ชุมชนบ้านแคว สร้างวินัยในองค์กร สร้างสรรค์งานด้วยองค์ความรู้ชุมชน และคำว่า..เศรษฐกิจพอเพียง เคียงข้างประชาชน

 ทองเพียร บอกว่า เริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ ขึ้นเมื่อปี 2538 เรียกว่ายาวนานมากว่า 20 ปี เพราะความยากจนและรายได้ไม่แน่นอน จากการทำนา และเก็บลำไยเพียงปีละครั้ง หลังจากนั้นก็ว่างงาน ไม่มีความมั่นคงให้ชีวิตและไม่พอกิน ทางเกษตรอำเภอสารภีจึงเข้ามาส่งเสริมให้แม่บ้านแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล โดยเริ่มจากการดองผลไม้ ทั้งมะม่วง ขิง ผักกาด ไข่เค็ม น้ำพริกตาแดง กล้วยฉาบ ข้าวแต๋น นำออกจำหน่ายตามงานเทศกาลต่างๆ

aa15

 ตอนนั้นพี่แดงก็เริ่มคิดและมองหาโอกาสที่จะนำลำไยมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง ก่อนที่จะขยับขยายไปยังผลไม้ตัวอื่น อาทิ ลิ้นจี่ มะเขือเทศ มะม่วง สตรอเบอรี่ ขนุน อะไรที่มีในท้องถิ่นเรานำมาทำอบแห้งหมด โดยลงทุนจากเล็กก่อนขยายใหญ่ขึ้น จนปัจจุบันเรามีทั้งโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และเตาอบลมร้อน ไม่มีเขม่า ทำให้ผลผลิตออกมาดีขึ้น สีสวย รสอร่อย”

 สังเกตได้ว่า แม่บ้านจำนวน 21 คน ที่ทำงานอยู่ในวิสาหกิจชุมชนบ้านแควฯ มีรอยยิ้มเปื้อนหน้าอยู่ตลอดเวลา เสียงสนทนาในวงแกะขนุนสด ที่ลานหลังบ้านบ่งบอกถึงความสุขในคุณภาพชีวิตที่แสนสำราญ ช่วงนี้ทุกคนสาละวนกับการอบขนุน ซึ่งส่งตรงมาจากสวนจังหวัดจันทบุรีและระยอง เพราะปีที่ผ่านมาขนุนอบแห้งขาดตลาด ปีนี้จึงรีบวางแผนแต่เนิ่นๆ ทำให้ทั้งโรงงานหอมอบอวลไปด้วยกลิ่นขนุนสีทองอร่าม หลังจากผ่านการอบในเตาอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นานถึง 12 ชั่วโมง 

 จุดเด่นของวิสาหกิจชุมชนบ้านแควฯ คือ สินค้ามาจากผลผลิตในชุมชนคนท้องถิ่น ไม่ใช่การผลิตโดยเครื่องจักรแบบโรงงานขนาดใหญ่ ทุกอย่างหมุนเวียนและคืนกำไรแก่ชุมชน ให้ทุกคนอยู่อย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปจากบ้านเรือนตนเอง ทำให้ครอบครัวมีความสุข ฝนตกก็เดินไปเก็บผ้า เก็บผักข้างรั้ว กลับไปทำกับข้าว อยู่อาศัยกันแบบพี่น้อง

aa10

 ทุกวันนี้สินค้าตราบ้านแคว – BANKWAE BRAND ได้รับมาตรฐานสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) GMP คือ Good Manufacturing Practice (GMP). หรือ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และ HACCP มาตรฐานการผลิต ป้องกันอันตรายต่อผู้บริโภค และอาหารฮาลาล (Halal Food) อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม มาตรฐานสินค้า OTOP เรียกว่าคุมคุณภาพครอบคลุมพร้อมจำหน่ายไปทั่วโลก ด้วยรางวัลมากมายการันตี

 ทองเพียร บอกว่า  ตั้งแต่ปี 2556 สินค้าผลไม้อบแห้งทุกชนิดขายดีขึ้นแบบสองเท่าตัว เพราะได้รับความนิยมจากชาวจีนมาก สินค้าที่ส่งไปวางจำหน่ายในร้านของฝากของที่ระลึกที่สนามบิน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ เฟสติวัล ห้างสรรพสินค้าเมญ่า ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ริมปิงทุกสาขา ไม่พอจำหน่ายในแต่ละวัน มีคำสั่งซื้อแบบไม่อั้น ซึ่งบางวันเราก็ทำให้ไม่ทัน ยังไม่รวมสินค้าที่ส่งไปวางจำหน่ายที่สยามพารากอน ร้านพรทิพย์ ภูเก็ต ทั้งหมดยังไม่รวมการส่งออก ซึ่งจะมีพ่อค้าชาวจีนเดินทางมาดูที่แหล่งผลิตเพียงครั้งเดียว เมื่อพอใจเขาก็สั่งตลอดโดยจะมีตัวแทนมารับของเองและจ่ายเงินสด เป็นการค้าขายแบบปลอดภัย

aa14

 ทุกวันนี้กลุ่มแม่บ้านชุมชนบ้านแคว มุ่งมั่นทำงานเต็มกำลังที่มี และคงขยับขยายไปไม่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะกำลังคนมีจำกัด แต่ยืนยันว่าพร้อมจะพัฒนาต่อยอดให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จากเดิมที่ผลิต 1 ตันต่อวัน ก็จะเพิ่มให้เป็น 2 ตันต่อวัน โดยวางแผนการผลิตล่วงหน้า ตามฤดูกาลของผลไม้ที่ออก ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะมีขนุนออกเราก็เร่งผลิตก่อน เดือนมีนาคม-เมษายน หน้ามะม่วง ส่วนลำไยจะออกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะใช้ผลไม้ในฤดูกาลเท่านั้น ไม่ใช้ลำไยใส่สารเด็ดขาด เพราะเนื้อลำไยสดจะฟูและหอมกว่าเมื่ออบแห้งแล้ว”

 และเพื่อเติมเต็มความต้องการของตลาดในครบวงจร จึงมีการผลิตสินค้าที่มีคุณค่า อาทิ ท๊อฟฟี่ขิง กล้วยกวน มะขามแก้ว  เครื่องดื่มสมุนไพรผง เช่น กระชายดำผง ตะไคร้ผง เยอะแยะละลานตาไปหมด และล่าสุดผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ชาลำไย ที่มีส่วนผสมหญ้าหวาน เพิ่มรสหวานหอมชุ่มในลำคอ กำลังขายดี..

aa17

 ทองเพียร ฝากทิ้งท้ายว่า แต่ละชุมชนก็มีจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่น บริโภคอะไร หากไม่มีมูลค่าก็ต้องนำมาเพิ่มมูลค่า โอกาสของบ้านแควคือ ลำไย เมื่อราคาตกต่ำ เราก็นำวิกฤตมาพลิกให้เป็นโอกาส ด้วยการแปรรูปสินค้า มะม่วงออกมาสุกรับประทานไม่ทันก็จับมาแปรรูป จากที่เคยดองก็เลิกเด็ดขาดเพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มะเฟืองหล่นเต็มใต้ต้น ก็คิดว่าเก็บมาคลุกเกลือน้ำตาลตากแดด หรืออบแห้ง กลายเป็นสินค้ามีราคาทั้งที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ แค่เปลี่ยนวิธีคิด หยิบจับอะไรก็เพิ่มมูลค่า กลายเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชน

aa2

 ทุกวันนี้แม่บ้านชุมชนบ้านแคว จึงมีทั้งค่าแรงรายวัน และปันผล 20% จากหุ้นวิสาหกิจฯ ในฐานะเจ้าของร่วมกัน ให้เกียรติกัน ส่งเสียลูกหลานเล่าเรียนจบปริญญากันทุกคน และเริ่มกลับมาสานต่องานในชุมชนของตนเอง เป็นจุดศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ทางธุรกิจไปสู่คนในชุมชน สร้างความสุขที่ยั่งยืน  

 ติดต่อวิสาหกิจชุมชนบ้านแควแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 70/1 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 50140 หมายเลขโทรศัพท์/แฟกซ์ 050-429098 หรือ 081-9525348 และเข้าไปดูราคาเพื่อสั่งซื้อตรงได้ที่ www.ban-kwae.com