ปลูกไผ่เลี้ยงหวาน รายได้ดี แถมแปรรูป “ผลิตเฟอร์นิเจอร์” รายได้พุ่ง

การบรรยายสัมมนาไผ่ในครั้งที่ผ่านมา ทางกองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านหวังว่าท่านผู้อ่านได้รับสาระความรู้จากวิทยากรผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงกับไผ่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสายพันธุ์ต่างๆ ที่บางท่านยังไม่เคยรู้จักมาก่อน รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ไปจนถึงอาหารและยา เรียกได้ว่าคุณประโยชน์จากไผ่มีครบทั้ง 4 ปัจจัย 

สำหรับเนื้อหาการบรรยายในตอนนี้เป็นตอนจบ แล้วยังคงอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระเช่นเดิม และเป็นประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากไผ่เพราะมีความหลงใหลในความสวยงามและเสน่ห์จากไผ่ ท่านคือ คุณพิสิษฐ์ อมรกิจเจริญ เจ้าของกิจการผลิต-จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์มานานหลายสิบปี

ความจริงในอดีตเจ้าของธุรกิจรายนี้ผลิตและขายเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเหล็กแล้วส่งขายทั่วประเทศ กระทั่งเมื่อมาจับกลุ่มอยู่ในแวดวงไผ่จึงทำให้เกิดความสนใจ แล้วจากนั้นได้ศึกษาหาความรู้ทุกเรื่อง แล้วทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จ ในที่สุดตัดสินใจปรับธุรกิจตัวเองมาผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไผ่เลี้ยงหวานแล้วได้รับความนิยมจนถึงในปัจจุบัน

เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ของคุณพิสิษฐ์

คุณพิสิษฐ์ กล่าวว่า ธุรกิจที่ประกอบเป็นอาชีพอยู่ขณะนี้คือการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ไผ่ แต่จากเมื่อก่อนที่เริ่มต้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยท่อโลหะมาทำเป็นน็อกดาวน์แล้วส่งขายทั่วประเทศ กระทั่งเมื่อมีความสนใจเรื่องไผ่จึงมาเข้าชมรมไผ่แล้วทดลองนำไผ่มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็พยายามหาข้อมูลให้มากและทดลองทำไปเรื่อยๆ กระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด แต่ในขณะนี้ลดจำนวนลงเนื่องจากประสบปัญหาแรงงาน อีกทั้งวัตถุดิบที่ใช้คือไผ่ก็มีจำนวนไม่มากพอ

“ต้องบอกว่าถึงตอนนี้ถ้าคิดปลูกไผ่อย่างเดียวก็มีรายได้ดีแล้ว รู้จักกับ ป้าบุญเรือง ที่นครปฐม ปลูกไผ่มานานกว่า 10 ปี ในอดีตป้าบุญเรืองมีธุรกิจขายอะไหล่รถ แต่ภายหลังมีความรู้สึกว่าอาชีพนี้มีความวุ่นวายกับปัญหาหลายด้าน จากนั้นเลยไปหาซื้อที่ดินไว้แถวราชบุรี ไปปลูกไผ่ทิ้งไว้ 30 ไร่ ใช้คนงาน 2 คน มีการสร้างฝายขนาดเล็กไว้ อีกทั้งที่ดินยังตั้งอยู่ริมลำห้วย ไผ่ที่เธอปลูกเพื่อขายหน่อ รวมถึงยังต่อยอดด้วยการทำกิ่งพันธุ์ขายด้วย ป้าบุญเรือง บอกว่า จะขายได้เงินมากหรือน้อยไม่ค่อยกังวลเพราะทำแล้วมีความสุข

ส่วนของผมปลูกไผ่ไว้ที่ภูเรือ เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร ซึ่งคิดว่าในบั้นปลายชีวิตคงจะไปตั้งรกรากอยู่ถาวร

มีโอกาสเดินทางไปลาว ไปพบเห็นชาวบ้านปลูกไม้ไผ่ ชาวบ้านได้ตัดไม้ไผ่ยาวสัก 1 เมตร นำมาผ่าซีกแล้วนำไปทำเป็นฝ้าปลูกบ้าน บ้านที่ใช้ไม้ไผ่ทำมีอายุนานประมาณ 5 ปี เพราะไม้ไผ่สามารถหาได้ง่ายมากในท้องถิ่น อีกทั้งเมื่อนำมาสร้างบ้านทำให้ไม่ร้อน มีความทนทาน หรืออย่างที่พม่านำไม้ไผ่มาสร้างเป็นโบสถ์ เป็นลำไผ่ที่อ่อน อีกทั้งยังใช้ผิวเปลือกมาถักสานเป็นเสื่อในกุฏิพระ

สำหรับการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ของผมมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่พอสรุปได้ให้เข้าใจว่าเมื่อต้องการผลิตจะไปซื้อไม้ไผ่มาเป็นคันรถ ในระยะเริ่มต้นที่ทำครั้งแรกยังไม่มีความเข้าใจดีมาก เมื่อซื้อมาแล้วไม่ได้ใส่น้ำยา แต่ใช้วิธีแช่น้ำแทนการใส่น้ำยา พบว่าลำไผ่เน่า

จึงเปลี่ยนมาแช่น้ำเกลือแทน แล้วพอดึงขึ้นมาพบว่ามีคราบสีขาวเกาะที่ลำไผ่เป็นจุด จากนั้นเลยเปลี่ยนวิธีใหม่มาเป็นการแช่สารส้ม หรืออบจนแห้งสนิทก็มอดก็ยังกิน ทั้งนี้ เพราะไผ่ที่ใช้เป็นไผ่เลี้ยงหวานมันหวานมาก จนในที่สุดจึงต้องไปใช้วิธีอัดน้ำยาแบบสุญญากาศแบบเดียวกับยางพารา จากนั้นจึงค่อยนำมาดัดแล้วเข้าเครื่องเหลา

คุณพิสิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าปลูกเพื่อใช้ก็คงเป็นแนวทางของ คุณกฤษณ แต่ถ้าปลูกเพื่อขายหน่อคงต้องตัดยอดและกิ่งด้านล่างเพื่อให้เดินเก็บได้อย่างสะดวก

ไผ่รวกหวานภูกระดึง นำมาต้มจิ้มน้ำพริก มีรสหวาน กรอบ

ต้องยอมรับอีกครั้งว่าประโยชน์ของไผ่มีทั้งลำต้น ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เมื่อตัดลำไผ่มาใช้งานแล้ว จะเหลือเศษสั้นๆ ก็นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปอบเป็นถ่านแล้วต่อท่อออกไปปล่อยควันแล้วทำเป็นน้ำส้มควันไม้ เพื่อนำไปใช้ด้านการเกษตร จึงเห็นว่าไม่ได้ทิ้งส่วนใดเลย

ให้สังเกตว่าไม้ไผ่ที่นำมาทำถ่านจะมีรูพรุนมากกว่าไม้ชนิดอื่น จึงไม่แปลกใจว่าเวลานำไปวางไว้ในตู้เย็นจึงสามารถดูดซับกลิ่นได้อย่างดี ถ้าลองนำไปวางไว้ในห้องนอนน่าจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะทราบมาว่าที่เกาหลีมีการเทกองถ่านไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อช่วยดูดและคายความชื้น

คุณพิสิษฐ์ อยากฝากว่า สำหรับคนที่เริ่มปลูกอาจยังไม่สามารถต่อยอดตามที่ท่านวิทยากรหลายคนกล่าวไว้ แต่ก่อนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากไผ่อาจปลูกพืชชนิดอื่นหารายได้ก่อน ยกตัวอย่างให้เห็นในกรณี ลุงพุฒปลูกไผ่ไว้ที่สังขละ จำนวน 600 ไร่ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถสร้างประโยชน์จากไผ่ได้อย่างคุ้มค่าบนเนื้อที่มากมาย

“ขณะเดียวกัน คุณขวัญใจ ปลูกไผ่อยู่ที่พัทลุง จำนวน 15 ไร่ ได้ตัดไผ่เป็นท่อนเพื่อเผาทำข้าวหลาม ขายหมดทุกวัน มีรายได้ถึงวันละ 2,000 บาท ต่อมาเธอมองแบบหักมุมด้วยการชวนเพื่อนบ้านและสอนให้ทำข้าวหลามแทน ส่วนตัวเธอเปลี่ยนมาตัดไผ่ขายส่งให้เพื่อนบ้านแทน มีรายได้วันละ 900 บาท ซึ่งบอกว่าแค่นี้ก็พอแล้วไม่ได้ลงทุนอะไร

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการติดต่อให้คุณขวัญใจตัดไผ่เป็นปล้องขายให้แก่คนทำธุรกิจน้ำสมุนไพร เพื่อนำปล้องไผ่ไปใช้ใส่น้ำสมุนไพร และข้อดีอีกประการของการปลูกไผ่ในสวนของคุณขวัญใจคือเธอปลูกไผ่แบบเป็นรั้วทางธรรมชาติ พอมีลมพายุพัดมาแรงก็ช่วยป้องกันความเสียหายของบ้านได้ แต่เพื่อนบ้านหลายหลังได้รับความเสียหายจากแรงพายุที่พัด” คุณพิสิษฐ์ กล่าว

ช่วงถาม-ตอบ

ถาม-อยู่ที่เชียงราย ได้นำไผ่มาจากพม่า เพื่อนำมาสานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อยากทราบว่าเป็นไผ่พันธุ์อะไร แล้วในเมืองไทยมีหรือไม่??

คุณรังสฤษฏ์-ทราบมาว่ามีเหมือนกัน และทางภาคเหนือก็มี แต่ความจริงแล้วจะใช้พันธุ์ไผ่ชนิดใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและกระบวนการ รวมถึงฝีมือและทักษะมากกว่า ทั้งนี้ เพราะต้องมีการแช่น้ำยา มีการอบเพื่อรักษาคุณภาพเนื้อไม้ ส่วนการขึ้นรูปที่เป็นนวัตกรรมนั้นจะใช้ไผ่พันธุ์อะไรก็ได้

ถาม-น้ำยากันมอดมีขายที่ไหน แล้วควรหาซื้อแบรนด์สินค้าตัวไหนถึงจะดี

คุณกฤษณ-ที่มีใช้กันทั่วไปเป็นของทิมบอล ราคากิโลกรัมละ 95 บาท แต่ถ้าใช้สูตรที่ผมทำอยู่จะเหลือกิโลกรัมละ 55 บาท อันนี้เป็นสูตรที่ได้มาจากทางกรมป่าไม้ จึงต้องให้เครดิตด้วย สูตรดังกล่าวประกอบด้วย บอแรกซ์ 3 ส่วน บอริก 2 ส่วน สมมติอัตราส่วนผสมถ้าใช้บอแรกซ์ 6 กิโลกรัม บอริก 4 กิโลกรัม ผสมน้ำ 90 ลิตร จะได้น้ำ 100 ลิตร และเป็นค่าความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ให้แช่ไผ่ที่มีความยาว 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไรก็ได้ ใช้เวลาแช่ประมาณ 3 วัน แล้วถ้ายาว 2 เมตร ก็แช่จำนวน 6 วัน

คุณรังสฤษฏ์-เสริมว่า ควรเจาะรูตรงกลางปล้องให้ทะลุเพื่อจะได้ให้น้ำผ่านเข้าไปด้านในได้

ถาม-ต้องการทราบว่าจะนำไม้ไผ่จากต่างประเทศเข้ามาได้ไหม

คุณกฤษณ-ได้ครับ ภาษีเป็นศูนย์ เพียงแต่เสียค่าระวาง อีกทั้งทางภาคราชการยังอนุญาตนำไผ่ออกได้โดยภาษีเป็นศูนย์เช่นกัน แล้วทุกวันนี้มีการนำเข้า-ออกอยู่ แต่สำหรับรายละเอียดล่าสุดจะเป็นอย่างไร ขอให้ตรวจสอบอีกครั้งดีกว่า เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง

คุณรังสฤษฏ์-ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออก อยากจะให้พิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อนในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน ว่ามีการคุ้มค่ามากน้อยเพียงไร อย่างชาวบ้านที่ชุมชนผาปังถึงแม้จะร่ำเรียนกันมาน้อย แต่ทุกคนสามารถเปรียบเทียบความคุ้มทุนกับอาชีพเกษตรกรรมในแต่ละชนิดออกมาเป็นตัวเลขได้ ฉะนั้น หากทำได้เช่นนี้จะลดความเสี่ยงได้มาก

ถาม-ไผ่หลังเต่าหรือไผ่จีนมีขายที่ไหน

คุณกฤษณ-คิดว่าน่าจะเป็นชื่อไผ่หางเต่าหรือตีนเต่ามากกว่า ถ้าเป็นตีนเต่าที่มีลักษณะข้อขบกันให้ลองเปิดในเน็ตดูได้เลย เพราะมีการซื้อ-ขายอยู่ หรือแถวปราจีนบุรีก็มี เท่าที่ทราบมีราคาต้นละหมื่นบาท แต่ผมใช้วิธีให้ลองหาเมล็ดพันธุ์มาเพาะแล้วให้รอการกลายพันธุ์

ถาม-การเผาถ่านมีวิธีอย่างไร??

คุณรังสฤษฏ์-มีหลายวิธี แต่ถ้าใช้วิธีดั้งเดิมของชาวบ้านตามภูมิปัญญาจะต้องใช้การสังเกตความร้อนที่เผา เนื่องจากการเผาไผ่ต่างจากไม้ชนิดอื่น เพราะถ้าไม่ควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้ดีอาจกลายเป็นผงถ่านทันที ในปัจจุบันวิวัฒนาการเผาถ่านถูกพัฒนาขึ้นมาก ควรลองหาเปิดในยูทูปดูเพราะความเหมาะสมของแต่ละความต้องการ อย่างไรก็ตาม หากต้องการคุณภาพถ่านจะต้องใช้วิธีอบถ่านแบบหมุน เพื่อไล่ความชื้น คล้ายกับการอบไก่ ซึ่งวิธีนี้ห้ามไผ่โดนเปลวไฟอย่างเด็ดขาด โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้ถ่านที่ปราศจากขี้เถ้า ในกรณีหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมให้เปิดเข้าไปดูได้ที่มูลนิธิผาปัง

ส่วนการลงทุนคงมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความต้องการ อย่างถ้าเป็นเตาเผาแบบญี่ปุ่นแนะนำให้ไปดูของ ท่านอาจารย์พุทธินันท์ ที่อ่างทอง หรือของ คุณกิตติ ที่อำเภอนาดี ปราจีนบุรี มีราคาตั้งแต่ระดับแสนบาทไปจนถึงล้านบาท แต่ถ้าถามว่าที่ผาปังใช้แบบใด คงต้องบอกว่าเป็นแบบผสมผสานที่ทำขึ้นมาเอง ซึ่งได้ผลตามมาตรฐานเช่นกัน

คุณถาวร-ขอเสริมในคำถามที่ว่าควรเผาอย่างไร ต้องเรียนว่าคงไม่สามารถเผาอย่างไม่มีความรู้ เพราะถ้าเป็นถ่านที่มีคุณภาพสูงจะทำได้ 2 ส่วน คือ 1. เรื่องของเตาหรือเทคโนโลยี และ 2. องค์ความรู้และประสบการณ์ แต่ถ้าถามว่าง่ายหรือยากคงตอบได้ทั้งสองอย่าง แต่ถ้าตั้งใจเต็มที่ผมคิดว่าทำได้แน่

ถาม-ไผ่อะไรที่เหมาะนำไปใช้ในทะเล

คุณกฤษณ-ถ้าทำเสาโป๊ะให้ใช้ไผ่ตงหม้อ แต่ถ้าใช้เฉพาะทำแนวโป๊ะให้ใช้ไผ่รวกน่าน หรือใช้ไผ่เลี้ยงอุบลเท่านั้น ส่วนไผ่ชนิดอื่นผมไม่แนะนำ

ถาม-อยากทราบว่าศูนย์การเรียนรู้เรื่องไผ่จะมีแนวเกิดขึ้นได้หรือไม่

คุณถาวร-ส่วนตัวแล้วต้องการผลักดันให้เป็นจริง ทั้งนี้ ได้เคยนำเสนอให้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนที่รับผิดชอบดูแลเรื่องไผ่ไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพวกท่านว่าจะช่วยกันแสดงความต้องการผ่านช่องทางสื่อต่างๆ แล้วควรจัดกิจกรรมกัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงกระแสความสนใจ ซึ่งถ้าช่วยกันเต็มที่แล้ว ในเร็ววันคงได้เห็นแน่

คุณกฤษณ-อยากให้ท่านที่ปลูกไผ่ หรือกำลังคิดจะปลูกไผ่ ควรจับกลุ่มเพื่อรวมตัวกัน แล้วควรปลูกไผ่ที่เหมือนกัน เนื่องจากเป็นข้อดีในด้านการต่อรอง อีกทั้งเป็นผลดีเมื่อพ่อค้าไปซื้อจะได้สิ่งที่ต้องการในแหล่งเดียวกัน

ท้ายนี้ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านเนื้อหาการสัมมนาไผ่ในครั้งนี้ หวังว่าคงได้สาระไม่มากก็น้อยจากทีมวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์ และโปรดติดตามเนื้อหาการสัมมนาดีๆ เช่นนี้อีกในคราวต่อไป

นวัตกรรมของ BEDO
คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร (กลาง) คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการมติชน (ที่ 3 จากขวา) พร้อมคณะวิทยากร
บู๊ธคุณกฤษได้รับความสนใจ