อดีตช่างเย็บผ้า ผันตัวเลี้ยงปลาน้ำจืดแบบบ่อรวม ประหยัดต้นทุน สร้างรายได้ทั้งปี

ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตก ภูมิประเทศมีความหลากหลาย จากพื้นที่ราบต่ำลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรี ทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า

นอกจากนี้ ยังถือเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผัก และผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด เรียกได้ว่ามีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ส่วนด้านการประมงที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีคือ การเลี้ยงกุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม และปลาสวยงาม สร้างรายได้หลักพันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

คุณวสันต์ อินคล้าย อยู่บ้านเลขที่ 179 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ที่เลี้ยงปลาแบบแหวกแนว โดยเลี้ยงในรูปแบบที่ไม่เน้นปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เลี้ยงในรูปแบบผสมผสานหรือเรียกง่ายๆ ว่า เลี้ยงปลารวมแบบประหยัดต้นทุน ซึ่งใน 1 บ่อ มีปลามากกว่า 2 ชนิด จากการเลี้ยงวิธีนี้ทำให้เขาประสบผลสำเร็จ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เขาได้เป็นอย่างดี

ทดลองทำหลากหลายอาชีพ
สุดท้าย จบที่การเลี้ยงปลา

คุณวสันต์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพเย็บผ้าอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อแต่งงานกับภรรยาจึงมีแนวคิดที่จะย้ายมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เพราะมองว่าเมื่ออายุมากขึ้นสายตาที่จะทำอาชีพเย็บผ้าต่อไปคงจะไม่ไหว จึงมาเริ่มทำการค้าขายทั่วไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี

“ช่วงที่มาอยู่ก็ค้าขายทั่วไป จำหน่ายค้าขายของได้ดีมากช่วงนั้น ก็เริ่มมีเงินสร้างบ้าน พอมีเงินเก็บได้ก้อนหนึ่งก็เริ่มเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้ง สรุปเลี้ยงกุ้งก็ไม่ได้กำไร เป็นหนี้ พอปี 38 เปลี่ยนมาเลี้ยงปลานิลก็ขาดทุนเหมือนกัน พอมันใกล้จะจับจำหน่ายได้ปลานิลมาตายยกบ่ออีก ช่วงนั้นก็เลี้ยงปลาดุกอยู่ด้วย ก็เลยเอาปลานิลที่ตายทั้งหมดมาบดให้ปลาดุกกิน ทำไปทำมาปลาดุกนี่ทน เลี้ยงแล้วไม่ตายเหมือนปลาอื่นๆ ประสบผลสำเร็จดีกว่าที่คิด” คุณวสันต์ เล่าถึงความเป็นมาของชีวิต

แนวคิดที่มาเลี้ยงปลาหลายชนิดในบ่อเดียวกัน คุณวสันต์ เล่าว่า เกิดจากการที่เขาชอบไปร่วมการประชุมที่ทางประมงจังหวัดจัดขึ้น จึงทำให้เขาได้รับความรู้ในเรื่องต่างๆ นำมาใช้เกี่ยวกับประกอบสัมมาอาชีพที่ทำ

“ผมเป็นคนที่ชอบการประชุมอบรม พอดีประมงเขาชวนไป ก็เลยไปกับเขาด้วย ผมก็จะได้ความรู้เรื่องลักษณะนิสัยของปลาแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เราก็เลยนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นการเลี้ยงปลาแบบรวม เอาทั้งปลาสวาย ปลานิล และปลาจะละเม็ดน้ำจืด มาเลี้ยงรวมกัน ส่วนปลาดุกก็เลี้ยงแยกออกไปต่างหาก เพื่อใช้สำหรับจับจำหน่ายเอาเงินมาหมุนเวียนในการเลี้ยงปลาอื่น” คุณวสันต์ กล่าว

เลี้ยงปลาแบบบ่อรวม
มีวิธีการจัดการ ดังนี้

คุณวสันต์ บอกว่า บ่อที่ใช้สำหรับเลี้ยงมีขนาดประมาณ 6 ไร่ หรือถ้าใครมีพื้นที่เท่าไหร่ก็เลี้ยงเท่านั้น ตามความสะดวก ขุดบ่อให้มีความลึกที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 1.50 เมตร จนถึง 2 เมตร ตากบ่อประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วบ่อ เติมน้ำใส่ลงไปภายในบ่อให้เต็ม โดยใช้น้ำเขียวจากบ่อที่เลี้ยงปลาดุกมาผสมด้วย เพื่อสร้างน้ำให้เขียว

“พอเราเตรียมบ่อเสร็จเรียบร้อย ช่วงแรกผมก็จะเอาปลาสวายมาปล่อย 12,000 ตัว ปลานิล 2,000 ตัว แล้วก็ปลาจะละเม็ด ประมาณ 5,000 ตัว การปล่อยนี่จะปล่อยปลาสวายกับปลานิลก่อน พอเลี้ยง 2 ชนิดนี้ได้สัก 1-2 เดือน ก็จะปล่อยปลาจะละเม็ดตามทีหลัง ก็เลี้ยงรวมกันแบบนี้ไปได้เลย” คุณวสันต์ อธิบายขั้นตอนการปล่อยปลา

การที่นำปลาจะละเม็ดมาปล่อยเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ นั้น คุณวสันต์ ให้เหตุผลว่า ปลาจะละเม็ดมีลักษณะนิสัยที่ชอบกินอาหารตามพื้นดินที่ก้นบ่อ จะช่วยทำให้ก้นบ่อมีความสะอาด น้ำไม่เน่าเสียง่าย

ปลาที่เลี้ยงในบ่อ ขนาด 6 ไร่
ปลาที่เลี้ยงในบ่อ ขนาด 6 ไร่

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม คุณวสันต์ บอกว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ไม่เหมือนกับการเลี้ยงปลาแบบชนิดเดียว ซึ่งสามารถหาเศษเนื้อหมู เศษผัก ที่ติดต่อตามตลาดมาให้กินได้เลย

การให้อาหารไม่กำหนดตายตัวว่าต้องให้กี่มื้อต่อวัน แต่จะดูตามปริมาณของอาหารที่หามาได้ การใช้เศษอาหารให้ปลา คุณวสันต์ บอกว่า เป็นการประหยัดต้นทุนที่คุ้มค่า เพราะมีราคาต่ำกว่าอาหารเม็ดสำเร็จรูปทั่วไป

“เรื่องอาหารที่เลี้ยงนี่เราไม่ต้องไปเครียดกับมัน คือถ้าหามาได้มาก เราก็ให้กินมาก ถ้าหาไม่ได้ก็ไม่ต้องให้กิน ถ้าเป็นพวกเศษไส้หมูให้กินได้เลย แต่ถ้าเป็นพวกเศษที่มีหนังติดกับกระดูก ก็เอามาต้มเสียก่อน มันไม่เหมือนกับการเลี้ยงปลาแบบเดี่ยวๆ อย่างสมมุติปลานิลแบบล้วนนี่ ถ้าไม่ได้กินอาหารเต็มที่ ปลามันก็จะผอม มันก็จะเกิดลูก ผอมหัวโต ราคาจำหน่ายก็จะได้ไม่ดี ราคาตกลงมาอีกประมาณนี้” คุณวสันต์ กล่าว

 ด้านการดูแล คุณวสันต์ บอกว่า จะมีการเติมน้ำลงบ่อตามความเหมาะสม เมื่อเห็นว่าน้ำภายในบ่อเริ่มมีจำนวนลดลง ส่วนเรื่องการเกิดโรคนั้นยังไม่ค่อยพบมากเท่าที่ควร ซึ่งในขณะที่เลี้ยงก็อาจมีการตายของปลาเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ

“การดูปลาว่าปลาปกติดีไหม คือเราจะสังเกตได้จากตอนเช้า ถ้าเรามาให้อาหารแล้วปลาลอยหัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ แบบนี้ถือว่าปกติดี แต่ทางกลับกันถ้ามาแล้วในบ่อนี่เงียบกริบ ไม่มีการลอยหัวขึ้นมาเลย เตรียมได้เลยว่าจะต้องเกิดปัญหาขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนน้ำ เพราะเราสังเกตได้แล้วว่าปลามันเริ่มผิดปกติ” คุณวสันต์ กล่าวถึงการสังเกตอาการของปลาเบื้องต้น

คุณวสันต์ บอกว่า ปลาทั้ง 3 ชนิด ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 10 เดือนขึ้นไป จึงจะจับจำหน่าย ไม่ต้องคำนึงเรื่องเวลาเรื่องการโต คือถึงแม้ว่าปลานิลจะใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่าปลาสวาย ก็จะจับปลานิลจำหน่ายพร้อมกัน

ปลาที่เลี้ยงจำหน่ายได้ทั้งหมด
ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด

คุณวสันต์ บอกว่า ปลาทั้งหมดภายในบ่อส่งจำหน่ายที่แพปลาที่ไปติดต่อไว้ โดยเช็กราคาเสียก่อน ถ้าราคาในช่วงนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ ก็อาจจะเลี้ยงให้เกินเวลาต่อไปอีกสักระยะ

“พอปลาเราใกล้จับได้ เราก็เริ่มโทร.เช็กราคาเป็นระยะ ถ้าเป็นช่วงที่ราคาดีเราก็จับได้เลย อันนี้การทำตลาดของผมนะ เพราะว่าปลายิ่งใหญ่ก็ยิ่งได้ราคา อีกอย่างผมมีบ่อปลาดุกที่เลี้ยงไว้ต่างหาก เอาเงินจากตรงนั้นมาใช้หมุนเวียนได้ พอเราจำหน่ายปลา 3 ชนิดนี้ เราก็ได้เงินก้อนเป็นเงินเก็บได้ กำไรมันคือตรงนี้แหละ ได้เต็มที่” คุณวสันต์ กล่าว

ปลานิลภายในบ่อ
ปลานิลภายในบ่อ

ปลานิลที่เลี้ยงแบบบ่อรวม อายุประมาณ 10 เดือน จะมีน้ำหนักต่อตัว ประมาณ 500-600 กรัม จำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท ส่วนปลาสวายและปลาจะละเม็ดจะมีน้ำหนัก ประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-28 บาท

คุณวสันต์ บอกว่า เรื่องการตลาดที่ส่งจำหน่ายไม่มีทางตันอย่างแน่นอน เพราะปลาที่เลี้ยงบางส่วนก็จะส่งไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นปลา ทำให้ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะในบ่อของเขามีให้เลือกถึง 3 ชนิด

“ตลาดช่วงแรกๆ ผมก็เข้าไปสอบถามที่แพปลาใกล้บ้าน ว่าผมเลี้ยงปลาชนิดนี้จะรับซื้อไหม เขาก็อธิบายว่าซื้อ แถมให้ความรู้เราด้วยว่าปลาที่จำหน่ายไป จะไปแปรรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งราคาอาจถูกกว่าปลานิล ผมก็ทำใจได้ เพราะว่าคิดดูสวายกับจะละเม็ดนี่ตัวใหญ่กว่าปลานิล เวลาที่เราเลี้ยงอยากจะให้ได้น้ำหนักมากๆ ก็นานหน่อย แต่ไม่ต้องใช้ลูกพันธุ์เยอะ สมมุติอย่างปลานิลจะให้มีน้ำหนักเยอะ ปลาก็ต้องมีมาก เท่ากับว่าเราก็ต้องซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเยอะ แถมต้นทุนเราก็สูงขึ้นไปอีก มันทำให้จำหน่ายขาดทุนได้นะ ซึ่งผมเองลองทำมาบ้างแล้ว ถ้าเทียบกันจริงๆ ผมขอเลี้ยงแบบนี้ดีกว่าครับ” คุณวสันต์ กล่าวถึงข้อดีของการเลี้ยงปลาแบบรวม

การเป็นผู้ใฝ่รู้
นำมาสู่ความสำเร็จ

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลาเป็นงานที่สร้างรายได้ เพื่อเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักนั้น คุณวสันต์ ให้คำแนะนำว่า

“การเลี้ยงปลาจะประสบผลสำเร็จต้องหาความรู้ คือเราต้องเรียนรู้สอบถามกับประมงแต่ละพื้นที่ ว่าเราต้องการเลี้ยงปลาอะไร เขาก็จะแนะนำมาตามหลักวิชาการ ส่วนประสบการณ์เราก็ไปสอบถามกับคนที่เขาเลี้ยงอยู่แล้ว เอาประสบการณ์ของเขามาต่อยอดการเลี้ยงของเราเอง คำว่า ความสำเร็จนี่อยู่ไม่ไกลแน่นอน ส่วนพอมีปลาพร้อมจำหน่ายแล้ว กลัวอีกว่าจะจำหน่ายที่ไหนอะไรยังไง จะบอกว่าไม่ต้องกลัว ถึงเวลามันจะมีทางไปเอง เพราะว่าปลานี่ใครๆ ก็กินกันได้ทั่วไป คนเข้าถึงได้ยังไงคนก็กิน ตลาดจึงไม่มีทางตัน”

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวสันต์ อินคล้าย หมายเลขโทรศัพท์ (087) 156-1137