ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ลงทุนหลักร้อย! อดีตแม่ค้าสาคู ปิ๊งไอเดีย ก๋วยเตี๋ยวมินิ เข็นขาย สร้างรายได้หลักพัน/วัน
ภาพจำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ของใครหลายคน คงเป็นร้านที่มีทำเลที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง มีหม้อน้ำซุปใบใหญ่ในการลวกเส้น-เครื่องต่างๆ
พื้นที่วางอุปกรณ์เครื่องปรุงรสอีกสักนิด หรือ เล็กลงมาหน่อย ก็เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ทำขายในเรือ ที่เห็นกันจนชินตา แต่ในจังหวัดอ่างทอง มีร้านที่เล็กกว่านั้นอีก!
เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้พูดคุยกับ เจ๊เป็ด-วิมนต์ พลหาญ วัย 46 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวมินิ ที่มินิจริงๆ ไม่จริงโจ้! เจ๊เป็ด เล่าว่า แต่เดิมเธอนั้นยึดอาชีพเป็นแม่ค้าขนมสาคูสลับกับการทำข้าวแกงถุงให้ลูกๆ ช่วยเดินขายในตลาดโพธิ์ทอง
ต่อมาก็เริ่มได้ยินแม่ค้าตามแผงในตลาดพูดแกมบ่นกันว่า ทานแต่ข้าวถุงๆ จานๆ แต่อยากทานอะไรอร่อยๆ ร้อนๆ คล่องคอ และมีบริการเสิร์ฟให้ถึงหน้าร้านเลยยิ่งดี จุดนี้เองที่เจ๊เป็ดนำกลับมาคิดต่อยอดว่าจะทำอะไรต่อได้บ้าง
“เจ๊ก็ได้ยินพวกแม่ค้าเขาพูดๆ กันแหละค่ะว่า อยากกินอะไรร้อนๆ เสิร์ฟให้เขาถึงที่ร้านเลย แล้วเราก็เดินส่งข้าวในนี้อยู่แล้วก็เห็นว่า อืม ไม่ค่อยมีอะไรร้อนๆ อย่าง ก๋วยเตี๋ยวอะไรพวกนี้ ขายให้พวกเขาจริงๆ ประกอบกับช่วงเช้าๆ จะเห็นพระท่านมาบิณฑบาต ท่านก็จะมีรถเข็นคันเล็กๆ เข็นมาด้วยเอาไว้ใส่ของ ซึ่งลากผ่านช่องทางเดินได้พอดี เข้าถึงทุกที่ แล้วสามีพี่ชอบทานก๋วยเตี๋ยว เลยคิดว่า ถ้างั้นขายก๋วยเตี๋ยวแล้วหารถใส่เข็นไปขายให้เขาได้ น่าจะดี คือทำขายไปด้วย คนที่บ้านก็กินไปด้วยได้” เจ๊เป็ด เล่า
คิดได้ดังนั้น เมื่อขายของเสร็จ เจ๊เป็ดจึงกลับบ้านไปเอากล่องลังเบียร์มาออกแบบรถเข็นของตัวเอง ลองนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ที่บ้าน อย่าง เตาเล็กๆ หม้อซุป มาตั้ง ลองดีไซน์ให้เหมาะกับการหยิบจับขยับตัว ก็เห็นว่าไอเดียนี้ มีความเป็นไปได้จริง จึงออกปากปรึกษาสามีเป็นจริงเป็นจัง
“จริงๆ ตอนแรก สามีเจ๊บอก รถเข็นก๋วยเตี๋ยวคันเล็กๆ ที่เจ๊คิด มันทำไม่ได้หรอก มันเล็กไป แต่เจ๊ก็ขอลองดูก่อน สามีก็ช่วยเอาเศษเหล็กที่มีอยู่ในบ้าน มาช่วยออกแบบเพิ่มเติมแล้วไปจ้างญาติที่เป็นช่างเชื่อมเหล็กให้ทำตามแบบที่เจ๊คิดให้หน่อย ก็ใช้เวลาทำ 2 วันค่ะ แล้วเริ่มออกขาย จำได้เลย วันแรก 1 กันยายน ปี 61” เจ๊เป็ด เล่าอย่างนั้น
ทำออกขายวันแรก เจ๊เป็ด บอกว่า ได้รับผลตอบรับดีมาก แต่ก็ยังไม่คล่องตัวเท่าใดนัก ประกอบกับได้ไอเดียจากลูกค้าที่แนะมาว่า ให้มีที่วางชามให้ปรุงสักหน่อย ปรับแก้ตรงนั้นตรงนี้เพิ่มอีกนิดหน่อย ก็เข้าที่เข้าทางแล้ว
“บางคนกินข้าวจนเบื่อก็อยากกินก๋วยตงก๋วยเตี๋ยวบ้าง เราก็ตอบโจทย์เขา เพราะเราเน้นลูกค้าที่เป็นกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าที่อยู่แผงในตลาด เขาก็ชอบกัน เพราะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องทิ้งร้านไปไหน แถมได้กินร้อนๆ ตามใจหวัง บางคนบอกร้อนจนลวกคอ เพราะเรามีเตาอุ่นน้ำซุปอยู่ข้างล่าง มันเลยร้อนตลอด แต่พอวันที่ 3 ก็โดนเรียกไปเตือนเพราะการที่เราทำแบบนี้ ร้านที่อยู่ข้างนอกเขาขายไม่ได้ เราก็เข้าใจและยอมรับผิด เลยไปหาที่ขายที่อื่นตามตลาดนัดแทน”
“ลูกค้าบอกอร่อยเพราะน้ำก๋วยเตี๋ยวเจ๊เคี่ยวเลือดลงไปพร้อมกันเลยทำให้น้ำซุปกลมกล่อม ตักแบ่งจากหม้อใหญ่ที่บ้านใส่หม้อรถเข็นก็มีเตาถ่านคอยอุ่นเรื่อยๆ เบ็ดเสร็จก็ ลงทุนรถเข็น คิดเป็นค่าเชื่อมประมาณ 700 บาท นอกนั้นก็ซื้อมาเสริมเพิ่มเอาทีหลัง แล้วของอย่างพวกเส้น เราขายแค่เส้นเล็กกับเส้นหมี่ พวกหมู ผักก็ใช้ถั่วงอกอย่างเดียว พริก น้ำตาล น้ำส้ม น้ำปลาขวดเล็กๆ ถ่าน ก็ลงทุนประมาณวันละ 1 พันบาท ขายราคา 30 บาท วันหนึ่งก็ได้ประมาณ 1,700 บาท แต่ถ้าไป 2-3 ตลาดก็ได้ประมาณ 3,000 กว่าบาท”
“เคยมีคนบอกว่า ก๋วเตี๋ยวชามละ 30 บาทเราเท่ากับชามละ 50, 60 ของข้างนอกเลย ช่วงหมูขึ้นราคาก็ไม่ได้ขึ้นตามเขานะ เพราะเคยปรึกษาสามี เขาก็บอกว่าอย่าขึ้นเลย ให้นึกถึงตอนที่คนลำบาก ไม่มีตังค์จะกินข้าวไว้ ขาย 30 แต่ให้เขาอิ่มดีกว่าช่วยๆ กัน ยังไงเราก็ขายได้กำไร นิดหน่อยมันก็ยังถือว่าได้อยู่แล้ว เลยขาย 30 บาทมาตลอด 3 ปี คิดเสียว่าแบ่งๆ กัน” เจ๊เป็ด ทิ้งท้าย