แปลงโฉม กระจูด เป็น เครื่องจักสานแฮนด์เมด ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมกว่า 200 ปี!

แปลงโฉม กระจูด เป็น เครื่องจักสานแฮนด์เมด ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมกว่า 200 ปี!
แปลงโฉม กระจูด เป็น เครื่องจักสานแฮนด์เมด ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมกว่า 200 ปี!

แปลงโฉม กระจูด พืชพื้นถิ่น เป็น เครื่องจักสานแฮนด์เมด ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมกว่า 200 ปี ของ บ้านมาบเหลาชะโอน

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปที่จังหวัดระยอง กับ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไปเจอเข้ากับ กลุ่มจักสานกระจูดมาบเหลาชะโอน ที่นำภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านกว่า 200 ปี มาแปลงโฉม กระจูด พืชพื้นถิ่นธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเครื่องจักสานสุดเก๋!

คุณมนตรี ยิ้มเยื้อน ประธานกลุ่มจักสานกระจูดมาบเหลาชะโอน เล่าว่า การสานกระจูด นับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านมาบเหลาชะโอน ที่มีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย นับรวมแล้วก็เป็นเวลากว่า 200 ปี

คุณมนตรี ยิ้มเยื้อน ประธานกลุ่มจักสานกระจูดมาบเหลาชะโอน

ซึ่งในสมัยนั้นที่หมู่บ้าน มีบึงกระจูดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติกว่าหลายพันไร่ แรกเริ่มชาวบ้านจึงนำกระจูดมาสานเพื่อทำเป็นเครื่องจักสานใช้กันเองภายในครัวเรือน อย่าง เสื่อ และ กระสอบใส่น้ำตาล

ต่อมาเมื่อมีการส่งเครื่องบรรณาการเครื่องจักสานจากกระจูดให้แก่เจ้านายในเมืองหลวง จึงทำให้เครื่องจักสานของเมืองแกลงนั้นมีชื่อเสียงขึ้นมา ถึงขนาดที่ว่ามีการเอ่ยถึงใน นิราศเมืองแกลง ของ สุนทรภู่ ด้วย

เสื่อกระจูด

และจากการที่รัฐบาลมีการจัดตั้งโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้น ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันและจัดตั้งกลุ่มจักสานกระจูดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 17 คน โดยนำเอาวัตถุดิบทางธรรมชาติ มาแปรรูปสานเป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดต่างๆ จำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกที่ว่างจากการทำสวน

กระทั่งปี 2545-2546 มีการสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และวิทยากรจากสำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี เข้ามาสอนการทำตะกร้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำกระจูดมาสร้างสรรค์ได้ ออกจำหน่าย

และเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ทางกลุ่มได้มีการต่อยอดการออกแบบสินค้าเครื่องจักสานจากกระจูดออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งยังมีความคงทน มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. ตะกร้า 2. กล่อง และ 3. กระเป๋า สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน จากเมื่อก่อนเฉลี่ยเดือนละหลักพันบาท จนตอนนี้ สามารถขายสร้างรายได้ให้กลุ่มได้เดือนละเป็นหลักแสนเลยทีเดียว

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก Baankawee krajood และ โทร. (086) 045-3938