เช็กลิสต์ 7 ข้อเบื้องต้น ก่อนเริ่มอาชีพ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อย่างไร้อุปสรรค

เช็กลิสต์ 7 ข้อเบื้องต้น ก่อนเริ่มอาชีพ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เปิดขายจริงจะได้ไม่ติดขัด

แม้เป็นเรื่องจริงที่ว่า วันนี้ใครๆ ก็สามารถเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย แต่ความจริงยิ่งกว่านั้นก็คือ อีคอมเมิร์ซ ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่แข่งขันสุดดุเดือด แม้จะเข้าง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่า ทุกคนที่เข้ามาจะประสบความสำเร็จ 

ดังนั้น ก่อนที่ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่จะกระโดดสุดตัวลงสู่สนามนี้ นอกจากข้อดี-ข้อเสียในการทำธุรกิจ ขายของออนไลน์ที่ต้องรู้แล้ว การเตรียมตัวก่อนเปิดร้านค้า ก็เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบความพร้อมด้วยเช่นกัน ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง? เมื่อเปิดขายจริงจะได้ค้าขายไม่ติดขัด โดย เว็บไซต์ ThaiPost ได้ชวนผู้ค้าออนไลน์หน้าใหม่มาเช็กความพร้อมก่อนเข้าสู่อาชีพ กับ 7 ข้อที่ควรรู้ ก่อนลงมือทำจริง ดังนี้

1. กำหนดงบลงทุน และเลือกสินค้าที่จะขาย : เป็นตัวกำหนดให้เราใช้เงินลงทุนในงบที่กำหนด ป้องกันการใช้งบบานปลาย อีกทั้งการหาสินค้ามาขาย ควรเริ่มต้นจากความชอบของผู้ค้า และเช็กความต้องการของลูกค้าในตลาดด้วย รวมถึงมองหา แหล่งสินค้า ที่จะนำมา ขายของออนไลน์ โดยสามารถหาซื้อได้จากหลายแหล่ง ซึ่งมีราคาและคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป จึงควรลงพื้นที่สำรวจสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีตรงกับความต้องการลูกค้ามากที่สุด เช่น ตลาดโรงเกลือ สำเพ็ง ประตูน้ำ หรือ ตลาดโบ๊เบ๊ เป็นต้น

2. ช่องทางการขายสินค้า เลือกให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย : ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลาย เช่น ขายบน เว็บไซต์ ที่เปิดใหม่ขึ้นเอง ซึ่งแม้จะต้องลงทุนเพื่อทำเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ก็มีข้อดี คือ สามารถบริหารจัดการหน้าร้าน การแสดงผล รวมถึงฟังก์ชั่นที่ต้องการได้ตามที่ต้องการ

ซึ่งในการเลือกขายผ่านช่องทางไหนนั้น ก็ต้องศึกษาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และการเข้าถึงของลูกค้า เพื่อที่จะได้เลือกช่องทางการขายได้ตรงกับการใช้งานกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยแม้เราจะสามารถเลือกขายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งช่องทาง แต่ก็ต้องประเมินกำลังของตัวเองด้วยว่า จะสามารถรองรับลูกค้าจากหลายช่องทางได้พร้อมกันหรือไม่ เพราะหน้าร้านมากขึ้นก็จะเท่ากับลูกค้าและจำนวนออร์เดอร์ที่มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

3. ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย : แม่ค้ามือใหม่ต้องให้ความสำคัญกับ การตลาดออนไลน์ หรือการโปรโมตร้านค้าผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, TikTok, Twitter, Instagram, Line หรือ YouTube เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและการตลาด

เนื่องจากสื่อเหล่านี้สามารถข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถโต้ตอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ทันที นับเป็นเครื่องมือที่คุ้มค่า และช่วยประหยัดต้นทุนการโปรโมตร้านได้มาก

4. บริหารจัดการ “เวลา” ตอบลูกค้ายิ่งเร็วยิ่งดี : ก่อนจะเริ่มขายออนไลน์จริง ควรเตรียมการและซักซ้อมเรื่องการบริหาร “เวลา” ให้ดี เนื่องจากการขายออนไลน์จะมีการซื้อ-ขายกันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ค้าต้องตั้งรับจุดนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้การค้ามาทำลายสมดุลชีวิตจนร่างกายพัง

ผู้ค้าออนไลน์ยังสามารถใช้เทคโนโลยี “แชตบอต” (Chatbot) ซึ่งเป็นโปรแกรมสื่อสารข้อความอัตโนมัติในการแจ้งข้อมูลเบื้องต้น เช่น ราคาและรายละเอียดสินค้า ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ลูกค้าโดยไม่ต้องมาคอยเฝ้าแชตแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้ารู้สึกได้รับการตอบสนอง ไม่ถูกทิ้งขว้างจนกลายเป็นหันไปหาร้านอื่น เป็นต้น

5. ช่องทางการชำระเงิน ต้องให้ลูกค้าสะดวกที่สุด : ผู้ค้าควรจัดเตรียมช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลาย เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าเวลาชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินปลายทาง, การโอนจ่ายเงินผ่าน e-Banking, การจ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิต, จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, จ่ายผ่านบัญชีออนไลน์อื่นๆ (PayPal, Rabbit LINE pay, mPay) รวมถึงควรระบุค่าธรรมเนียมในการจัดส่งให้ชัดเจนด้วย

อีกทั้งต้องมีบริการหลังการขายที่ดี กล่าวคือต้องใส่ใจลูกค้าและรับผิดชอบหากเกิดกรณีผิดพลาด เช่น หากส่งสินค้าผิดหรือสินค้าเสียหาย (จากต้นทางที่ร้าน) อาจรับผิดชอบโดยการโอนเงินคืนให้ลูกค้า หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ฟรี เป็นต้น อย่าทำให้กลายเป็น “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” เพื่อเป็นการมัดใจลูกค้าให้กลับมาอุดหนุนเราอีกในอนาคต

6. เข้าใจการยื่นภาษีของร้านค้าออนไลน์ : อาชีพขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าก็ต้อง ยื่นภาษี เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ทางเดียวจากการขายของออนไลน์ หรือจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ต่างก็ต้องยื่นภาษี 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.90 โดยจะต้องยื่นภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

  • รอบแรก : ยื่นภาษีครึ่งปี ช่วง ก.ค.-ก.ย. ของทุกปี นำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.94 ภายในวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.
  • รอบที่ 2 : ยื่นภาษีปลายปี ช่วง ม.ค.-มี.ค. ของทุกปี โดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. ของปีถัดไป (เช่น เงินได้ปี 2563 ต้องยื่นภายใน มี.ค. 2564)

7. จัดส่งสินค้าต้องเร็ว ราคาไม่แพง : การจัดส่งสินค้าก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดี ต้องเลือกระบบขนส่งสินค้าที่ส่งของได้เร็ว สะดวก มีบริการเสริมที่ดี ที่สำคัญคือ ต้องมีค่าส่งที่ไม่แพง เพื่อให้ “พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ได้กำไรมากขึ้น