เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ ชุมชนปั้นฝันของนักประดิษฐ์

 เป็นเรื่องยากที่เหล่าบรรดาเด็กหนุ่มวัยนักศึกษาที่มีใจรักในงานประดิษฐ์ สนใจเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องยนต์กลไก และระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่มีนวัตกรรม เพราะนอกจากเรื่องสถานที่แล้ว เงินที่จะนำมาใช้จ่ายก็เป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ฉะนั้น ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่มีคุณหมอใจดี นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน หรือ คุณหมอจิมมี่ ก่อตั้ง “เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ”  เปรียบเสมือนเป็นห้องแล็บและสนามทดลองของบรรดาเด็กที่มีไอเดียดี แต่ขาดสถานที่และเครื่องมือ ได้มาระดมสมองแบบฟรีๆ เปิดให้มาใช้บริการ 24 ชั่วโมง

%e0%b8%99%e0%b8%9e-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%95-%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%8a%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%99-%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%81%e0%b9%88

รวมพลคนมีไอเดีย
ชิ้นงานต่อยอด เชิงพาณิชย์

เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ตั้งอยู่ที่ ถนนอารักษ์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนสถานที่และทุนทรัพย์ตั้งชมรมจากคุณหมอจิมมี่ ก่อตั้งสถานที่นี้ขึ้นเพื่อให้คนที่มีความสามารถหลากหลายมาอยู่รวมกัน ได้มาแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ  ตลอดจนการสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี ภายใต้คำว่า “Made in Thailand” ให้สามารถขายในตลาดโลกได้

คุณหมอจิมมี่ บอกว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อว่าการที่คนมีความสามารถหลากหลายได้มาอยู่รวมกัน ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน จะก่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วกว่าการเรียนรู้เพียงลำพัง และอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นผลงานนวัตกรรมขึ้นมาก็เป็นได้

“ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่นิยมทำงานประจำ ไม่อยากเป็นลูกจ้าง ตรงกันข้ามกลับต้องการสร้างธุรกิจ อยากมีบริษัทหรือโรงงานเป็นของตัวเอง แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเงินทุน ทำให้ความฝันเกิดขึ้นได้ยาก จึงสร้างชุมชนปั้นฝันของบรรดานักประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นทั้งออฟฟิศ ห้องแล็บวิจัยคิดค้นงาน และโรงงานผลิตแบบเปิดกว้าง 24 ชั่วโมง ให้คนมีความสามารถได้มารวมตัวกัน ไม่มีค่าใช้จ่าย”

dsc_4227-n

คุณหมอจิมมี่ บอกว่า ข้อดีของ เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ คือเปิดบริการตลอดเวลา มองว่าไอเดียดีๆ สามารถเกิดได้ตลอดเวลา เมื่อคิดได้ ต้องได้ทำ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดที่เร็วขึ้น และหากชิ้นงานตัวไหนมีศักยภาพสูง พอจะผลิตขายได้ จะช่วยหานักลงทุน หรือพาร์ตเนอร์ให้ด้วย เพราะที่ผ่านมา เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ จัดงาน เมคเกอร์ คลับ ปาร์ตี้ เป็นเวทีเปิดให้ผู้ที่สนใจและกำลังมองหาผลงานนวัตกรรมมาจับคู่ซื้อขายงานกัน มีทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติมาร่วมงาน ทำให้ผลงานของสตาร์ตอัพกลุ่มนี้มีโอกาสต่อยอดสู่ตลาดโลกได้

สำหรับชิ้นงานที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ใช้งานได้จริง และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ของฝีมือกลุ่มเชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ อาทิ เครื่องมือฉีดพลาสติกเป็นรูปทรงต่างๆ เครื่อง 3D Printer แผงวงจรเชื่อมระบบไว-ไฟ (WiFi) สามารถสั่งเปิด-ปิดไฟได้ เปิดเครื่องชงกาแฟ เปิดเครื่องปรับอากาศ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ การผลิตโดรนด้วยต้นทุนต่ำ ปรับแก้ไขได้ง่ายตามการใช้งานจริง ซึ่งสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้มีชาวต่างชาติให้ความสนใจแล้ว

%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%93%e0%b8%b1%e0%b8%90-%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c

มีนายทุนร่วมสนับสนุน
พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม
4.0

ด้าน คุณณัฐ วีระวรรณ์ ประธานกลุ่มเชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ เล่าย้อนว่า ก่อนจะเกิดเป็นเชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ เมื่อก่อนเคยตั้งคลับเล็กๆ มีเพื่อนที่เรียนวิศวะ สนใจเรื่องเทคโนโลยี ชอบอะไรคล้ายกันมารวมตัวกัน แต่สุดท้ายเปิดได้เพียง 6 เดือน ปิดตัวลง เพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ไม่มีทุน พื้นที่ไม่อำนวย กระทั่งได้มารู้จักกับคุณหมอจิมมี่ ท่านมองเห็นประโยชน์จากการรวมตัวในครั้งนี้ จึงออกทุนทรัพย์ให้ส่วนหนึ่งสำหรับการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงจัดหาสถานที่ให้เป็นอาคารพาณิชย์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

“ผมมองว่า เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ ทุกคนที่เข้ามา มีความอิสระ มีความคิด มีเครื่องมือ มีสถานที่พร้อม เป็นเหมือนห้องแล็บและสนามทดลองก่อนจะเป็นสตาร์ตอัพหน้าใหม่ที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0”

%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%a9%e0%b8%90%e0%b9%8c-%e0%b9%82%e0%b8%94%e0%b8%a3%e0%b8%99-%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b8

สำหรับกฎระเบียบการทำงานที่เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ ทุกโครงการที่ใช้ทรัพยากรของคลับนี้ ต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและแชร์ความรู้นั้นออกไป

ประวัติคุณหมอจิมมี่ เขาโลดแล่นอยู่ในวงการซอฟต์แวร์มาเกือบ 15 ปี เปิดบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติไทยรายแรกที่ส่งออกงานไปต่างประเทศ อาทิ เกมส์ โปรแกรมสำหรับธุรกิจ ทั้งยังเคยเป็นกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) นาน 3 ปี

ด้าน คุณพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะเหมือนเป็นการรวมหัวกะทิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน มารังสรรค์ผลงานได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 หากมี Chiang Mai Maker Club เกิดขึ้นตามภูมิภาคอื่นๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งภาครัฐ พร้อมนำต้นแบบโมเดลนี้ต่อยอดสู่ภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

นอกจาก เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ ยังมีกลุ่มสตาร์ตอัพ “PINN Creative Space” (ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ) สถานที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจแบบ Creative Startup ให้ได้มีโอกาสในการผลิตสินค้าเพื่อการจำหน่าย ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเย็บปักถักร้อย เพื่อให้ได้สินค้าที่สวยงามและมีคุณภาพ สามารถผลิตสินค้าจำนวนน้อยได้ ในราคาไม่แพง เพื่อทดลองจำหน่ายในตลาดก่อน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก ช่วยลดความเสี่ยงให้กับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ และช่วยให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจที่ฝันไว้ได้จริง เริ่มตั้งแต่การให้แนวคิดและความรู้เกี่ยวกับออกแบบที่ตรงตามความต้องการของตลาด ให้การฝึกอบรมด้านการออกแบบสินค้าและการใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นแหล่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างคนด้วยกัน ให้บริการผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย การช่วยประสานงานด้านการระดมทุน และให้บริการจัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์อีกด้วย

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสวงหาความรู้จากประสบการณ์จริง ได้มาอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน สามารถมาได้ที่ เชียงใหม่ เมคเกอร์ คลับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องการชิ้นงานด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เพื่อความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับเด็กๆ กลุ่มนี้ได้