เริ่มจากศูนย์ สู่ธุรกิจพันล้าน! ซัคเซสมอร์ ธุรกิจเครือข่าย ของอดีตเด็กกรีดยางสู้ชีวิต

เริ่มจากศูนย์ สู่ธุรกิจพันล้าน! ซัคเซสมอร์ ธุรกิจเครือข่าย ของอดีตเด็กกรีดยางสู้ชีวิต
เริ่มจากศูนย์ สู่ธุรกิจพันล้าน! ซัคเซสมอร์ ธุรกิจเครือข่าย ของอดีตเด็กกรีดยางสู้ชีวิต

เริ่มจากศูนย์ สู่ธุรกิจพันล้าน! ซัคเซสมอร์ ธุรกิจเครือข่าย ของอดีตเด็กกรีดยางสู้ชีวิต

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM ผู้ดำเนินธุรกิจแบบ MLM หรือ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในลักษณะเครือข่ายขายตรง เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย

คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM

โดยประวัติที่มาที่ไปของเจ้าของบริษัทคนนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะคุณนพกฤษฏิ์ หรือ คุณนพ เติบโตมาด้วยความยากจน ต้องรับจ้างกรีดยางช่วยคุณพ่อกับพี่ชายตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ซึ่งในขณะนั้นเขาอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น

คุณนพต้องออกไปกรีดยางกับพ่อและพี่ชายตั้งแต่ 5 ทุ่ม กรีดเสร็จตอน 6 โมงเช้า และจึงได้กลับมาถึงบ้านในตอน 7 โมง กลับมาอาบน้ำ กินข้าว เพื่อไปโรงเรียน ซึ่งระยะทางจากบ้านกับโรงเรียนห่างกัน 11 กิโล หากขับมอเตอร์ไซค์ไป ต้องเร่งสปีดเต็มที่ และใช้เวลาประมาณ 40 นาที ชีวิตในวัยเด็กของคุณนพเป็นอย่างนี้มาตลอด จนจบ ม.ศ.3 ซึ่งกินเวลากว่า 7 ปี

จนช่วงวัยรุ่น ก็หันมาทำอาชีพนักมวย และสอบเข้าไปอยู่ในโรงเรียนสาธิตที่หาดใหญ่ จนเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เมื่อได้เข้าไปเรียนแล้ว คุณนพรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ทำให้ไม่ค่อยได้สนใจเรียนเท่าใดนัก ผ่านไป 2 ปี เกรดไม่ถึง 2 มีโอกาสโดนรีไทร์ ตอนนั้นจึงนึกสะท้อนใจว่า ในขณะที่ครอบครัวที่เหลืออยู่ ลำบากหาเงินเพื่อส่งเขาเรียน คุณนพจึงชิงลาออกจากการเรียนไป

“ช่วงที่ลาออกพี่ชายชวนกลับไปกรีดยางที่บ้าน แต่ผมบอกว่าผมไม่เอา อยากทำอย่างอื่น ตัดสินใจเดินหน้าต่อ แต่ไม่มีใครส่งเพราะบ้านไม่มีเงิน เลยเข้ากรุงเทพฯ มาสมัครงานเป็นเด็กในสวนอาหาร สมัยนั้นเรียกบัสบอย เป็นตำแหน่งล่างสุด คอยยกอาหารจากครัวมาให้เด็กเสิร์ฟ ทำงานตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 5 ทุ่ม ได้เงินวันละ 30 บาท ตกเดือนละ 900 บาท  วันไหนไม่มาทำงานก็ไม่ได้เงิน ทำงานหาเงินเรียนเอง แล้วก็เลือกเรียนด้านมาร์เก็ตติ้งที่รามคำแหง เพราะไม่ต้องใช้เวลาเรียนมากเรียนไปเรียนมา รู้สึกว่านี่แหละ ทางที่ใช่ ก็เลยทำให้ใช้เวลาเรียนแค่ 3 ปี ก็จบออกมาด้วยเกรด 3 กว่า ก็มีความภูมิใจระดับหนึ่ง” คุณนพ เล่า

เมื่อเรียนจบ คุณนพตัดสินใจสอบเข้าทำงานธนาคาร ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การค้าระหว่างประเทศ เพราะเป็นอาชีพในฝันของเขาในเวลานั้น และเพื่อจะได้ก้าวในตำแหน่งหน้าที่เร็ว จึงสอบชิงทุนของธนาคาร ติด 1 ใน 10 เข้าเรียนปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ด้านการเงิน

“พอมันมีความมั่นใจจึงเพิ่มมากขึ้นอีก ก็ตั้งใจทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ผมถูกประเมินการทำงานเป็นเกรดเอมาตลอด จนอยากเป็นผู้จัดการ แต่ธนาคารให้ไม่ได้ แล้วตอนนั้นพวกไฟแนนซ์กำลังรุ่งมาก มีคนชวนเลยตัดสินใจออกจากธนาคาร ทั้งๆ ที่ยังใช้ทุนไม่หมด แต่ด้วยความที่อยากก้าวหน้า ผมเลยยอมควักเงินตัวเอง จ่ายเงินคืนธนาคารไป พอออกไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อของไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง ทำได้ปีครึ่ง ก็ถูกปิดเพราะตอนนั้นมันมีวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่”

“ด้วยความที่ผมทำอาชีพ 2 อาชีพ 3 ไปด้วย ซึ่งก็คือ ขายประกัน แล้วก็เป็นวิทยากรฝึกอบรม ก็ต้องเลือกว่า ใน 2 ตัวนี้ เราจะเอาดีทางไหน ก็เลือกเป็นวิทยากร ก็ไปสมัครเป็นวิทยากรนักขายตรง ที่เอวอน ทำอยู่ 1 ปี ยอดขายเพิ่มขึ้นเลยได้เลื่อนตำแหน่ง ตอนนั้นรู้สึกว่า นี่แหละ มันคือทางที่ใช่ ก็เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ทำการบ้านหนักมาก ก็ได้แชมป์ยอดขายสูงสุด 2 ปีติดต่อกัน ถือเป็นครั้งแรกของบริษัทที่มีคนแบบผม เพราะผมมองทะลุในงานขายและวางกลยุทธ์การขายเป็น ผมเป็นโค้ชให้ทีมงานภาคสนาม เน้นการสื่อสารให้กำลังใจทีมงาน ผลตอบรับจึงออกมาดี ชนะแบบม้วนเดียวจบ” คุณนพ ว่าอย่างนั้น

เนื่องด้วยอยู่ในจุดที่มีพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความอดทนจากการเป็นบัสบอย การคิดวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างดีจากการอยู่ฝ่ายสินเชื่อไฟแนนซ์ อีกทั้งอยู่ในวงการการขายและการตลาด จึงรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของงานขาย รู้ชีวิตนักขายและระบบทำทีมเป็นอย่างดี อีกทั้งมีประสบการณ์ในการบริหารองค์กร ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจร่วมกับแพทย์หนุ่มเพื่อนรักที่คบหากันมาตั้งแต่วัยเด็ก อย่าง คุณสิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ เปิดบริษัทขายตรง ชื่อ ซัคเซสมอร์ ขึ้น

คุณสิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ และ คุณนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร สองผู้ก่อตั้ง บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM

“ซัคเซสมอร์ เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนด้วยเครือข่าย ฉะนั้นเราจึงเป็นบริษัทที่อยู่เพื่อ พัฒนาชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจเครือข่าย” คุณนพ ว่าอย่างนั้น

โดยผลิตภัณฑ์แรกเริ่มของ ซัคเซสมอร์ คือ ยาสีฟัน ต่อมาแตกไลน์ผลิตภัณฑ์มาทำ ดีท็อกซ์ รสกีวี่ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเลยก็ว่าได้ และเริ่มมีการผลิตของใช้ส่วนตัว ของใช้ภายในบ้าน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วย

“สินค้าของเราทุกไลน์ จัดเต็มไปด้วยคุณภาพ แต่ราคาไม่ได้แพงเหมือนแบรนด์อื่น เพราะอยากให้คนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อสุขภาพดี คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจก็จะดีตามไปด้วย ผมเชื่ออย่างนั้น” เจ้าของบริษัท กล่าว

ปัจจุบัน SCM แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. กลุ่มธุรกิจแบบเครือข่าย ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทจำแนกเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง, กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว, กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใช้ในครัวเรือน, กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

2. กลุ่มธุรกิจให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายและรับจัดงานสัมมนา ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท ซัคเซส สปิริต จำกัด (SPT) และ SCM Spirit (Myanmar) Co., Ltd. (SPM) สนับสนุนธุรกิจเครือข่ายในประเทศ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศที่มีเครือข่ายสมาชิกและฐานลูกค้าเป็นของตนเอง

3. กลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ แล็บบอราทอรี่ จำกัด (SML) และบริษัท เอสซีเอ็ม อินโนเวทีฟ จำกัด (SMI) ที่เป็นบริษัทที่ SCM เข้าลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยจะดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงงานผลิตสินค้าเฉพาะภายในกลุ่มบริษัท โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 15,000 ชิ้นต่อเดือน มีการผลิตสินค้าจำนวน 5 SKUs

นอกจากนั้น สองผู้บริหารได้ตัดสินใจนำ SCM เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้องการสร้างแบรนด์ให้มีความมั่นคง และสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจคนไทยและตลาดต่างประเทศที่ซัคเซสมอร์จะขยายธุรกิจต่อไป

ถามถึงผลกระทบจากโควิด คุณนพ เผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งจากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้ยอดลดลงไป 6% แต่รายได้จากการขายกลับดีขึ้น จากการที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น

คุณนพ ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทเตรียมออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่มีการนำพืชเนื้อหอมอย่าง กัญชง มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ในหมวดหมู่ สกินแคร์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตจากทาง อย. และรอเปิดตัว อย่างเป็นทางการต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564