เปิดคัมภีร์ รุกตลาดอาหารฮาลาล สำหรับ SMEs ด้วย 3 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

เปิดคัมภีร์ รุกตลาดอาหารฮาลาล สำหรับ SMEs ด้วย 3 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

มีการประเมินว่า จากนี้เป็นต้นไป ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีแนวโน้มจะเข้ามามีบทบาทและทวีความสำคัญต่อผู้ประกอบการอาหารทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังรุกตลาดอาหารฮาลาลไม่มากนัก เนื่องจากเผชิญข้อจำกัดด้านเงินทุนและความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าอาหารฮาลาล ประกอบกับการที่ไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ยิ่งทำให้อาหารฮาลาลของไทยมักไม่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะในตลาดที่เคร่งครัดกับแนวคิดและความเชื่อทางศาสนา

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ เผยแนวทางการรุกตลาดฮาลาลสำหรับ SMEs ไว้ 3 ข้อ ได้แก่

  1. กลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ (Natural Halal) อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล และน้ำตาลทราย ผู้ประกอบการที่เริ่มบุกเบิกตลาดอาหารฮาลาล หรือมีงบประมาณจำกัด ควรเริ่มต้นทำตลาดด้วยสินค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคมีความเชื่อว่าเป็นฮาลาลอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องพิจารณาตรารับรองมาตรฐานฮาลาลบนบรรจุภัณฑ์ซ้ำอีก ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับการรับรองฮาลาล
  2. กลุ่มอาหารฮาลาลโดยการรับรอง (Halal Certification) อาทิ เค้ก โดนัท อาหารสำเร็จรูป เหมาะกับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล รวมถึงมีความเข้าใจในความต้องการและรสนิยมการบริโภคอาหารฮาลาลของผู้บริโภค
  3. อาหารฮาลาลที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อาหารฮาลาลเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อาทิ อาหารฮาลาลเพื่อสุขภาพ เนื่องจากแนวโน้มของกระแสรักสุขภาพที่ขยายวงกว้างขึ้น จนอาจก้าวขึ้นเป็นสินค้าที่นิยมกันโดยทั่วไปได้ในอนาคต ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มนี้ อาทิ ธัญพืชเสริมวิตามิน เครื่องดื่มเสริมกรดอะมิโน และสแน็กบาร์เสริมโปรตีน

ผู้ประกอบการอาจใช้ช่องทาง e-Commerce และ Social Media เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าหรือทำการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในตลาดเป้าหมาย เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ในวงกว้าง