ต่อลมหายใจ ผ้าไหมโซดละเว กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หวังสร้างรายได้ให้ชุมชน

ต่อลมหายใจ ผ้าไหมโซดละเว กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หวังสร้างรายได้ให้ชุมชน

อาชีพใดก็ตาม หากเริ่มต้นจากฐานความรู้ของชุมชน บวกกับการเปิดโอกาสจากหน่วยงานในพื้นที่ และการสนับสนุนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง มากกว่าครึ่งมักประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืน แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้ว จากโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ที่ดำเนินการโดยโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ จากผ้าไหมที่ทอใช้กันเอง สู่ผ้าไหมที่เป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชุมชนตำบลโพธิ์กระสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ  และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมการสวมใส่ผ้าไหมลดลง ส่งผลให้คนทอผ้าลดลง ความรู้ด้านการทอผ้าก็เริ่มจะหายไป และเพราะแต่ไหนแต่ไรมา อาชีพทอผ้า มักส่งต่อและสืบทอดกันในลักษณะรุ่นต่อรุ่น  ย่า ยายสอนให้แม่  แม่ส่งต่อให้ลูกสาว ขณะที่กระบวนการส่งต่อ คือ การทอให้เห็น และใช้ให้หยิบนู่นจับนี้ เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับความรู้กันทีละเล็กละน้อย และเมื่อมือมีมัดกล้ามที่แข็งแรงมากพอ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทออย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ส่งต่อวิชาทอผ้าไหม

ดังนั้น การทอผ้าในช่วงที่ผ่านมา คือการทอด้วยจิตวิญญาณ ทอเพราะเห็นคุณค่าของผืนผ้า มากกว่าการทอเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเอาวัฒนธรรมการทอมาสานต่อเป็นงานอาชีพเพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องผิดกติกาแต่อย่างใด และเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ทำให้ผ้าไหมที่เกือบจะถูกลืมไปแล้ว กลับมามีลมหายใจได้อีกครั้ง    และที่สำคัญ กลุ่มคนที่นำผ้าไหมทรงคุณค่าของชุมชนกลับมา คือ กลุ่มเยาวชน เพราะในเรื่องการพัฒนาอาชีพ การเริ่มต้นด้วย ความรู้ เป็นบันไดขั้นแรก โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องอาชีพดั้งเดิม เนื่องจากมีคนลองผิดลองถูกไว้ให้แล้ว และ เราไม่ควรไปลองผิดอีกรอบ กรณีผ้าทอโซดละเว ก็เช่นกัน  เพราะผ้าไหมโซดละเว เป็นผ้าไหมทอมือขึ้นชื่อ ของตำบลโพธิ์กระสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก่อนหน้านั้น ผ้าไหมอันทรงคุณค่าของชุมชนแห่งนี้กำลังเผชิญกับภาวะขาดคนสืบทอด เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในชุมชนไม่ค่อยให้ความสนใจ สาเหตุมาจาก ส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของผ้าไหม ขาดแรงบันดาลใจในการสืบทอด และ รายได้จากการขายผ้าไหมก็ไม่ดีเหมือนในอดีตเนื่องจากผู้คนลดความนิยมลง

หม่อนไหมอาสา

เมื่อเยาวชนกลุ่มหนึ่ง มีโอกาสทำโครงงานที่เรียกว่า Active Citizen เพื่อต่อลมหายใจอันรวยรินของผ้าทอของบรรพบุรุษ โดยการนำของ ครูแอ๊ด-สิบเอก วินัย โพธิสาร  ซึ่งผลของการทำโครงการในครั้งนั้น  นอกจากจะทำให้คนเฒ่าคนแก่เกิดความภาคภูมิใจว่า ผ้าไหม ที่สืบทอดและส่งต่อมาจากบรรพบุรุษจะไม่สูญหายไปในรุ่นของพวกเขาแล้ว กระบวนการทำงานยังทำให้กลุ่มเด็กๆ ค้นพบแนวทางการสืบทอดคือ ‘เก็บ แกะ เกิด ซึ่งหมายถึงการ ‘เก็บ/ ข้อมูลด้านผ้าทอและผู้รู้ในชุมชน นำไปสู่การ ‘แกะ’ ลวดลายและเทคนิคการทอ กระทั่ง ‘เกิด’ ผ้าทอโซดละเวผืนใหม่ ภายใต้ภูมิปัญญาดั้งเดิม จากนั้น เสียงกี่ที่เคยเงียบ ก็กลับมาส่งเสียงอีกครั้ง  เยาวชนหลายคนเริ่มทอผ้าเป็น คนเฒ่าคนแก่ที่หูตาฝ้าฟางมองไม่ค่อยเห็น ก็ขยับตัวเองไปเป็น ‘ผู้รู้’ ทำหน้าที่แนะนำกระบวนการ และขั้นตอนการทอให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน  กระบวนการเหล่านี้ ทำให้ ‘ผ้าไหมโซดละเว’ ที่ลมหายใจกำลังรวยริน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเมื่อเกิดการตลาดแนวใหม่คือการขายออนไลน์  รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะนโยบายที่ให้ข้าราชการทั้งในระดับตำบลและระดับจังหวัดหันมาสวมใส่ ‘ผ้าไหม’ อันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ผ้าไหมโซดละเว เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น  กระนั้นก็ตาม แม้จะมีความต้องการผ้าไหมเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดคือ ‘ผู้ผลิต’ หรือ คนทอผ้า ที่ยังมีจำนวนไม่มากพอ  ครูแอ๊ด เล่าว่า  เท่าที่ไปพูดคุยดูพวกเขาก็พอมีทักษะพื้นฐานบ้าง ก็ไปถามเขาว่าสนใจมั้ยที่จะไปทำโครงการเรื่องผ้าแล้วเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย เขาก็เลยสนใจแล้วก็สมัครเข้ามา มีกลุ่มเยาวชน กศน. เด็กว่างงาน เด็กยากจน แล้วก็เด็กที่ว่างงานไม่ทำงานอยู่บ้าน ก็ดึงเขาเข้ามาร่วมโครงการนี้ สำหรับขั้นตอนและกระบวนการทำงาน การต่อยอดความรู้ด้านการทอผ้าคือ การค้นหาคนมาสานต่อและสืบทอด คุณสมบัติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากต้องเป็นคนขาดโอกาส ว่างงาน ไม่มีอาชีพ สิ่งหนึ่งที่ควรมีเป็นคุณสมบัติติดตัวคือต้องรักในการทอผ้า หรือหากยังไม่มี DNA ของคนทอผ้า ก็ต้องเปิดใจรับกระบวนการ และขั้นตอนที่ยุ่งยากด้วยความมุ่งมั่นอดทน “เพราะการอดทนรอ คือ คุณสมบัติพื้นฐานของช่างทอ” ครูแอ๊ด บอก ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะกว่าจะเรียงเส้นไหมในแนวตั้งทีละเส้น และค่อยๆ พุ่งกระสวยใส่เส้นไหมในแนวขวางอีกทีละเส้นๆ จนกระทั่งออกมาเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ล้วนต้องใช้เวลา การอดทนรออย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน  ในเบื้องต้นส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนกลุ่มเดิมที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งทำโครงการเยาวชน เนื่องจากหลายคนมีทักษะพื้นฐานด้านการทอผ้า และเข้าใจกระบวนการทอผ้า แต่ยังขาดอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการทอผ้า ขณะที่กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่ม คือ คนว่างงานในชุมชน และชุมชนรอบๆ อีก 4 หมู่บ้านรวม 50 คน โดยที่หลายคนอาจจะยังไม่มีทักษะ และความรู้ด้านการทอผ้า บางคนอาจถนัดเรื่องการย้อม ก็เอามาร่วมพัฒนาทักษะเพื่อให้เขาได้มีอาชีพ  แต่ไม่ว่าจะถนัดทอหรือย้อม ทั้งหมดต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนร่วมกัน  ทั้งนี้ กระบวนการเก็บข้อมูลนั้น ครูแอ๊ด บอกว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่คือไม่ใช่ตัว ‘ข้อมูล’ ที่กลุ่มเป้าหมายต้องลงพื้นที่ไปสอบถาม แต่เป็นการทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักชุมชนตนเอง รู้จักคนที่พวกเขาต้องไปปฏิสัมพันธ์ด้วย อีกทั้งวิธีการเก็บ และบันทึกข้อมูลจะทำให้กลุ่มเป้าหมายอดทนต่อแรงกดดันต่างๆ ในระหว่างการทำงาน ซึ่งมันเป็นทักษะการทำงานพื้นฐานของคนทำงานทอผ้า  หลายๆ คนอยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปพบปะใคร การเก็บข้อมูลจะทำให้พัฒนาทักษะการพูดคุย เพราะงานเราเป็นเรื่องการทอผ้า การขายของ บางครั้งเราต้องอธิบายให้คนซื้อที่อาจจะมาเยี่ยมหมู่บ้านเราว่า ขั้นตอนการทอเป็นอย่างไร ยากหรือง่าย เขาจะได้เข้าใจกระบวนการว่ากว่าจะได้ผ้าไหมแต่ละผืนมันต้องใช้เวลา และความอดทน” พ้นจากการเก็บข้อมูล และทำความรู้จักชุมชน กระบวนการถัดมาเป็นเรื่องการแกะลาย ตรงนี้ครูแอ๊ดบอกว่าเป็นความรู้เริ่มต้นของช่างทอ “การแกะลายนี้สำคัญ เพราะลายผ้ามันก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย เราคนรุ่นใหม่ก็ต้องสามารถสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมลายเก่าๆ และการแกะลายจะส่งผลไปถึงขั้นตอนการมัดหมี่ การวางเส้นไหม การมัดลาย หรือ มัดหมี่ และการทอ” บนความตั้งใจ และความมุ่งมั่น บวกกับความต้องการสานต่อศิลปะพื้นถิ่นของชุมชน อีกทั้งผลงานของคนรุ่นครูก็สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 50 ชีวิตมีพัฒนาการทางการทอผ้ามากขึ้น อาทิ กลุ่มเป้าหมาย 10 คนผ่านการทอในระดับที่เรียกว่า Profestional สามารถทอลายยากๆ ได้ และเริ่มต้นทอผ้าขายเพื่อหารายได้  ในจำนวนนี้บางรายที่ไม่มีกี่เป็นของตัวเอง ก็รับจ้างกลุ่มทอ ขณะที่บางรายแม้จะไม่ได้ชอบ และไม่ถนัดด้านการทอ แต่ก็พบว่า ในกระบวนการพัฒนาอาชีพทำให้พวกเขาพบตัวเองนั่นคือเรื่องการย้อม

เปีย กับ กุ๊งกิ๊ง

“เราพยายามแล้ว เราว่า เราถนัดเรื่องการย้อมสีมากกว่า สนุก และคอยลุ้นว่า พวกวัสดุที่เราเอาผสมๆ มันจะได้สีอะไรบ้าง” เปียกัญญารัตน์ โพธิ์สุวรรณ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นคนว่างงาน บอกถึงการค้นพบความชอบของตนเองในเรื่องการทอผ้า สำหรับเปีย ก่อนที่จะมาฝึกทักษะการย้อมผ้ากับโครงการ เธออยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอาชีพ และเมื่อครูแอ๊ดอธิบายเรื่องความสำคัญของโครงการพัฒนาอาชีพ ต่างกับ กุ๊งกิ๊งสุพัตรา ทองแสง กลุ่มเป้าหมาย อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์  ที่มีทักษะด้านการทอผ้ามาบ้างแล้ว โดยฝึกฝนและเรียนรู้จากยาย แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้ร่ำเรียนอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อสถานการณ์การขาดคนรุ่นใหม่สืบทอด กุ๊งกิ๊ง จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มอีกครั้ง และมุ่งมั่นศึกษาทำความเข้าใจในการทอผ้ามากกว่าเดิม และตอนนี้ กุ๊งกิ๊งคือ 1 ใน 10 ที่ผ่านการฝึกฝนจนเข้าสู่ระดับ Professional หนูเรียนรู้จากคุณยาย  เห็นยายเลี้ยงไหมเราก็ช่วยยายเลี้ยงด้วย ช่วยเก็บไหม ดูยายสาวไหม ตอนนั้นก็แค่ดู แต่ก็ไม่สนใจ เพราะเราเด็กเกินไป และเห็นว่าการทอผ้ามันยากไป พอครูแอ๊ดมาชวน และบอกว่า บ้านเราคนทอผ้าเริ่มน้อยลง เราต้องมาช่วยๆ กันสานต่อ และก็อยากหารายได้เพิ่มด้วย จึงมาฝึกฝนต่อกับพวกพี่” ทั้งเปีย และ กุ๊งกิ๊ง เริ่มมีรายได้จากการทอผ้าเข้ามาบ้างแล้ว แม้จะยังไม่มาก แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหากฝึกฝนจนชำนาญ บวกกับการตลาดที่ครูแอ๊ด พยายามขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ น่าจะทำให้ผ้าทอโซดละเวและผ้าชนิดอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนที่นิยมสวมใส่ผ้าไหมมากขึ้น “ด้านการตลาด เรามีโพสต์ Facebook ส่วนตัว และ เพจ นอกนั้นก็มีคนนอกเข้ามาดูกิจกรรมการทอผ้า อีกวิธีหนึ่งที่ทำแล้วได้ผลคือการออกร้าน หรือจัดบู๊ธตามสถานที่ราชการกรณีมีงาน ซึ่งจะทำให้ผ้าโซดละเวเป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น” ถึงตรงนี้ แน่นอนว่ากระบวนการต่อลมหายใจให้ผ้าทอโซดละเว ดำเนินงานมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะนอกจากจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการทอผ้า เด็กๆ ซึ่งเป็นสมาชิกในทีมเริ่มมีรายได้เป็นของตนเอง วันนี้…ผ้าทอโซดละเวถูกปลุกกระแสขึ้นมาอีกครั้ง แต่จะส่งต่อลมหายใจแห่งผ้าทอโซดละเว ได้มากน้อยแค่ไหน คงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะให้การสนับสนุนผ้าไหม อันเป็นลมหายใจของคนชุมชนตำบลโพธิ์กระสังข์ ต่อไป หรือไม่