เปิดเทคนิค ออกแบบหน้าร้านออนไลน์ บน Shopee-Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ

เปิดเทคนิค ออกแบบหน้าร้านออนไลน์ บน Shopee-Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ
เปิดเทคนิค ออกแบบหน้าร้านออนไลน์ บน Shopee-Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ

เปิดเทคนิค ออกแบบหน้าร้านออนไลน์ บน Shopee-Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ

ในยุคปัจจุบัน การซื้อของออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดนิยมของผู้บริโภคเกือบทุกวัย ซึ่งแน่นอนว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในยุคนี้ ไม่ได้ยากลำบากแต่อย่างใด เพราะมีแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ สามารถนำสินค้าที่ตนเองมีอยู่เข้าไปวางจำหน่ายได้อย่างง่ายดาย โดย Plearn by Krungsri Guru ได้แนะ 5 เทคนิคการออกแบบหน้าร้านบน Shopee และ Lazada อย่างไรให้มีความน่าสนใจ ไว้ดังนี้ 

ภาพจาก Plearn by Krungsri Guru
Plearn by Krungsri Guru

1. ตั้งชื่อร้านให้รู้ว่าเป็นแบรนด์ของคุณ

ชื่อร้าน เป็นปราการด่านแรกที่จะทำให้ลูกค้ารับรู้ สำหรับเทคนิคการตั้งชื่อร้านค้าให้ดึงดูดมีหลากหลายวิธี คือ ชื่อร้านต้องเป็นคำสั้นๆ ประมาณ 2-5 พยางค์ ซึ่งอาจจะใส่ไอเดียสร้างคำที่สื่อถึงสินค้าที่ขาย เช่น หากขายเสื้อผ้าอาจจะตั้งชื่อร้านว่า SHIRTORIA ที่แสดงให้เห็นถึงชื่อแบรนด์ และสินค้าที่ขายว่าคืออะไร หรืออาจจะใช้ชื่อภาษาไทยเพื่อสื่อความหมายโดยตรงอย่างเช่น เชิ้ตชาย ก็ได้

2. ตกแต่งหน้าร้านให้น่าดึงดูด

การขายสินค้าผ่านหน้าแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada มีข้อดีอยู่ตรงที่ผู้ประกอบการสามารถออกแบบหน้าร้านได้ตามไอเดียของตัวเอง ผู้ประกอบการควรดีไซน์ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยการทำแบนเนอร์ โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาด้วยวิธีนำรูปภาพ หรือวิดีโอมาโปรโมตโปรโมชั่น/แคมเปญ บนหน้าร้านค้าของผู้ประกอบการ

รวมถึง Landing Page ที่เป็นหน้าที่สร้างขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์การขายสินค้า ซึ่งจะไปปรากฏตามหน้าต่างๆ บนแพลตฟอร์ม โดยเมื่อมีคนคลิกก็จะเข้ามาที่หน้าร้านของคุณทันที นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการไดคัต เป็นการตกแต่งรูปด้วยการตัดขอบตามรูปทรง ที่จะทำให้สินค้ามีความโดดเด่น สร้างความสวยงามให้กับผู้พบเห็น

อีกทั้งการดีไซน์หน้าร้านนั้นก็ควรคุมโทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความดึงดูดให้กับลูกค้าเวลาเข้ามาเลือกซื้อสินค้า หากผู้ประกอบการตกแต่งหน้าร้านที่สื่อถึงแบรนด์สินค้ามากเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็จะเข้าใจความแตกต่างในร้านของคุณมากเท่านั้น

โดย Shopee มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Shop Decoration ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ร้านค้าสามารถออกแบบ และตกแต่งหน้าร้านค้าด้วยตัวเองแบบไม่เหมือนใครได้ใน Seller Centre โดยสามารถเข้าไปที่ https://seller.shopee.co.th/edu/article/876 ได้เลย

นอกจากนี้ แนะนำว่าควรจัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ เช่น หากขายสินค้าแฟชั่น ก็แยกสินค้าออกเป็น เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง เครื่องประดับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเมื่อเข้ามาเลือกดูสินค้าแต่ละชิ้น

3. บอกรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน

เรื่องที่ควรตระหนักเป็นอย่างมากก็คือ ด้วยความที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ คือลูกค้าไม่สามารถเห็นสินค้าจริง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรระบุข้อมูลรายละเอียดของสินค้าชิ้นนั้นให้ครบถ้วน หากขายเสื้อผ้าควรบอก ขนาดไซซ์ รอบอก ความกว้าง ความยาว หากขายสินค้าบริโภค ก็ควรบอกสรรพคุณ ข้อควรระวัง รวมถึงวัน-เวลาหมดอายุให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับลูกค้า

สุดท้าย การรีวิวจากลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าไปแล้วก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าสินค้าของผู้ประกอบการได้รับความชื่นชอบมากแค่ไหน ซึ่งหากได้รับคำชมย่อมเป็นเรื่องที่ดีกับผู้พบเห็น และชั่งใจว่าจะเลือกซื้อสินค้านี้ดีหรือไม่

4. ไม่พลาดที่จะจัดโปรโมชั่น

การจัดโปรโมชั่นให้กับสินค้า เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้สำหรับการกระตุ้นยอดขายให้กับร้าน ผู้ประกอบการอาจจะใช้การแจกคูปองส่วนลดมอบให้กับลูกค้า หรืออาจเข้าร่วมแคมเปญกับแพลตฟอร์ม อย่างเช่น เทศกาลลดราคาสินค้า ที่กำหนดเวลาเป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนนั้น เช่น เทศกาลลดราคาสินค้า 9 เดือน 9 เป็นต้น

5. Active ตลอดเวลา

ถึงจะเป็นร้านค้าออนไลน์แต่ก็ต้องคอยมอนิเตอร์ร้านค้าอยู่เสมอ ลูกค้าถามปุ๊บตอบปั๊บ เช่น เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสอบถาม หรือสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการควรจะตอบกลับในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับลูกค้าที่ว่าตนเองเป็นฝ่ายมาซื้อสินค้า แต่ทำไมต้องปล่อยให้รอนาน และการตอบกลับอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถปิดดีลได้เร็วขึ้น ซึ่งเทคนิคที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างตรงกับความคาดหวังของผู้ซื้อ

ที่มา Plearn by Krungsri Guru