ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
Hungry Hub ผู้ให้บริการจองร้านอาหาร ชูจุดแข็ง ดีลพิเศษ ลูกค้าคุมงบ ร้านอาหารได้ยอด
เคยไหม ที่อยากไปทานร้านอาหารดีๆ สักครั้งในวันพิเศษ แต่ดันทานไม่อิ่ม หรือประสบปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ นอกจากลูกค้าจะไม่ได้ทานของที่อยากทานแล้ว ด้านร้านอาหารเอง ก็สูญเสียโอกาสในการทำยอด
จากการเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว Hungry Hub (ฮังกรี้ ฮับ) คือผู้ให้บริการที่จะมาตอบโจทย์ข้อจำกัดของทั้งฝั่งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งมี คุณสิทธิ์-สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ CEO & ผู้ร่วมก่อตั้ง Hungry Hub เป็นหัวเรือหลักๆ ในการบริหารงาน
คุณสิทธิ์ เล่าที่มาที่ไปของบริการดังกล่าวให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า ฮังกรี้ ฮับ เปิดให้บริการมาแล้วเกือบ 7 ปี โดยเริ่มจากการเป็นระบบจองโต๊ะร้านอาหารออนไลน์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
“ตอนแรกๆ ผมอยากเริ่มทำสตาร์ตอัพสักอย่าง แล้วที่บ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมอยู่แล้ว เลยพยายามเริ่มจากการทำระบบจองโรงแรมก่อน แต่พอมาศึกษาไปสักพัก ก็พบว่าในตลาดนี้คู่แข่งเยอะและแข่งขันกันสูงมาก เว็บใหญ่ๆ เขาก็ลงทุนโฆษณากันสูง เป็นพันๆ ล้านเหรียญ ผมเลยมองว่า นอกจากคู่แข่งเยอะแล้ว เราก็ไม่ได้มีเงินทุนมากขนาดนั้น เลยหันกลับมามองรอบตัวใหม่ ก็เห็นว่าร้านอาหารในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีระบบการจองที่มันคล้ายๆ ระบบของโรงแรม หรือแพลตฟอร์มอะไรที่มาช่วยพวกร้านอาหารเท่าไหร่ เลยคิดว่า ถ้าเราเอาโมเดลระบบการจองร้านอาหารที่มีอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว มาเซตระบบให้เข้ากับบ้านเรา มันน่าจะไปได้นะ” คุณสิทธิ์ เล่า
เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงลงมือทำ แต่ทำได้เพียง 2-3 ปี ก็ล้มเหลวไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ชายหนุ่มให้เหตุผลว่า เพราะในประเทศไทย ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีระบบจองร้านอาหารเหมือนเมืองนอก
“ในเมืองไทย เมื่อโทรไปสอบถามที่ร้านอาหาร ส่วนมากที่ร้านก็จะบอกว่าให้ไปที่ร้านหรือสามารถคอนเฟิร์มการจองได้เลย แต่ถ้าเป็นที่ต่างประเทศ บางร้านต้องโทรไปเป็น 10 สายเพื่อให้ได้รู้ว่า ร้านที่เราอยากไปทานนั้นจะมีให้เราจริงๆ ที่ต่างประเทศจึงมีระบบเพื่อรองรับช่องว่างตรงนี้ แต่ในเมืองไทย เราไม่ได้ศึกษาตลาดให้ดีพอว่ามันไม่ได้มีตลาดความต้องการนี้ เราคิดแค่ว่าต่างประเทศทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ อันนี้ก็เลยกลายเป็นบทเรียนของเราอย่างหนึ่ง” ผู้บริหารหนุ่ม เล่า
เมื่อธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จ คุณสิทธิ์จึงมานั่งทบทวนถึงทิศทางของธุรกิจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ จนวันหนึ่งเขาพาทีมงานในความดูแลกว่า 30 คน ไปเลี้ยงดินเนอร์ แต่งบที่จ่ายแต่ละครั้งบานปลายและคุมไม่อยู่ จึงได้คิดหาวิธีที่จะแก้ปัญหานี้ และเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ โปรโมชั่นร้านอาหาร ราคาเน็ต อิ่มคุ้ม คุมงบได้ โดยเปลี่ยนร้าน a la carte ให้ทานได้แบบ all you can eat หรือ บุฟเฟ่ต์ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า
“พอทำตัวแรกเรารู้แล้วว่า ร้านอาหารต้องการลูกค้ามากขึ้น แล้วส่วนตัวผมพาทีมงานไปกินข้าวข้างนอกทุกเดือน แล้วทุกครั้งที่พาไปผมเป็นคนจ่าย เขาเป็นคนกิน พอบิลมาทีเกินงบที่ตั้งไว้ และปัญหาก็คือว่า เวลาเราไปกินเลี้ยงกลุ่มใหญ่ ทุกคนไม่ได้นั่งพูดคุยกัน แต่เขาจะไปโฟกัสแต่กับอาหาร มันไม่มีตรงกลาง เลยเป็นโจทย์ที่ผมเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มใหญ่เท่านั้น มันมีทั้งกลุ่มเพื่อน กลุ่มครอบครัว หรือแม้กระทั่งพาคนรักไปเดตในโรงแรมห้าดาวหรือรูฟท็อป แต่ว่าอยากรู้ว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งมันคือปัจจัยสำคัญนะ แต่คนไทยเราไม่ค่อยกล้าพูดกันเรื่องราคา แล้วร้านอาหารถ้าดูเมนูจากข้างนอกเราก็จะไม่รู้เลยว่า สรุปแล้วราคามันเท่าไหร่ เพราะมันจะมีบวกนั่นบวกนี่อีก กินจานเดียวก็ไม่อิ่ม”
“เลยเป็นจุดที่ทำให้เราพัฒนาแพลตฟอร์มมาเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 นั่นคือ เปลี่ยนร้านอะลาคาร์ท มาเป็นบุฟเฟ่ต์อะลาคาร์ทออกมา ตอนนี้ก็มีร้านบุฟเฟ่ต์มาร่วมงานกับเราก็ได้ แล้วก็มีลูกค้าที่จองผ่านฮังกรี้ ฮับ ก็จะได้เมนูพิเศษ ที่ลูกค้าวอล์กอินโดยตรงไม่ได้ หรือ เราไปร่วมงานกับพวกร้านที่ได้มิชลิน หรือร้านไฮเอนด์ ที่ไม่สามารถทำพวกบุฟเฟ่ต์ได้ แต่ทำเป็นเซตเมนูที่ทำอะไรก็ได้ 3 อย่าง ไม่ใช่แค่เมนูแอพพิไทเซอร์อะไรแบบนี้ เป็น all you can eat ที่คุณสามารถทานอาหารได้ไม่อั้น สั่งอาหารจากเมนูตามปกติ ไม่ต้องไปเดินตักแบบบุฟเฟ่ต์ทั่วไป สร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารที่คุ้มและไม่เหมือนใคร โดยทั้งหมดนี้ เรามอบให้กับลูกค้าที่จองโต๊ะผ่านระบบ Hungry Hub เท่านั้น” คุณสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังคำนึงในฝั่งของร้านอาหาร เน้นการสร้างยอดขายให้ร้านแบบไม่ลดราคา เพื่อให้ร้านอาหารมีรายได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ร้านอาหารอีกด้วย
“รายได้ของฮังกรี้ ฮับ คือค่าคอมมิชชั่น ทุกครั้งที่จองผ่านเรา เราก็จะได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของร้านอาหารที่เข้าร่วมงานกับเรา ซึ่งเราคิด GP แค่ 10% เท่านั้น เพราะเราเน้นว่า ดีลทุกดีลที่เราทำกับร้านต้องสร้างความยั่งยืนให้ร้านก่อน เพราะถ้าร้านอยู่ไม่ได้ ระยะยาวเราก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน ตอนนี้ร้านที่เข้าร่วมกับฮังกรี้ ฮับ มีประมาณ 400 กว่าร้าน ทั้งในโรงแรมและนอกโรงแรม ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้สะท้อนความเปราะบางของภาคธุรกิจร้านอาหารที่พึ่งพาต่างชาติมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น ร้านอาหารที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ที่เน้นการสร้างยอดขายจากการนั่งทานในร้าน และบางร้านก็มุ่งเป้าหมายเป็นลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากนั่งท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ผู้บริโภคภายในประเทศที่หลีกเลี่ยงการกินเลี้ยงสังสรรค์อีกด้วย”
ซึ่ง Hungry Hub ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารให้สามารถกลับมาเปิดบริการกับกลุ่มลูกค้าคนไทยได้ นอกจากนั้น ร้านอาหารที่อยู่ในโรงแรม Hungry Hub ก็ได้พัฒนาแพ็กเกจใหม่ที่ใช้ทรัพยากรที่โรงแรมมีอยู่แล้ว มาช่วยกระตุ้นให้เกิดยอดขายของส่วน F&B ของโรงแรม ตัวอย่างเช่น ห้องอาหาร Vertigo ในโรงแรม Banyan Tree Bangkok หรือจะเป็น โรงแรม Avani+ Riverside ซึ่งได้รับผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นอย่างดี ทำให้ร้านอาหารและโรงแรมที่เข้าร่วมทำโปรโมชั่นกับ Hungry Hub ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20-50%
“ผมคิดว่าแพลตฟอร์มแบบนี้สามารถไปได้อีกเยอะ เพราะตอนนี้เราเพิ่งจะเดินทางมาได้แค่ 1% ของเส้นทางของเรา มีจำนวนร้านอาหารกว่า 400 ร้าน ที่เป็นพาร์ตเนอร์ แต่มีอีกเป็นหมื่นที่สามารถเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราได้อีก แล้วเราก็เป็นบริษัทที่มีหนึ่งเดียวทั้งภูมิภาค เป็นครั้งแรกที่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในโลก และเมืองไทยก็เป็นประเทศแรกที่มีบริการแบบนี้ เราทำให้ลูกค้าเห็นเลยว่า ราคาอาหารรวม net ต่อหัวแล้วต้องจ่ายเท่าไหร่ แล้วคุณจะได้อะไรบ้าง และทำให้ร้านอาหารที่ดูแพงแต่ราคาจริงๆ ไม่ได้แพง ตีตลาดลูกค้าได้ ตรงกับคอนเซ็ปต์ ดีลทุกดีลที่เราทำ ลูกค้าคุมงบได้ ร้านอาหารมีความยั่งยืน เราก็อยู่ได้” คุณสิทธิ์ กล่าว
หากร้านอาหารร้านไหนสนใจ หรือลูกค้าท่านใดอยากใช้บริการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เว็บไซต์ Hungry Hub.com หรือเฟซบุ๊ก Hungry Hub