THAIS แบรนด์เครื่องหนังรีไซเคิล ผู้ปลุกชีพเศษหนัง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ

THAIS แบรนด์เครื่องหนังรีไซเคิล ผู้ปลุกชีพเศษหนัง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ
THAIS แบรนด์เครื่องหนังรีไซเคิล ผู้ปลุกชีพเศษหนัง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ

THAIS แบรนด์เครื่องหนังรีไซเคิล ผู้ปลุกชีพเศษหนัง ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ เป็นรายแรกของโลก

ในกระบวนการผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์ตามโรงงานต่างๆ จะมีเศษหนังเหลือทิ้งเป็นขยะปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา ประเด็นดังกล่าว จุดประกายให้สตาร์ตอัพไทย สร้างสรรค์นวัตกรรมปลุกชีพเศษหนังให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เบ็ดเสร็จเป็นรายแรกของโลก ก่อประโยชน์ทั้งด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล และ คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังรีไซเคิล แบรนด์ THAIS

คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังรีไซเคิล แบรนด์ “THAIS” เล่าแรงบันดาลใจ เกิดจากชื่นชอบเครื่องหนังแฮนด์เมด จึงไปเรียนการตัดเย็บเครื่องหนัง ทำให้พบข้อมูลสำคัญว่า กระบวนการผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์ ไม่ว่าจะกระเป๋า รองเท้า หรือเฟอร์นิเจอร์ วัสดุหนังที่ถูกใช้งานจริง มีเพียงประมาณ 60% เท่านั้น ส่วนเศษหนังชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องทิ้งเป็นขยะ ซึ่งยากต่อการย่อยสลายหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบหรือเผาทิ้ง ล้วนก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องหนังเติบโตมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้น โดยต่อปี ประเทศไทยมีขยะเศษหนังมากกว่าเนื้อที่ 12 สนามฟุตบอล ที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลก ยังไม่มีกระบวนการนำเศษหนังกลับมารีไซเคิลใช้งานได้จริงๆ เลย

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว เป็นที่มาของการเปิด บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ (Thais Ecoleathers) เมื่อปี 2561 ด้วยจุดยืน สร้างสรรค์นวัตกรรมปลุกชีพเศษหนังให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์

คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ

คุณพัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ ให้ข้อมูลเสริมว่า กระบวนการรีไซเคิล เริ่มโดยรับซื้อเศษหนังจากโรงงานผลิตเครื่องหนัง ปัจจุบันรับซื้อเฉพาะเศษหนังวัว เพราะมีการใช้งานมากที่สุด โดยผู้ประกอบการยินดีจะขายให้อยู่แล้ว เพราะเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายว่าจ้างนำเศษหนังไปทำลาย ขั้นตอนต่อมา คัดแยกเกรดหนังและซักล้างทำความสะอาด ตามด้วยตากแห้งด้วยแสงอาทิตย์ สับหนังให้ละเอียด จากนั้น นำไปเข้าเครื่องจักรที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเอง รีดอัดออกมาเป็นแผ่นหนังผืนเดียวกัน ซึ่งจะเชื่อมสนิทด้วยการคล้องเกี่ยวระดับเส้นใยหนังสัตว์ ที่สำคัญ ตลอดกระบวนการ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น นับเป็นนวัตกรรมรายแรกของโลกที่ทำสำเร็จ โดยจดสิทธิบัตรไว้แล้ว

ด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ที่ก่อประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จึงคว้ารางวัลจากทั้งภาครัฐ และเอกชน มากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีสะอาด ปี 2563 จากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ รางวัล Demark จากกระทรวงพาณิชย์ รางวัล Best Start-up Award winning 2563 จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น

คุณธันยวัฒน์ เผยด้วยว่า เบื้องต้น วางแผนทำตลาดแบบ B2B (Business-to-Business) ส่งออกแผ่นหนังรีไซเคิลให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องหนัง ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาศัยเปิดตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับอย่างดีมาก มีออร์เดอร์จากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง ขายได้มูลค่าสูงถึงแผ่นละ 700-1,400 บาท (ขนาด 50×55 ซม.)

คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก.ธาอีส อีโคเลทเธอร์ ผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องหนังรีไซเคิล แบรนด์ “THAIS”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตลาด B2B กำลังไปได้ดี แต่เมื่อโลกต้องผจญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกับธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปเจรจาธุรกิจกับลูกค้าเป้าหมายในต่างแดนได้ อีกทั้ง ออร์เดอร์ที่ตกลงกันเบื้องต้นไปแล้ว ต้องถูกชะลอไปก่อน

“เดิมที่เรามุ่งตลาด B2B เป็นหลัก โควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาด B2C (Business-to-Customer) โดยนำแผ่นหนังรีไซเคิลมาทำสินค้าต่างๆ เพื่อขายลูกค้าในประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้า เครื่องใช้ในบ้าน เช่น วอลล์อาร์ต แผ่นรองจาน รองแก้ว ฯลฯ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า สมุดโน้ต แก็ดเจ็ต ฯลฯ และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา เป็นต้น โดยเรามีทีมออกแบบของตัวเอง สินค้าแต่ละชิ้น มีจุดเด่นลวดลายและผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น สินค้าแต่ละชิ้นจึงเสมือนงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก” คุณธันยวัฒน์ กล่าว

รอยต่อการขยายตลาดจาก B2B สู่ B2C จำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ และใช้เงินทุนเสริมสภาพคล่อง ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้เข้ามาสนับสนุน ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs One ช่วยให้สามารถปรับตัวทำตลาด B2C สร้างรายได้ทดแทน ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

สำหรับช่องทางตลาดในปัจจุบัน มีทั้งรับผลิตสินค้า ODM และ OEM ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าพรีเมี่ยมต่างๆ ควบคู่กับผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ “THAIS” ของตัวเอง ขายผ่านร้านอีโคโทเปีย สยามดิสคัฟเวอรี่ และออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.thais-ecoleathers.com และแฟนเพจ : thais.ecoleathers เป็นต้น โดยเฉลี่ยมียอดรับซื้อเศษหนังประมาณ 1 ตันต่อเดือน และมีกำลังผลิตแปรรูปเป็นแผ่นหนังรีไซเคิลประมาณ 4 พันแผ่นต่อเดือน

แผนในอนาคตที่วางไว้ คุณธันยวัฒน์ บอกว่า ระยะสั้น ต้องการขยายกำลังผลิต เพื่อรองรับตลาด B2B ที่เชื่อว่า ยังมีความต้องการอีกมาก รวมถึง กำลังพัฒนารีไซเคิลเศษขยะจากวัสดุอื่นๆ ไม่เฉพาะแค่เศษหนังเท่านั้น เพื่อให้ “ธาอีส อีโคเลทเธอร์” เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมรีไซเคิล รวมถึงเชื่อมโยงชุมชนเป็นแรงงานผลิต ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ครบวงจร ส่วนแผนระยะยาว ต้องการขายลิขสิทธิ์นวัตกรรมรีไซเคิลให้แก่ประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสูง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ย่อมสร้างประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นนวัตกรรมจากเอสเอ็มอีไทย ที่พร้อมจะก้าวไกลสร้างประโยชน์ระดับโลก