จำปีดอง เครื่องสักการะพุทธบูชา ภูมิปัญญาราชสำนัก รู้ไว้ต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัว

จำปีดอง
จำปีดอง

จำปีดอง เครื่องสักการะพุทธบูชา ภูมิปัญญาราชสำนัก รู้ไว้ต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัว

จำปาดอง งานดอกไม้สด ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เริ่มต้นโดยผู้ใดและเมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ แต่เท่าที่ปรากฏ คือ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์  ได้ทำการคัดดอกจำปางามๆ ก่อนนำมาจัดเรียงลงโถแก้ว แล้วใส่น้ำดอง แล้วนำไปถวายในงานสำคัญของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง กระทั่งได้รับคำชื่นชมว่างดงามถูกใจ  พระพันปีหลวง จึงให้เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ทำออกมาอีก เพื่อเตรียมไว้เป็นที่ระลึกมอบให้แก่แขกบ้านแขกเมือง  ราชสำนัก เลยมีการทำ จำปาดอง ตั้งแต่นั้นมา

อาจารย์อุ๋ม-ศิริภัสสร โชควศิน อาจารย์พิเศษ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คือ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะประดิษฐ์ ในฐานะผู้ถ่ายทอดวิชาการทำ จำปีดอง ให้กับผู้สนใจมาอย่างต่อเนื่อง แนะนำตัวให้รู้จัก ปัจจุบันอายุ 38 ปี  จบการศึกษาปริญญาตรี จาก คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และปริญญาโท คณะพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระทั่งปี 2550  มีโอกาสได้เข้าอบรมเป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา ในโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) สาขาวิชาที่เลือกเรียน คือ ดอกไม้สด ซึ่งช่วงเวลานี้เอง ที่มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้งานช่างสตรีไทยในราชสำนัก เช่น การร้อยมาลัย การทำเครื่องแขวน และ การทำ จำปาดอง

อาจารย์อุ๋ม-ศิริภัสสร โชควศิน

“ในอดีตถือกันว่า จำปา เป็นดอกไม้ชั้นสูงหรือเป็นดอกไม้ครู ของเหล่าเจ้านายในวัง ดังจะเห็นได้จากจะมีการนำดอกจำปา มาทัดหูหัวโขน หรือนำไปทำเครื่องแขวน และเมื่อนำมาดองแล้ว จะมีสีเหลืองทอง งดงามดั่งอำพัน เลยมีความเชื่อว่า ถ้านำไปสักการะเป็นพุทธบูชาแล้ว จะเจริญด้วยศิริโภคทรัพย์สมบัติอันเป็นนิรันดร์” อาจารย์อุ๋ม กล่าว

และว่า ตัวเธอเอง ถ่ายทอดวิชา จำปาดอง มานานหลายปีแล้ว วัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่นี้ คือ ต้องการอนุรักษ์งานฝีมือไทยในราชสำนัก และ ทราบว่า ภายหลังที่หลายคนได้เข้ามาเรียนรู้  สามารถนำวิชาที่ได้ไปต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดี

“งานอุ่นไอรัก ครั้งที่ผ่านมา มีคนนำ จำปาดอง ออกมาจำหน่ายกันหลายเจ้า  นับเป็นสินค้าที่คนนิยมกันมาก เพราะอยู่ได้เป็นปี ไม่เน่า ไม่เสีย ส่วนราคาขาย เท่าที่ทราบ  3 ดอก  ขายกันที่ 350-700 บาท” อาจารย์อุ๋ม เผยให้ฟังอย่างนั้น

จำปีดอง

นึกสงสัย จำปาดอง ทำยากง่ายแค่ไหน อาจารย์อุ๋ม บอก

“ดองร้อยขวด ไม่ได้ทั้งร้อยขวด  ถามว่ายากมั้ย บอกเลยว่าไม่ยาก แต่มีเทคนิคพิเศษ คือ นอกจากมีสูตรเฉพาะแล้ว  ยังมีเรื่องของความเชื่อ เรื่องของครูบาอาจารย์  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

อาจารย์อุ๋ม บอกอีกว่า  จำปา ดอกใหญ่ สีส้มทอง จำปี สีขาวนวล ดอกเล็กกว่าจำปา ปัจจุบัน ดอกจำปี หาง่าย กว่า จำปา เนื่องจากคนไม่นิยมนำดอกจำปา มาใช้ เพราะดำเร็ว ช้ำง่าย บอบบางมาก เลยไม่ค่อยนิยมนำมาร้อยมาลัยแล้ว ทั้งยังเป็นดอกไม้กลิ่นแรง ซึ่งบางคนแพ้ รวมถึง คำพ้องเสียง คำว่า ปา อาจหมายถึงการขว้างทิ้ง ฟังแล้วไม่เป็นมงคล เหมือนดอกลั่นทม คนเลยไม่ค่อยปลูกต้นจำปา ระยะหลัง จึงมีการทำ จำปีดอง ซึ่งได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

“รู้สึกภาคภูมิใจ ที่ยังมีผู้สนใจ อยากอนุรักษ์งานศาสตร์และศิลป์นี้ ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้อีกด้วย” อาจารย์อุ๋ม กล่าวทิ้งท้าย

……………

เผยแพร่เมื่อ วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ.2563