อาชีพหลังเกษียณ เขียนรูป-จัดนิทรรศการ ขายแค่ 26 รูป รายได้ 800,000 บาท

คนที่เกษียณอายุจากงานหลวงส่วนใหญ่จะอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยทำอะไรมาก นอกจากเลี้ยงหลาน

คนที่มีหลานให้เลี้ยงไม่ค่อยจะเดือดร้อน เพราะนอกจากได้บำนาญทุกเดือนแล้ว อาจได้เงินค่าเลี้ยงหลานจากลูกอีก

ที่ว่านี้ หมายถึงคนที่เกษียณแล้วได้บำนาญ แต่ถ้าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจอาจมีปัญหาบ้าง ถ้าได้บำเหน็จมาแล้วต้องใช้หนี้จนหมด เพราะต่อจากนั้นจะต้องหาเงินใช้เอง ไม่มีบำนาญให้เหมือนข้าราชการ

คนที่ปลดเกษียณมาที่ไม่อยากอยู่เฉยๆ ก็จะหาอาชีพให้กับตัวเอง เช่น ขับแท็กซี่บ้าง ทำขนมบ้าง และมีอยู่ไม่น้อยที่เอาเงินบำเหน็จที่ได้ไปลงทุนปลูกต้นไม้ ปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ ปลูกมะนาว

บางคนไปเช่าที่ดินปลูกสับปะรด ก็ได้ผลพออยู่ได้ คือบางปีไม่ได้กำไร แต่เป็นหลักประกันว่าตัวเองมีงานทำ

เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งพอเกษียณก็ได้เป็นหมอดูลายมือ ถือเป็นอาชีพที่ดีอย่างหนึ่งของคนสูงอายุเพราะทำให้ไม่เหงา จะมีคนมาหาให้ช่วยทำนายชะตาชีวิตทุกวัน อยู่เฉยๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ถึงบ้าน

อาชีพหมอดูที่ว่านี้ผมเคยเอามาเขียนลงเส้นทางเศรษฐีหลายปีมาแล้ว

สำหรับเส้นทางเศรษฐีฉบับนี้ผมก็จะขอนำเสนอเพื่อนรุ่นพี่ของผมอีกคนที่มีอาชีพน่าสนใจทีเดียว

คนที่ว่านี้มีชื่อว่า สุเทพ สังข์เพ็ชร ปัจจุบันอายุเกือบ 80 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังยึดอาชีพวาดรูปได้อย่างเหนียวแน่น เพียงแต่เจ้าตัวไม่ยอมรับว่าเป็นอาชีพเท่านั้น

คุณสุเทพปลดเกษียณในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการมาจากการประปานครหลวง เขาเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง รุ่นเดียวกับ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติที่คนไทยรู้จักดี

หลังจากคุณสุเทพเรียนจบจากเพาะช่างก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบจากธรรมศาสตร์ก็ได้ทำงานที่กรมนิเทศสหการ และการประปานครหลวง ตามลำดับ

img_2616

คุณสุเทพเล่าให้ผมฟังว่า เขาไม่กล้าที่จะยึดอาชีพวาดรูปเหมือน ถวัลย์ ดัชนี และใครต่อใครมาตั้งแต่จบเพาะช่าง เพราะต้องมีภาระเลี้ยงดูน้องๆ หลายคน “วาดรูปมีรายได้ไม่แน่นอน จึงต้องหางานหลวงทำเป็นหลัก” เขาให้เหตุผล

ทว่าขณะคุณสุเทพทำงานหลวง เขาไม่เคยหยุดเขียนรูป หรือจะเรียกให้สูงขึ้นมาหน่อยก็ได้ว่า

เขาไม่เคยหยุดทำงานศิลปะ

เขาจะเดินทางไปไหนก็ตาม ทั้งภายในและต่างประเทศจะต้องติดสมุดไปสเก็ตภาพแทนการถ่ายรูปเสมอ (มีพฤติกรรมคล้ายๆ กับอดีตนายกชวน หลีกภัย) แต่ถ้าอยู่บ้านคุณสุเทพจะวาดรูปสีน้ำมัน และสีอะครีลิกลงบนผืนผ้าใบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนมีผลงานเต็มบ้าน

ผมเคยไปถึงบ้านคุณสุเทพจึงได้เห็นผลงานทั้งป้ายสีน้ำวาดทิวทัศน์  สีอะครีลิกเป็นรูปเหมือนใบหน้าคน และภาพสมัยใหม่ ติดตั้งโชว์อยู่ที่ผนังเกือบทุกด้านของบ้าน นอกนั้นกองเป็นตั้งอยู่บนพื้นบ้าน

เนื่องจากเวลาของคุณสุเทพถูกงานหลวงแย่งไปจนเกือบหมด เขาจึงไม่สามารถที่จะนำผลงานออกแสดง หรือจัดนิทรรศการแบบเดี่ยว หรือเฉพาะของตนเองได้ นอกจากนำไปแสดงร่วมกับศิลปินคนอื่นเป็นครั้งคราว

จนกระทั่งคุณสุเทพเกษียณ เขาจึงมีเวลาเต็มที่ และเต็มที่จริงๆ เพราะไม่มีหลานให้เลี้ยง เหตุที่ไม่มีก็เพราะตัวเองไม่มีลูกนั่นเอง

ถึงไม่มีลูก แต่ก็มีรูป คือเขามักจะอยู่กับรูป เขียนรูปทุกวันก็ว่าได้

เมื่อคุณสุเทพมีเวลาว่างพอ เขาจึงได้นำผลงานจัดนิทรรศการเดี่ยวหลายครั้ง โดยเฉพาะล่าสุดก็เมื่อปลายเดือนกันยายนศกนี้ เขาได้นำผลงานแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติเป็นเวลา 45 วัน

สำหรับการจัดนิทรรศการเดี่ยวของคุณสุเทพได้จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติติดต่อกันทุกปี ปีละครั้ง เป็นครั้งที่ 7 เข้าไปแล้ว

ผมได้ไปชมผลงานของคุณสุเทพทุกครั้ง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผลงานมาตามลำดับ โดยแต่ละปีจะมีผลงานที่ไม่ซ้ำกัน จะแปลกกว่าเดิมเสมอ

สำหรับเรื่องนี้ คุณสุเทพให้เหตุผลว่า ศิลปินทั่วไปจะต้องสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หมายถึงว่าพอใครเห็นงานปุ๊บจะต้องรู้ทันทีว่าเป็นงานของศิลปินผู้ใด แต่สำหรับคุณสุเทพไม่ต้องการเช่นนั้น เขาเปลี่ยนแนวการเขียน การเสนอผลงานแตกต่างออกไปทุกปี

“ผมไม่อยากขึ้นต้นอย่างไรแล้วจบอย่างนั้น ผมจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อคนที่ชอบงานศิลปะจะได้ตื่นเต้น ทายไม่ถูกว่าปีนี้งานจะออกมาอย่างไร” เขาให้เหตุผล

img_2620

ผมก็ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก แต่ศิลปินทุกคนมาถึงระดับนี้แล้ว ย่อมเป็นตัวของตัวเองเสมอ สีสันแห่งความสุข เป็นนิทรรศการครั้งล่าสุดของคุณสุเทพ ผมได้ไปชมมาจึงได้เห็นผลงานหลากหลายเช่นเดิม

คุณสุเทพได้อธิบายถึงการเขียนภาพของตัวเองว่า “วัยเด็ก ชอบวาดรูปด้วยดินสอในสมุดโน้ต พอโตเป็นผู้ใหญ่ชอบศิลปะมากขึ้น จึงวาดภาพให้มีสีสันลอกเลียนให้เหมือนจริงตามธรรมชาติ ปัจจุบันชอบวาดสีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ติดยึดรูปแบบ กฎเกณฑ์ วาดภาพตามความคิดมากกว่าตาเห็นตามความต้องการของตัวเองอย่างอิสระเสรีเต็มที่ สีสันให้ความรู้สึกที่ต้องสัมผัสด้วยใจ แม้จะรู้ตัวว่าศิลปะและสีสันเป็นเพียงภาพลวงตาก็ตาม แต่ถ้าวาดภาพด้วยสมาธิด้วยจิตใจที่แน่วแน่ก็ให้ความงดงาม ความสุขสงบได้ ผมจึงเป็นเพียงคนวาดสีที่แสวงหาความสุข”

คงเป็นอย่างที่คุณสุเทพว่าจริงๆ ด้วย เพราะผลงานแต่ละชิ้นดูแล้วให้ความรู้สึกมีความสุข ผู้ใดเครียดมาก่อน แต่พอได้มาชมผลงานของคุณสุเทพชุดนี้จะต้องกลับออกไปอย่างมีความสุข

อย่างไรก็ตาม ผมได้รับทราบเป็นที่น่ายินดีว่า ในการจัดนิทรรศการของคุณสุเทพครั้งนี้ นอกจากมีคนทยอยมาชมแต่ละวันไม่ทำให้เจ้าของผลงานต้องเหงาแล้ว ยังมีผู้สนใจมาจับจองซื้อไปประดับบ้าน คฤหาสน์ และที่ทำงานกันเป็นจำนวนกว่า 20 รูป

ปกติศิลปินทั่วไปจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง จะขายผลงานได้ไม่เกิน 10 รูป แสดงให้เห็นว่า ผลงานของคุณสุเทพเข้าตาผู้สนใจในงานศิลปะแขนงนี้ได้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาพเขียนสีรูปดอกไม้ ถึงขนาดว่าคุณสุเทพต้องเขียนมาเพิ่มอีกหลายรูปเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้สนใจ

การจัดนิทรรศการของคุณสุเทพสามารถขายรูปได้ทั้งหมด 26 รูป ไม่ต้องมากเพียงแค่รูปละ 30,000 บาท ก็ทำให้เขาได้รับเงินเกือบ 800,000 บาทเลยทีเดียว (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย)

นับเป็นรายได้ที่สามารถทำให้คนเกษียณจากงานประจำ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ไม่เดือดร้อน แต่ก็ทำได้ยากสำหรับผู้เกษียณคนอื่นๆ ที่จะเลียนแบบ เพราะการเขียนรูปไม่ใช่การขายน้ำเต้าหู้

 

ผู้เขียน : ไมตรี ลิมปิชาติ