ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ธนาคารปูม้า พุมเรียง โมเดลต้นแบบ ปั้นเศรษฐกิจชุมชน คืนรอยยิ้มชาวเล-ทะเลไทย
ในอดีต ทุกครั้งที่ชาวประมงในอ่าวพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี ออกเรือไปหาปูม้าและสัตว์น้ำต่างๆ เพื่อมายังชีพและค้าขาย ก็มักจะจับปูม้ากลับมาได้มากมาย วันละหลายร้อยกิโลกรัม แต่เมื่อเวลาผ่านไป อุปกรณ์จับสัตว์น้ำถูกพัฒนาให้มีศักยภาพสูง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศเองและอุตสาหกรรมการส่งออกต่างประเทศ ปริมาณสัตว์น้ำโดยเฉพาะปูม้าและปูทะเลในอ่าวพุมเรียงลดลงอย่างน่าใจหาย
คุณจรินทร์ เฉยเชยชม หนุ่มชาวเลในพื้นที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเริ่มหดหาย จึงตระหนักดีว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้ ไม่นานต้องส่งผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างแน่นอน จึงหารือเพื่อนร่วมอาชีพในท้องถิ่น และจัดตั้ง ธนาคารปูม้า ขึ้นในปี 2550 เพื่อเพิ่มปริมาณปูในอ่าวพุมเรียง
โดย คุณจรินทร์ เปิดเผยว่า คำว่า ธนาคารปูม้า หมายถึงการรับบริจาค แม่ปูไข่นอกกระดอง จากชาวประมง มาฝากอนุบาลเลี้ยงในกระชังให้เติบโตเป็น ลูกปู หลังจากนั้น นำไปปล่อยให้เติบโตในอ่าวพุมเรียง ช่วยให้ปูม้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น อันหมายถึง ดอกเบี้ย ที่ได้รับกลับคืนมาจากการฝากแม่ปู
แนวคิดดังกล่าว ได้รับความชื่นชมจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นอย่างมาก และในทางปฏิบัติ กระบวนการธนาคารปูม้า มีการขับเคลื่อนโดยใช้ จิตอาสา ในระยะแรก คุณจรินทร์และสมาชิกของกลุ่มต้องควักทุนส่วนตัวจ่ายค่าน้ำมัน เพื่อขับเรือนำลูกปูไปปล่อยในอ่าวพุมเรียง ซึ่งวิธีการนี้ สมาชิกกลุ่มย่อมไม่สามารถจะแบกรับต้นทุนไปได้ตลอด จึงมีการจัดทำ การเชื่อมท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ เพื่อให้ธนาคารปูม้าสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว
“หลังจากที่เราทำธนาคารปูม้ามาระยะหนึ่ง หน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี ผมจึงมีโอกาสได้เล่าถึงข้อจำกัดเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการธนาคารปูม้า อาจารย์หลายท่านจึงแนะนำให้เชื่อมโยงธนาคารปูม้ากับการท่องเที่ยวชุมชน เราเลยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านพุมเรียง เพื่อเปิดให้บริการเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำประมงปูม้า เพื่อให้ธนาคารปูม้าสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว” คุณจรินทร์ เล่าถึงจุดเริ่มการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว
รูปแบบการท่องเที่ยวดังกล่าว จัดเป็นแพ็กเกจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น เมื่อมาถึงจะมีการบรรยายให้ความรู้เรื่องธนาคารปูม้า หลังจากนั้น พานักท่องเที่ยวขึ้นเรือไปปล่อยลูกปูที่เกาะเสร็จ ทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน และรับประทานอาหารทะเล เป็นต้น ทุกกิจกรรมล้วนสร้างสุขและสอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่นักท่องเที่ยว ขณะที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัดของตัวเอง เช่น คนมีเรือ ก็ใช้เรือพานักท่องเที่ยวไปส่งเกาะเสร็จ บางคนทำหน้าที่วิทยากรสาธิตการเลี้ยงปู กลุ่มแม่บ้านทำหน้าที่แม่ครัวประกอบอาหาร เป็นต้น ทำให้ชุมชนมีรายได้เข้ามา และสามารถแบ่งสรรปันส่วนให้ชาวบ้านได้ ตามความเหมาะสม
นอกจากนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้เข้ามาเติมความรู้การท่องเที่ยวชุมชน ควบคู่เติมทุนดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล ในโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ช่วยให้ทางกลุ่มมีทุน สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชนได้ ทำให้ถูกยกระดับให้มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างชัดเจน
“เมื่อก่อน สถานที่รับคณะนักท่องเที่ยวก็จะไม่แข็งแรง และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องเช่าทั้งหมด ซึ่งสิ้นเปลืองและเสียเวลาเตรียมงานมาก บางงาน คณะนักท่องเที่ยวมาดูงาน 2 ชั่วโมง ผมต้องเตรียมงาน 2 วัน จนเมื่อทีมพัฒนาผู้ประกอบการของ SME D Bank เข้ามาสนับสนุน ถึงพวกเราจะไม่มีเอกสารอะไรเลย แต่ผมมีการจดบันทึกรายชื่อแขกที่มาเที่ยวหรือดูงาน และสมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ทางแบงก์เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชน บอกว่า เอกสารพวกนี้ก็ใช้เป็นหลักฐานได้นะ เพราะบ่งบอกที่มาที่ไป และแสดงให้เห็นว่าเราทำจริง ทำให้ได้รับเงินทุนมาใช้ปรับปรุงอาคารสถานที่ เรือโดยสาร เพิ่มความสะดวกปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว” ผู้ก่อตั้งธนาคารปูม้า พุมเรียง อธิบายเสริม
จากเบื้องต้นมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 10 คน ปัจจุบัน เพิ่มกว่า 40 คน แต่ละคนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง เช่น นำวัตถุดิบจากทะเลมาแปรรูปเป็นน้ำพริก ยี่ห้อ ชาวเลพุมเรียง ขายเป็นของฝากแก่นักท่องเที่ยว และออกงานแสดงสินค้าชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น ขยายประโยชน์ไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ที่มีการจัดกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ ทางกลุ่มภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างแนวคิดให้นักท่องเที่ยว และคนในชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของทะเลไทยให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
“ธนาคารปูม้าที่ใหญ่ที่สุด คือ ท้องทะเลไทย ผมอยากให้ทุกคนมีแนวคิดว่า ใครๆ ก็สามารถสร้างธนาคารปูของตัวเองได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน สามารถช่วยกันอนุรักษ์และเพิ่มปริมาณทรัพยากรธรรมชาติได้ เมื่อความคิดนี้กระจายไปทุกพื้นที่ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน” คุณจรินทร์ ทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก พุมเรียงบ้านเรา หรือ โทร. (092) 379-3969