เรียนรู้ 7 เทคนิค ตั้งราคาขายสินค้า ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ

เรียนรู้ 7 เทคนิค ตั้งราคาขายสินค้า ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ
ภาพจาก https://www.freepik.com/

เรียนรู้ 7 เทคนิค ตั้งราคาขายสินค้า ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ

ราคาขายของสินค้า นับเป็นปัจจัยสำคัญหลัก ที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าเลยทีเดียว ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน การจะจับจ่ายใช้สอยแต่ละอย่าง ก็ทำเอาลูกค้ารวมถึงผู้ประกอบการเองต้องคิดหน้าคิดหลังกันให้ดีเลยทีเดียว

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จึงนำเทคนิคการตั้งราคาขายจาก สสว. มาฝากผู้ประกอบการให้นำไปปรับใช้และต่อยอดเข้ากับสินค้าของตน โดยมีอยู่ด้วยกัน 7 เทคนิค ที่นิยมใช้กัน ได้แก่

1. ตั้งราคาให้ง่ายต่อการคำนวณ : เป็นการตั้งราคากลมๆ ให้คิดง่ายๆ เช่น 20 บาท 40 บาท หรือ 50 บาท เป็นต้น เรียกว่าเป็นการตั้งราคาที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สามารถคิดคำนวณได้ง่ายๆ หากซื้อในปริมาณมากๆ นั่นเอง

 

2. การตั้งราคาลงท้ายด้วย 9 : เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มักเห็นกันบ่อยๆ อาทิ 29 บาท 49 บาท ซึ่งวิธีนี้มีเรื่องของจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องเล็กน้อย การตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ราคาสินค้าชิ้นนั้นมีราคาไม่แพง เปรียบง่ายๆ หากสินค้าแบบเดียวกัน 2 ชิ้น ตั้งราคาที่ 100 บาท และ 99 บาท ลูกค้าจะรู้สึกว่า ชิ้นที่ตั้งราคาหลักร้อย (100 บาท) นั้นแพงกว่าชิ้นที่ตั้งราคาหลักสิบ (99 บาท)

3. การตั้งราคาแบบรวมชุด : เป็นการตั้งราคาที่มีการจัดสินค้าแบบรวมชุด เพื่อให้ง่ายต่อการซื้อ และทำให้ขายได้ในปริมาณที่มากกว่าการซื้อครั้งละชิ้น

4. การตั้งราคาแบบให้ส่วนลด : การตั้งราคาแบบนี้เน้นขายได้จำนวนและมักมีการจำกัดระยะเวลาในการซื้อ

5. การตั้งราคาแบบทำส่วนลดเปรียบเทียบกับราคาเต็มอย่างชัดเจน : การตั้งราคาด้วยวิธีนี้  ทำให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ทันทีนั่นเอง

6. การตั้งราคาแบบมีของแถม : เหมาะกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีวันหมดอายุ เป็นการระบายสินค้าออกไปให้ได้มากที่สุด ให้ลูกค้ามีการซื้อในปริมาณที่มากขึ้น แบ่งเบาความเสี่ยงของผู้ประกอบการในการสต๊อกสินค้า ซึ่งบางครั้งการตั้งราคาแบบนี้ก็ดูเหมือนเป็นการส่งเสริมการขายนั่นเอง

 

7. การตั้งราคาแบบแยกค่าขนส่งจากราคาหลัก : วิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์นิยมใช้กัน ซึ่งบางครั้งผู้ประกอบการจะได้กำไรจากค่าขนส่งด้วย เช่น สินค้าราคาเท่านี้บาท ค่าส่ง 70 บาท ชิ้นต่อไปบวกเพิ่ม 10 บาท เป็นต้น

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563