“กรีนเดย์” ผัก-ผลไม้อบกรอบไทย เผย 4 เคล็ดลับ สร้างสินค้าเกษตร ส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก!

“กรีนเดย์” ผัก-ผลไม้อบกรอบไทย เผย 4 เคล็ดลับ สร้างสินค้าเกษตร ส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก!

ประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีพืชพรรณนานาชนิดสำหรับการบริโภค อีกทั้งมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเพาะปลูกประเทศหนึ่ง แต่ในเรื่องการสร้างมูลค่าในการค้าขายเพื่อการส่งออกนั้น ยังจำเป็นต้องพัฒนาอยู่อีกมาก

มีผู้ประกอบการหลายเจ้าที่เล็งเห็นและเร่งพัฒนาจุดด้อยตรงนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่าง คุณชัยรัตน์ คงศุภมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด หรือที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือแบรนด์ “กรีนเดย์” ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีการอบแบบแช่แข็งและใช้การทอดสุญญากาศ (Vacuum frying) ที่ทันสมัย มาแปรรูปผักผลไม้เป็น ขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพ ที่วางจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์พืชผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าแบรนด์หนึ่ง

คุณชัยรัตน์ คงศุภมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด

โดยคุณชัยรัตน์ ได้มาถ่ายทอดทริกในการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรให้มีมูลค่า ในหลักสูตร “The Guru ปันความรู้สู่ภูมิภาค” ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

คุณชัยรัตน์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจผลไม้อบแห้ง “กรีนเดย์” เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ตั้งแต่รุ่นของคุณพ่อที่ทำธุรกิจส่งออกสินค้าอาหารไทย เช่น ผลไม้ดอง ขนมขบเคี้ยว ก๋วยเตี๋ยว กะปิ น้ำปลา ไปจนถึง ครก ศาลเจ้า กระดาษเงิน กระดาษทอง ส่งออกไปยังตลาดไชน่าทาวน์ที่กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และเมื่อคุณชัยรัตน์เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางอาหาร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา จึงได้เริ่มเข้ามาบริหารและต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว

อีกทั้งคุณชัยรัตน์มองเห็นโอกาสทางธุรกิจว่าสินค้าเกษตรประเภทอาหารของไทย สามารถเป็นที่ยอมรับของต่างชาติได้ จึงได้เริ่มการทำธุรกิจที่สร้างผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แปรรูปที่แตกต่างออกไป ที่ไม่เน้นแข่งด้านราคา แต่มุ่งเน้นที่คุณภาพ ประกอบกับคุณพ่อมีเครือข่ายลูกค้าในต่างประเทศอยู่แล้วจึงเข้ามาสานต่อและทำงานได้ไม่ติดขัดมากนัก

“จุดเริ่มต้นเรามีเครื่องจักรแค่ 2 ตัวครับ ช่วงแรกๆ ก็แปรรูปขนุน สับปะรด กล้วย มันเทศ เผือก ซึ่งทำเป็นผลไม้รวมออกมา ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนในไม่กี่ปี กรีนเดย์ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตผักผลไม้อบกรอบ ที่มีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนรักสุขภาพและได้รับความนิยมไปทั่วโลก และกลายมาเป็น บริษัทที่ผลิตขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพระดับแนวหน้าของไทย ที่ส่งขายทั่วโลกในเวลานี้” คุณชัยรัตน์ เล่า

โดยเคล็ดลับสำคัญในการสร้างตลาดของแบรนด์ของกรีนเดย์ให้ประสบความสำเร็จ คุณชัยรัตน์ เผยว่า ต้องมีองค์ประกอบ ทั้งเล็กและใหญ่ สรุปออกมาได้ 4 ข้อ ดังนี้

  1. การตั้งชื่อ : คุณชัยรัตน์ เล่าว่า หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็น “กรีนเดย์” ซึ่งตอนแรกคุณพ่อของเขาอยากให้ชื่อ “กินดี” คนจะได้จดจำง่าย แต่เนื่องจากตัวเขาเองเป็นคนรุ่นใหม่ ที่อยากเห็นสินค้าไทยที่ผลิต ได้กระจายออกไปทั่วโลก จึงอยากใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษแต่ออกเสียงคล้ายๆ คำว่า “กินดี” จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ “กรีนเดย์” ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การตั้งชื่อสินค้ามีความสำคัญมาก เพราะจะต้องตั้งชื่อให้สามารถสื่อสารและเข้าใจในตัวสินค้านั่นเอง
  2. มองตลาดให้ขาด วางกลยุทธ์ให้เฉียบ : ตอนเริ่มต้นธุรกิจบุกตลาดต่างประเทศช่วงแรก คุณชัยรัตน์ กล่าวว่า เส้นทางไม่ได้สวยหรูอย่างที่วางไว้ เพราะต้องเจออุปสรรคเรื่องคู่แข่งที่คาดไม่ถึงจากเวียดนาม ซึ่งผลิตสินค้าได้คล้ายกันแต่ราคาถูกกว่า ทั้งค่าแรงและวัตถุดิบ ถึงแม้จะปรับลดราคาสู้แต่ก็สู้ไม่ได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคา แต่กลับมาสู้กันด้วยเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย กรีนเดย์มองสินค้าใหม่และพุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้ารักสุขภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรงทั้งในยุโรปและเอเชีย เพราะคนที่รักสุขภาพจริงๆ กล้าที่จะยอมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าดีๆ ดังนั้น ลูกค้าของกรีนเดย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเปลี่ยนกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ย่อมส่งผลถึงตัวสินค้าและช่องทางจัดจำหน่าย ที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด สินค้าของกรีนเดย์จึงเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์จากแบบเดิมๆ มาเป็นซองสีขาวดูสะอาดตา และยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้ ที่ค่อยๆ เริ่มมีสีสันมากขึ้น ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการวางสินค้าใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน
  3. เกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) เคล็ดลับการจัดการวัตถุดิบ : เจ้าของแบรนด์คนเดิม กล่าวว่า สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิต ดังนั้น การบริหารจัดการจึงต้องแม่นยำ หากบริหารจัดการไม่ดีสินค้าสต๊อกไว้มากก็เป็นภาระต้นทุน สินค้าไม่เพียงพอก็ไม่สามารถผลิตป้อนตามคำสั่งซื้อได้ จึงต้องวางแผนการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิต จึงเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ต้องเรียนรู้คือ เกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น ซึ่งเรียกว่า “ราคาประกัน” ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจะได้รับผลผลิตที่ตรงตามความต้องการได้อย่างแท้จริง
  4. กลยุทธ์เจาะตลาดตรงเป้าทั้งในและต่างประเทศ : ปัญหาใหญ่ที่สุดของผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ คือช่องทางจัดจำหน่าย “กรีนเดย์” ในช่วงเริ่มต้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดมากนัก ดังนั้น การที่จะนำสินค้าเข้าไปวางในห้างสรรพสินค้า ร้านโมเดิร์นเทรดหรือร้านสะดวกซื้อ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ แนะนำให้ออกบู๊ธเพื่อจะได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกับคู่ค้าอื่นๆ แต่หากมีเงินทุนยังไม่มากนัก และคิดจะเจาะตลาดต่างประเทศให้ได้ผลแต่ต้นทุนต่ำ จึงต้องมีผู้ช่วยอย่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอข้อมูลลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งทางกรมก็จะส่งรายชื่อให้เลือกว่ามีประเทศไหนบ้างที่น่าสนใจที่จะทำการค้าร่วมกัน กลยุทธ์เหล่านี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งกรีนเดย์ก็ใช้ประโยชน์ตรงนี้ไม่น้อย

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563