แม่ค้ารถพุ่มพวงเมืองนครฯ ตื่นตีสองทุกวัน หารายได้ส่งลูกเรียนแพทย์มหิดล

แม่ค้ารถพุ่มพวงเมืองนครฯ ตื่นตีสองทุกวัน หารายได้ส่งลูกเรียนแพทย์มหิดล

หลายคนคงคุ้นเคยกับ “รถพุ่มพวง” หรือรถขายกับข้าวที่ตระเวนขับไปขายของตามหมู่บ้าน ละแวกบ้านที่อาจจะอยู่ไกลตลาดหรือชุมชน รถกับข้าวหรือรถพุ่มพวงยังเข้าไปถึงตามตรอกซอกซอยต่างๆ และมาพร้อมเสียงดนตรี หรือเสียงเรียกลูกค้าดังสนั่น “รถกับข้าวมาแล้วค่ะ” สร้างสีสันให้ยามมาเยือน หลายคนคงเคยรีบกุลีกุจอออกมาหน้าบ้านเพื่อจะมาซื้อหาของกินนานาชนิด

และหลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเรียกรถกับข้าวว่า “รถพุ่มพวง” คำว่า รถพุ่มพวง น่าจะมาจากลักษณะของการห้อยสินค้าเป็นพุ่มหรือเป็นพวง เพื่อง่ายต่อการวางสินค้าและคิดราคา สะดวกต่อการหยิบจับและประหยัดพื้นที่ อีกทั้งยังบรรทุกสินค้าได้หลากหลายชนิด

รถพุ่มพวง เป็นเหมือนตลาดสดเคลื่อนที่ที่หลายคนฝากท้องได้ โดยเฉพาะยามวิกฤต COVID-19 ที่ทุกคนออกจากบ้านไปไกลๆ ไม่ได้เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ วิกฤตนี้ กลับเป็นโอกาสทองของรถกับข้าว ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เพราะสามารถส่งสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภคได้ทันที โดยแค่เดินออกมาหน้าบ้านก็สามารถหาของกินอิ่มท้องได้แล้ว รถกับข้าวจึงเป็นเหมือนทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้สะดวกรวดเร็วในราคาที่จับต้องได้

คุณน้อย-ดลจิตต์ ศรีมังมาศ เจ้าของรถพุ่มพวงหรือรถกับข้าวรายหนึ่งในอำเมืองนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตนเองเริ่มขายกับข้าวผ่านรถพุ่มพวงมาเป็นเวลานานแล้วประมาณ 15-16 ปี

“เดิมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มีอาชีพเย็บผ้ารับจ้างอยู่ในโรงงาน แต่คิดว่าค่าใช้จ่ายและเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูงจึงอยากจะกลับบ้าน ประกอบกับมีพี่สาวทำอาชีพขายกับข้าวผ่านรถกับข้าวมาก่อน จึงคิดว่าน่าจะสานต่ออาชีพนี้ได้” คุณน้อย เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

 

คุณน้อยเริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการตื่นนอนในเวลาที่ทุกคนหลับสนิทคือตื่นตั้งแต่ตี 2 (เข้านอนเวลา 2 ทุ่ม) เพื่อไปตลาดหัวอิฐที่อยู่ห่างจากบ้านในอำเภอพรหมคีรีราว 20 กิโลเมตร เพื่อมาซื้อของต่างๆ

“มีทั้งของสดอย่าง ปลา กุ้ง ไก่ ผักนานาชนิด และของแห้งอย่างขนมกรุบกรอบ ขนมในท้องถิ่นชนิดต่างๆ ที่ตื่นแต่เช้าเพราะมีของให้เลือกมากและเราก็ซื้อในปริมาณที่มากด้วย ทำให้ได้ราคาที่ถูกลง”

เมื่อซื้อของชนิดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว คุณน้อย เล่าต่อว่า จะจัดของทั้งหมดใส่ในรถโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และมาขายจุดแรกที่มีลูกค้าประจำรออยู่

“มาถึงจุดแรกเวลาประมาณ 6 โมงเช้า พี่จะเปิดเพลงเสียงดังจากรถเพื่อเรียกลูกค้า บางบ้านที่เป็นลูกค้าประจำพี่จะเดินไปถามว่าเอาอะไรไหมคะ รถกับข้าวมาแล้ว บางบ้านได้ยินเสียงเพลงจากรถของเราก็ทยอยกันมาอุดหนุนค่ะ”

คุณน้อย เล่าต่อว่า สำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมีลูกค้าประจำ ช่วงที่ขายดีจะเป็นช่วงโรงเรียนปิด แต่ถ้าโรงเรียนเปิดจะมีเงียบบ้าง แต่ก็มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าประจำและได้กำไรสูงสุดประมาณวันละ 1,200 บาท หักจากต้นทุนที่ซื้อของวันละประมาณ 12,000 บาท และค่าจ้างคนขับรถอีก 500 บาทต่อวัน

สำหรับกลุ่มลูกค้าของรถพุ่มพวงนั้น มีตั้งแต่บ้านเดี่ยวริมทาง บ้านจัดสรร ชุมชนต่างๆ กลุ่มลูกค้าจะมีตั้งแต่แม่บ้าน กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปตลาดได้สะดวก หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่เป็นร้านอาหารตามสั่งที่สั่งสินค้าจากรถกับข้าวเพื่อประหยัดเวลาและสะดวกไม่ต้องเดินทางไกลไปตลาด

โดยรถกับข้าวจะจอดให้บริการเป็นจุด จุดละประมาณ 15-20 นาที แล้วแต่กลุ่มลูกค้าจะมีมากน้อยในแต่ละจุดบริการ และในการจอดแต่ละที่จะมีช่วงเวลาที่แน่นอน ทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย

สินค้าในรถพุ่มพวงนั้นส่วนใหญ่จะมีการจัดวางให้หยิบจับได้ง่ายและจัดเป็นถุงๆ เช่น ผักถุงละ 10-20 บาท เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อ นอกจากนี้ ยังมีของสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ชั่งตามน้ำหนักหรือมีบริการขอดเกล็ดปลาให้เรียบร้อย สินค้าส่วนใหญ่จึงพร้อมที่จะนำไปปรุงอาหารได้ทันที นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤต COVID-19 ยังมีไลน์ของลูกค้าประจำเพื่อให้สามารถสั่งสินค้าที่ตนเองต้องการได้อีกด้วย โดยผู้ซื้ออาจต้องการสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษที่ไม่มีขายเป็นประจำ และสั่งล่วงหน้าในช่วงเทศกาล เช่น หัวหมู ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ผักสด เครื่องเทศชนิดต่างๆ ฯลฯ หรือเทศกาลพิเศษที่ผู้ซื้อต้องการ คุณน้อยมีบริการตรงนี้ให้ด้วย

การทำอาชีพนี้มาเป็นระยะเวลานาน คุณน้อย เล่าว่า ไม่มีอุปสรรคอะไรเพราะมีลูกค้าประจำที่รู้จักกันเหมือนเป็นญาติๆ ที่เจอกันเกือบทุกเช้า แม้จะจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่สามารถส่งลูกชายคนเดียวให้เรียนคณะแพทยศาสตร์สถาบันพระบรมราชชนก หรือ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล (PIMU) ในชั้นปีที่ 3 และการทำอาชีพขายของในรถพุ่มพวง ยังทำให้สร้างรายได้และสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดีจนถึงวันนี้