ก.เปรมศิลป์ ช่างซ่อมฉลองพระบาท รอยเท้าในหลวง ร. 9 รอยเท้าของความพอเพียง

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนคนไทย ทั้งเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงาน เรื่องการใช้ชีวิตส่วนพระองค์ ความประหยัด มัธยัสถ์ พระองค์แม้จะเป็นกษัตริย์ แต่ไม่นิยมใช้ข้าวของราคาแพง ดังจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องเหล่านี้อยู่บ่อยๆ เคยมีบทความจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่าถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ไว้ว่า ในหลวงใส่นาฬิกาเรือนละ 750 บาท เสื้อผ้าทรงมีไม่กี่ชุด ทรงใช้จนเปื่อยซีด ฉลองพระบาทคู่ละ 300 – 400 บาท หากฉลองพระบาทชำรุด พระองค์เลือกที่จะส่งซ่อมแทนการซื้อใหม่

image10

เปิดใจช่างซ่อมฉลองพระบาท
เคยตกต่ำและสูงสุดในชีวิต

ศรไกร แน่นศรีนิล หรือช่างไก่ ช่างนอกราชสำนัก ผู้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาท ในหลวง รัชกาลที่ 9 มานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันยังเป็นเจ้าของร้านซ่อมรองเท้า ก.เปรมศิลป์ บริเวณสี่แยกพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ

สำหรับประวัติช่างไก่ พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา เกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรม มีพี่น้อง 10 คน ช่างไก่เป็นลูกชายคนที่ 8 ปัจจุบันอายุ 69 ปี ด้วยความที่ไม่อยากเป็นเกษตรกร เขาเลือกเข้ามาเสี่ยงโชคหางานทำในกรุงเทพฯ กว่าปั้นปลายชีวิตจะมีพร้อมสรรพเฉกเช่นทุกวันนี้ เคยลำบากมาสารพัด ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลล้มละลาย อาศัยไม่ท้อต่อสู้มาทุกรูปแบบ

image1

“ผมทำงานหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ งานแรกที่ทำ เป็นลูกจ้างโรงงานทอกระสอบ ได้ค่าแรงวันละ 4 บาท ทำงานจนปวดหัวเข่าทนไม่ไหว ลาออกไปหัดตัดผมกับพี่ชาย เป็นช่างตัดผม ได้ค่าแรงหัวละ 3 บาท จนกระทั่งอายุ 20 ปี อยากเปลี่ยนอาชีพ เห็นว่าช่างรองเท้ารายได้ดี เลยไปเป็นลูกจ้างร้านซ่อมรองเท้า ค่าแรงวันละ 10 บาทได้วิชาติดตัวมาบ้าง”

ช่างไก่ ซ่อมรองเท้าอยู่ที่โคราชได้ไม่นาน เขาบอกว่า ตามหัวหน้าเข้ามากรุงเทพฯ ทั้งที่มีเงินติดตัวเพียง 20 บาท เข้ามาขายรองเท้า ได้เงินเดือน เดือนละ 300 บาท แต่แล้วช่วงหนึ่งของชีวิตก็เกิดปัญหา ถึงขนาดไม่มีที่อยู่อาศัย เคยไปนอนใต้สะพานลอยไปกินข้าววัด แต่แล้วโชคก็เข้าข้างได้งานทำเป็นช่างซ่อมรองเท้า อยู่แถวสี่ย่าน เงินเดือน 600 บาท เป็นช่างรองเท้านาน 20 ปี

image12

สำหรับจุดเริ่มต้น ร้าน ก.เปรมศิลป์ ช่างไก่ เล่าว่า ช่วงที่เป็นช่างซ่อมรองเท้าที่สี่ย่าน เริ่มมีความคิดอยากเปิดร้านรับซ่อมรองเท้าเป็นของตัวเอง เลยลาออกจากงานมาเช่าบ้านอาศัยอยู่กับเพื่อนแถวสี่แยกพิชัย เปิดเป็นร้านรับซ่อมรองเท้า ชื่อร้านว่า ก.เปรมศิลป์ เป็นชื่อของพ่อและแม่ พ่อชื่อ “ก.” ส่วน “เปรม” คือ ชื่อแม่ “ศิลป์” ก็คือ ศิลปะ อาชีพซ่อมรองเท้าก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง

ร้าน ก.เปรมศิลป์เป็นร้านรับซ่อมรองเท้า และตัดรองเท้า เปิดให้บริการมานานเกือบ 40 ปี เน้นตัดรองเท้าเครื่องแบบ รองเท้าที่ข้าราชการต้องใส่เข้าพิธี รวมถึงรองเท้าใส่ทำงาน และรองเท้าลำลองทั่วไป

สำหรับเหตุการณ์ที่ช่างไก่ไม่มีวันลืมในชีวิตนี้ คือ การได้เป็นช่างฉลองพระบาท ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ได้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ถึง 5 คู่ ได้ตัดรองเท้าคู่ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีก 15 คู่ รวมทั้งยังได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทของสมเด็จพระเทพฯอีกด้วย

ผมไม่เคยเข้าเฝ้าไม่เคยไปรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเลยสักครั้ง ได้แต่ติดตามสิ่งที่พระองค์ทำตามสื่อต่างๆ แต่การที่ได้มีโอกาสถวายรับใช้พระองค์ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต เหนือที่จะบรรยาย สำหรับลูกชาวนาธรรมคนหนึ่ง”

image8

น้อมนำความพอเพียงมาใช้
ชีวิตนี้ไม่เสียดายอะไรแล้ว

เหตุการณ์ในวันที่เปลี่ยนชีวิตช่างไก่ เขาเล่าว่า ประมาณปี 2546 มีลูกค้าสวมชุดพระราชสำนักมา 2 คน เดินประคองถุงผ้าลายสก๊อต ด้านในเป็นรองเท้าเข้ามาในร้าน พอวางรองเท้าลงก็ก้มลงกราบ เลยถามว่า เอาอะไรมาให้ ลูกค้ารายนั้นตอบว่า ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ยินเท่านั้น ทำตัวไม่ถูก ขนลุก พูดอะไรไม่ถูก ในใจคิดแต่เพียงว่า โชคดีแล้ว ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสได้ซ่อมรองเท้าของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ช่างไก่ เล่าว่า รองเท้าคู่แรกที่ในหลวง ร. 9 ทรงนำมาซ่อม เป็นรองเท้าหนังสีดำ ทรงคัทชู แบรนด์ไทย เป็นฉลองพระบาทคู่โปรดของพระองค์ เบอร์ 43 เท่าที่สังเกตสภาพชำรุดทรุดโทรม ราวกับใส่ใช้งานมาแล้วหลายสิบปี ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดลอกหลายแห่ง ถ้าเป็นคนทั่วไปจะแนะนำให้ทิ้งแล้วซื้อใหม่

“จริงๆ ผมใช้เวลาซ่อมรองเท้าคู่นั้นไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เสร็จ แต่ด้วยความที่อยากให้รองเท้าคู่นั้นอยู่ในบ้านให้นาน เลยบอกเจ้าหน้าที่ว่า ใช้เวลาซ่อม1 เดือน ซึ่งฉลองพระบาทคู่นี้ ทรงโปรดใช้ทรงดนตรี”

image6

นับจากนั้นเป็นต้นมาช่างไก่ยังมีโอกาสได้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทอีกหลายคู่ ซึ่งคู่ที่ 2 และคู่ที่ 3 เป็นรองเท้าหนังสีดำ ทรงคัทชู คู่ที่ 4 ฉลองพระบาทหนังวัว ทรงฮาฟมักใส่ในงานราชพิธี ซึ่งฉลองพระบาทคู่นี้ มีรอยพระบาทติดมากับแผ่นรองเท้า ช่างไก่เก็บแผ่นรองเท้าไว้ที่ร้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนฉลองพระบาทคู่ที่ 5 ทรงนำมาเปลี่ยนพื้น ฉลองพระบาทคู่ที่ 6 เป็นรองเท้าเปิดส้น ซึ่งคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงกัด รวมแล้วทั้งหมด 6 คู่

“ผมซ่อมฉลองพระบาททุกคู่อย่างสุดความสามารถ ซึ่งรองเท้าของพระองค์จะนำไปวางปนกับของลูกค้าคนอื่นไม่ได้ เลยซื้อพานมาใส่พร้อมกับผ้าสีเหลืองมารอง แล้วนำไปวางไว้ที่สูงที่สุดในร้าน เพราะท่านคงทรงโปรดมาก สภาพรองเท้าชำรุดมาก ซับในรองเท้าหลุดออกมาหมด ถ้าเป็นเศรษฐีทั่วไปคงจะไม่นำมาใช้แล้ว แต่นี่พระองค์ยังทรงใช้คู่เดิมอยู่”

image7

สิ่งที่ทำให้ช่างไก่ปลาบปลื้มไปชั่วชีวิต คือ การได้ตัดฉลองพระบาทถวายไปจำนวน 15 คู่ ด้วยหนังแกะ ถวายครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557 และที่กิจการรุ่งเรืองดีได้ถึงขนาดนี้ เจ้าตัวเชื่อว่า เป็นเพราะบารมีของในหลวง ร.9ทำให้ร้านซ่อมรองเท้ากลายเป็นที่รู้จัก มีคนมาใช้บริการไม่ขาดสาย

ประการสำคัญที่ทำให้ชายผู้นี้ได้เรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “ความพอเพียง” ขนาดฉลองพระบาทขาดและเก่ายังส่งมาซ่อม หากคนไทยเดินตามรอยของพระองค์ท่าน ชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อจะเป็นสุขกันมากกว่านี้

“ชีวิตนี้ผมไม่เสียดายอะไรแล้ว เพราะครั้งนึงเคยได้ถวายงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน รู้สึกภูมิใจมาก ยังมีอีกหลายล้านคนที่ไม่มีโอกาสตรงนี้ ในร้าน ก.เปรมศิลป์ ยังมีรอยพระบาทของพระองค์อยู่ ถึงไม่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน แต่จะนำคำสอนของพระองค์มาใช้ และเชื่อว่าทุกคนในประเทศก็สามารถนำคำสอนของพระองค์ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้” ช่างไก่ เล่าพร้อมกลั้นน้ำตาลูกผู้ชายเอาไว้ไม่ไหว