อดีตนักข่าวสาว ผันตัวทำ ผ้าคาดผมผ้าไหม ขายสู้โควิด-19

อดีตนักข่าวสาว ผันตัวทำ ผ้าคาดผมผ้าไหม ขายสู้โควิด-19

ผ้าไหม เป็นผ้าพื้นเมืองประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผ้าที่มีความคงทนอายุการใช้งานนาน รวมทั้งมีความสวยงาม ความแวววาวของเนื้อผ้าไหม เหล่าสุภาพสตรี รวมถึงสุภาพบุรุษที่ชื่นชอบและหลงใหลในความงามของผืนผ้า จึงนิยมนำมาตัดเย็บเป็นชุดเพื่อสวมใส่กัน

คุณไก่-สุภาพร เอ็ลเดรจ วัย 41 ปี เจ้าของสินค้าจากผ้าไหม แบรนด์ SUPA East Glamor (สุภา อีสต์ แกลมเมอร์)

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้พูดคุยกับ คุณไก่-สุภาพร เอ็ลเดรจ วัย 41 ปี เจ้าของสินค้าจากผ้าไหม แบรนด์ SUPA East Glamor (สุภา อีสต์ แกลมเมอร์) ผู้ประกอบการอีกหนึ่งรายที่ทำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหม โดยเธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ให้ฟังว่า เดิมทีเธอเคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสมาก่อน จากนั้นจึงผันตัวมาเป็นนักข่าว ทำไปได้สักพักเธอรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานในสายอาชีพนี้ จึงลาออกมาเริ่มธุรกิจผลิตสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหม

“พี่เคยทำงานเป็นแอร์ฯ กับ นักข่าว มาก่อน ก็อิ่มตัวเลยลาออก ด้วยความที่พี่เป็นเด็กต่างจังหวัด แล้วคุณแม่จะพาไปบ้านตา เป็นหมู่บ้านเล็กๆพี่ป้าน้าอาก็ทอผ้ากันพี่เลยซึมซับและชื่นชมความงามของผ้า และทึ่งในกระบวนการทอ ก็รู้สึกว่ามันสวยดีนะ เลยเกิดเป็นความชอบ พอโตขึ้นมีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆ พี่ไปเจอที่ไหนเขาทอสวยๆ ก็จะซื้อมาเก็บไว้ตลอด ก็คิดมาเสมอว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากทำเสื้อผ้าเกี่ยวกับผ้าไหมให้มันดูสวยงาม ทันสมัย เพราะผ้าไหมคนจะติดภาพความเก่า ไม่ทันสมัย พอลาออกจากงานก็เลยได้โอกาส ก็ทำเลย เอาผ้าไปให้ช่างตัด แต่ก็ไม่ถูกใจเราเท่าไหร่ พี่ก็เลยหันมาทำแบรนด์เอง เลยเกิดเป็น SUPA East Glamor ขึ้นค่ะ” คุณไก่ เล่า

เธอเผยต่อว่า หลังจากได้ไอเดียต่อยอดมาพัฒนาสินค้าจากผ้าไหมแล้ว เธอก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้สินค้าของพี่หลักๆ ก็จะเป็นที่คาดผมกับหมวกผ้าไหม มีพวกต่างหูนิดหน่อย ด้วยดีไซน์ที่มันเก๋ ทันสมัยและสีสันสดใส เลยดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นได้ค่อนข้างเยอะ เพราะมันใส่ทำงานได้ ใส่ไปเที่ยวก็ได้ แล้วมันเป็นแฮนด์เมด เป็นงานฝีมือที่มีไม่กี่ชิ้นในโลก ฉะนั้นราคามันก็จะค่อนข้างสูงนิดหน่อย เพราะผ้าพี่ก็ซื้อจากมูลนิธิร้านจิตรลดาในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พวกที่คาดผม พี่ก็จ้างแรงงานชาวบ้านกับกลุ่มผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่ให้มาปักลาย ก็ช่วยกระจายรายได้ให้ชาวบ้านไปในตัว ตอนทำแบรนด์แรกๆ ก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะดีไม่ดี แต่ก็ลองดู เพราะอยากให้คนได้สัมผัสและส่วนหนึ่งพี่ก็มั่นใจว่ามันไปได้ เพราะเรามีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนคือกลุ่มคนที่ชอบผ้าไหม” เจ้าของแบรนด์คนเดิม กล่าว

แต่เส้นทางของการทำธุรกิจเป็นของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วยิ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ยิ่งทวีความยากลำบากเข้าไปอีก

“เปิดตัวมาได้ประมาณ 2 เดือน และกำลังเตรียมจะขายคอลเล็กชั่นใหม่เลยค่ะ แต่ก็มาเจอโควิด-19 เข้า พี่ก็ปรึกษากับหุ้นส่วนที่เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานด้วยกันว่า เราจะทำยังไงกันดี ก็ปรึกษากันและออกมาเป็นสินค้าเซตสู้โควิด คือเป็นหน้ากากกับที่คาดผม มีต่างหูทำมือด้วยนิดหน่อย พอขายได้ก็เอาเงินไปช่วยบริจาคที่โรงพยาบาล แต่มันก็ไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะคิดว่าคงขายได้แค่ช่วงโควิด แต่กลายเป็นว่า ลูกค้าจำนวนมาก สั่งซื้อเฉพาะคาดผมผ้าไหม เราเลยมองเห็นว่าไอเทมนี้เป็นสินค้าคลาสสิกที่เราจะขายได้ตลอด จากเซตโควิด ที่ทำเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนในช่วงวิกฤต กลายเป็นไอเทมประจำแบรนด์ และต่อยอดมาเป็นหมวกผ้าไหมสุดฮิต ที่สร้างรายได้หลักให้เราตอนนี้” คุณไก่ กล่าว

ดีไซเนอร์และหุ้นส่วนคู่บุญคุณไก่

เธอยังเผยต่อว่า ที่ทำแบรนด์สินค้าผ้าไหมนี้ขึ้น นอกจากความรักผ้าทอมือ ผ้าไทย และผ้าไหมของเธอแล้ว คุณไก่ยังอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผ้าไทยมากขึ้น ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ในอนาคตผ้าไทยจะยังได้รับความนิยม และอาชีพช่างทอผ้าจะได้รับการสืบทอดต่อไป

“คนที่มาซื้อของพวกนี้ ก็เป็นคนที่ชอบเล่นโซเชียลอยู่แล้ว ช่วงโควิดคนอยู่บ้านก็ยิ่งเล่นโซเชียลกันมากขึ้น พี่ก็ยิ่งโพสต์ลงเพจร้านเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้บางคนอยู่แต่บ้านจนเครียด ก็มาซื้อไปใส่ถ่ายรูปแก้เครียดเหมือนกัน พอไปทำงานได้เขาก็ยังใส่ไปทำงานได้อีก เดือนที่แล้วก็มีรายได้ราวๆ หลักแสนเลย อนาคตก็อยากทำเป็น OEM กับ Costume made เหมือนกัน มีพวกเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ปลอกหมอน เซตผ้ารองจานให้ครอบคลุมขึ้น แต่ตอนนี้ก็กำลังหาดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์และเรื่องการเคลือบนาโนกันน้ำอยู่ พี่ก็อยากให้ผ้าไทยจะยังได้รับความนิยม และอาชีพช่างทอผ้าจะได้รับการสืบทอดต่อไป” คุณไก่ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถเข้าไปดูและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก SUPA East Glamor

เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2563