ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ขายดี! มะพร้าวน้ำหอมออร์เดอร์ล้น สู้โควิด-19 แนะ 3 ข้อ หากจะส่งออกสินค้าเกษตร
เป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่ไม่ได้รับผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สำหรับ ‘มะพร้าวน้ำหอม’ เพราะตลาดมะพร้าวน้ำหอมส่งออกช่วงเวลานี้กลับออร์เดอร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน อีกทั้งคลี่คลายโรคระบาดได้แล้ว
คุณณฐพงษ์ วรรธนะมณีกุล เจ้าของ บริษัท วิไลอินเตอร์ จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม เล่าว่า ก่อนจะมาส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ก่อนหน้านี้ขายผลไม้ที่ตลาดไท มองเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดมะพร้าวน้ำหอม เนื่องจากเห็นว่าคนจีนชอบ เลยบินไปหาคู่ค้าในตลาดจีน ในที่สุดก็ได้การตอบรับ
“4 ปีที่แล้ว ผมสังเกตว่าคนจีนชอบมะพร้าวน้ำหอมของไทยมาก เลยเริ่มส่งออกตั้งแต่บัดนั้น การเติบโตเป็นไปด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไม่ลดลง มีออร์เดอร์การสั่งมะพร้าวน้ำหอมเข้ามามากเหมือนเดิม อีกทั้งเดือนมีนาคมเป็นช่วงฤดูร้อน ความต้องการมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ เจอภัยแล้งผลผลิตออกน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ”
สำหรับจำนวนการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปจีน คุณณฐพงษ์ บอกว่าเดิมอยู่ที่วันละ 2-3 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 50 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ผลผลิตมีน้อยจะส่งได้แค่เฉลี่ยวันละ 1-2 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือเดือนละประมาณ 20-30 ตู้คอนเทนเนอร์
อย่างไรก็ตาม การส่งผลไม้ไปจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คุณณฐพงษ์ เจอปัญหาปิดประเทศ ปิดท่าเรือต่างๆ เจอภาวะขาดทุนบ้าง แต่โชคดีที่จีนฟื้นตัวไว เดือนมีนาคมจีนเปิดประเทศได้เร็ว ผลไม้ไทยส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าผ่านทางฮ่องกง เซินเจิ้น และกว่างโจว หลังจากนั้นจึงนำไปกระจายยังมณฑลอื่นๆ ต่อไป
คุณณฐพงษ์ กล่าวถึงราคามะพร้าวน้ำหอมไทยว่า ราคามะพร้าวน้ำหอมไม่แน่นอน ในช่วงที่จีนปิดประเทศ ส่งออกไม่ได้ มะพร้าวเหลือเพียงลูกละ 6–7 บาท แต่วันนี้ปรับตัวขึ้นมา ราคาหน้าสวนอยู่ที่ลูกละ 12 บาท และมีแนวโน้มว่าอาจจะขยับไปถึงลูกละ 17 บาท ซึ่งแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมมีมากในแถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม และ สมุทรสาคร
การแข่งขันในตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไทย คุณณฐพงษ์ ให้ข้อมูลว่า มีคู่แข่งหลัก เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย แต่ประเทศไทยยังเป็นเบอร์หนึ่ง เพราะมะพร้าวน้ำหอมไทยมีความหอมหวาน เพียงแค่ประทับตราว่า “มะพร้าวอ่อนน้ำหอมจากประเทศไทย” ก็กินขาด แต่ก็อย่าประมาทเวียดนาม เพราะได้พัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมให้มีความหอมหวานเช่นเดียวกับประเทศไทย
สำหรับใครที่สนใจส่งออกสินค้าเกษตร มีขั้นตอนการส่งออก มาแนะนำ
1. ขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย กับกรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรประจำตัวผู้ส่งออกไว้ใช้ในการออกหนังสือรับรองและใบอนุญาตต่างๆ โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด)
2. การยื่นเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืช จากกรมวิชาการเกษตร และ เตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการนำเข้าไปยังจีน
3. พิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรส่งออกสินค้าจากไทย
เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2563