ข้าราชการครูเก่ากับอาชีพเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน ไม่ยุ่งยาก เลี้ยงง่ายโตเร็ว ทำเงินดี

ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์เมื่อ อาจารย์สุรชาติ เรือแก้ว ได้ทิ้งอาชีพข้าราชการครูและหันมาเอาดีทางการเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา โดยท่านบอกว่าแม้จะไม่ได้ร่ำรวย แต่ได้ทุกสิ่งที่อยากได้และถือว่าไม่ยากจน

อาจารย์และภรรยา ขณะให้อาหารปลา
อาจารย์และภรรยา ขณะให้อาหารปลา

อาจารย์สุรชาติ เรือแก้ว ครูเก่าเล่าถึงประวัติให้ฟังว่า เป็นคนดอกคำใต้โดยกำเนิด ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 1 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ตอนนี้อายุ 63 ปี จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเชียงราย วิชาเอกประถม เมื่อจบออกมาไปเป็นครูเอกชนที่โรงเรียนพินิตประสาธน์ที่ตัวเมืองพะเยาก่อน 3 ปี จึงบรรจุเข้ารับราชการเมื่อปี 2519 ที่โรงเรียนบ้านทุ่งกาชัย ตำบลบ้านปิน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ตำแหน่งหลังสุดคือผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนบ้านดอกคำใต้ ก่อนจะขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออรี่) เมื่อปี 2551 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ในช่วงที่รับราชการ ได้เลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม และซื้อที่ดินจำนวน 6 ไร่ เอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด เป็นที่นา ต่อมาทางสภาตำบลดอกคำใต้ทำถนนผ่านที่ ทำให้การคมนาคมเข้าฟาร์มมีความสะดวกสบาย จึงได้ขุดบ่อๆ ละ 2 งาน จำนวน 4 บ่อ เมื่อเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ได้สมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลา บ้านต๊ำเมืองพะเยาจำกัด ต่อมาตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลารักษ์ดอกคำใต้ ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมงของสภาเกษตรกรจังหวัดพะเยา

ปลานิลที่เลี้ยง
ปลานิลที่เลี้ยง

สำหรับปลาที่เลี้ยงมี 3 ชนิดคือ ปลาดุก ปลานิล และปลาบึก แต่ปลาที่ทำรายได้ให้อาจารย์สุรชาติคือปลาดุกและปลานิล

ปลาดุก สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และในกระชัง แต่ส่วนมากนิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งขนาดบ่อดินที่เหมาะสมควรมีขนาดไม่เกิน 1 ไร่

ปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกสถานที่สร้างบ่อเลี้ยงปลา มีดังนี้

สถานที่ไม่เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอนเกินไป สามารถจัดระบบน้ำ ระบายน้ำเข้า-ออกได้ดี สภาพดินควรเป็นดินเหนียว สามารถทำเป็นคันบ่อเก็บกักน้ำได้ สภาพน้ำต้องเป็นน้ำสะอาด ปราศจากสารพิษของโลหะหนัก หรือยาฆ่าแมลง หรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ทางคมนาคมสะดวก

 การเตรียมบ่อเลี้ยงปลา มีวิธีการเตรียมบ่อดังนี้

บ่อใหม่ ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินในอัตรา 60-100 กิโลกรัม/ไร่ โดยให้ทั่วพื้นบ่อ

ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 200 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยให้ทั่วบ่อ เติมน้ำให้ได้ระดับ 40-50 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 3-5 วัน จนน้ำเริ่มเป็นสีเขียว ระวังอย่าให้เกิดแมลง หรือศัตรูปลา

บ่อเลี้ยงปลา สังเกตมีการทำร่มให้ปลาด้วยแสลน
บ่อเลี้ยงปลา สังเกตมีการทำร่มให้ปลาด้วยแสลน

บ่อเก่า ทำความสะอาดบ่อ ลอกเลนให้มากที่สุด ใส่ปูนขาวอัตรา 60-100 กิโลกรัม/ไร่ ตากบ่อให้แห้ง ประมาณ 7-15 วัน นำปุ๋ยคอกใส่ถุงแขวนไว้ตามมุมบ่อประมาณ 60-100 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติ เติมน้ำ 40-50 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 3-5 วัน จนน้ำเป็นสีเขียว ก่อนปล่อยปลาควรตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำอีกครั้ง ถ้าไม่ถึง 7.5-8.5 ควรนำปูนขาวละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เพื่อปรับความเป็นกรด-ด่างให้ได้ 7.5-8.5

การเตรียมพันธุ์ปลา การเลือกซื้อลูกปลา ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้

แหล่งพันธุ์หรือบ่อเพาะฟัก ควรดูจากความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ในเรื่องคุณภาพ มีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพ มีความชำนาญในการขนส่งลูกปลา

ลักษณะภายนอกของลูกปลาต้องปกติสมบูรณ์ ซึ่งสังเกตจากการว่ายน้ำต้องปราดเปรียว ไม่ว่ายควงสว่าน หรือลอยตัวตั้งฉากพื้นบ่อ ลำตัวสมบูรณ์ หนวด หาง ครีบ ไม่กร่อน ไม่มีบาดแผล ไม่มีจุดหรือปุยขาวเกาะ ขนาดลูกปลาต้องเสมอกัน การปล่อยลูกปลาบ่อเลี้ยง เมื่อขนส่งลูกปลามาถึงบ่อที่เตรียมไว้ ควรแช่ถุงปลาไว้ในบ่อประมาณ 10-15 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิระหว่างน้ำในถุงกับน้ำในบ่อเพื่อป้องกันลูกปลาช็อก ก่อนปล่อยลูกปลาควรมีการทำร่มเงาไว้ในบ่อให้ลูกปลาได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย อัตราการปล่อย เกษตรกรรายใหม่ ควรปล่อยลูกปลาขนาดปลานิ้ว จะทำให้อัตราการรอดสูง อัตราการปล่อยปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร ปล่อย 80,000-100,000 ตัว/ไร่ ก่อนปล่อยควรสุ่มนับจำนวนเพื่อคำนวนปริมาณในการให้อาหาร

บ่อดินเลี้ยงปลา
บ่อดินเลี้ยงปลา

ต้นทุนการผลิตปลาประมาณ 80% เป็นค่าอาหาร เพราะฉะนั้น การเลี้ยง การให้อาหาร เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ การเลือกซื้ออาหาร ลักษณะของอาหาร สีสันดี กลิ่นดี ไม่เหม็นหืน ขนาดเม็ดสม่ำเสมอ ไม่เป็นฝุ่น การลอยตัวของอาหารในน้ำอยู่ได้นาน อาหารไม่เปียกชื้น ไม่จับตัวเป็นก้อน ไม่ขึ้นรา ประเภทของอาหารสำเร็จรูป อาหารสำหรับลูกปลาวัยอ่อน ใช้สำหรับลูกปลาขนาด 1–4 เซนติเมตร อาหารปลาดุกเล็กพิเศษ ใช้สำหรับลูกปลาขนาด 3 เซนติเมตร 1 เดือน อาหารปลาดุกเล็กใช้สำหรับปลาอายุ 1-3 เดือน อาหารปลาดุกใหญ่ ใช้สำหรับปลาอายุ 3 เดือน

วิธีการให้อาหารปลา เมื่อปล่อยลูกปลาวันแรกไม่ต้องให้อาหาร แต่จะเริ่มให้อาหารในวันถัดไป อาหารที่ให้เป็นอาหารลูกปลาวัยอ่อน พรมน้ำแล้วนวดจนเหนียว ปั้นเป็นก้อนแล้วเสียบกับไม้ ปักไว้รอบบ่อ ปริมาณที่ให้ต้องให้ปลากินหมดภายในเวลา 30-60 นาที โดยให้อาหารประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจให้อาหารปลาดุกเล็กพิเศษโดยการแช่น้ำให้นิ่ม แล้วปั่นรวมกับอาหารลูกปลาวัยอ่อนให้ปลากิน เมื่อปลาโตพอจะกินอาหารเม็ดได้ก็เริ่มให้อาหารปลาดุกเล็กพิเศษอย่างเดียวด้วยการหว่านให้กินกระจายทั่วบ่อ ปริมาณที่ให้กะหมดภายใน 30 นาที ให้กินจนลูกปลาอายุ 1 เดือน ให้อาหารปลาดุกเล็ก การให้ในแต่ละมื้อควรให้ปลากินหมดภายใน 30 นาที ช่วงนี้ควรเริ่มฝึกให้ปลากินอาหารเป็นที่ โดยให้อาหารจุดเดิมประจำด้วยการเคาะหลักไม้ทุกครั้งเมื่อมีการให้อาหาร

การให้อาหารปลาจะให้ 2 มื้อต่อวัน ให้อาหารปลาดุกเล็กจนลูกปลามีอายุ 2 เดือน ส่วนการให้อาหารปลาดุกใหญ่นั้น ปริมาณที่ให้แต่ละมื้อจะต้องให้ปลากินหมดภายใน 30 นาที โดยให้อาหาร 2 มื้อ ในกรณีปลาป่วยหรือกินอาหารลดลง ให้ลดปริมาณอาหารลงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ให้ปกติ ในกรณีเกิดจากสภาพน้ำหรือการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ให้ปรับสภาพน้ำโดยทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือใส่เกลือ หรือปูนขาว ถ้าพบว่าปลาที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียให้ผสมยาปฏิชีวนะ 3-5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินติดต่อกัน 7 วัน เช่น อ๊อกซี่เตตร้าไซคลิน ถ้าเกิดจากพยาธิภายนอก ให้รักษาตามลักษณะของพยาธินั้นๆ เช่น ถ้าพบปลิงใส เห็บระฆัง เกาะจำนวนมาก หรือทยอยตาย ให้ใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-40 ซีซี/น้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นหรือสาดลงในบ่อแช่ทิ้งตลอด

สำหรับปลานิลนั้น รูปร่างของปลานิลคล้ายปลาหมอเทศ แต่ลักษณะพิเศษของปลานิลมีดังนี้คือ ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ที่บริเวณแก้มมีเกล็ด 47 แถว ตามลำตัวมีลายขวางจำนวน 9-10 แถบ นอกจากนั้นลักษณะทั่วไปมีดังนี้

ครีบหลังมีเพียง 1 ครีบ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนเป็นจำนวนมาก ครีบก้นประกอบด้วยครีบแข็งและอ่อนเช่นกัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง บริเวณส่วนอ่อนของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางนั้นจะมีจุดสีขาวและสีดำตัดขวางแลดูคล้ายลายข้าวตอก

 

ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน

ควรกำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวาให้หมดก่อนโดยนำมากองสุมไว้แห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมัก ในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยง ถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้น โดยนำไปเสริมคัดดินที่ชำรุด หรือใช้เป็นปุ๋ยแก่พืช ผัก ผลไม้ พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและอัดดินให้แน่น

กำจัดศัตรูของปลานิล ได้แก่ ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์จำพวก กบ เขียด งู เป็นต้น โดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด การกำจัดศัตรูของปลาอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้ง ประมาณ 1 กิโลกรัม ปริมาณของน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร ทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียด นำลงแช่น้ำประมาณ 1-2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆ ครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังโล่ติ๊นประมาณ 30 นาที แล้วใช้สวิงจับขึ้นมา ที่เหลือจะตายในพื้นบ่อก่อนจะลอยขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ส่วนศัตรูจำพวกกบ เขียดและงูจะหนีออกจากบ่อไป และก่อนจะปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวหมดเสียก่อน

การใส่ปุ๋ย โดยปกติแล้วอุปนิสัยในการกินอาหารของปลานิลจะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ แหน สาหร่าย ฯลฯ ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงปลาควรให้อาหารธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปเพื่อละลายเป็นธาตุอาหาร ซึ่งพืชน้ำขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหารและเจริญเติบโต โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นโซ่อาหารอันดับต่อไปคือแพลงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ ไร่น้ำ และตัวอ่อนของแมลง ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่ มูลวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ นอกจากปุ๋ย ที่ได้จากมูลสัตว์ แล้วก็อาจใช้ปุ๋ยหมักจำพวกหญ้าและฟางข้าวปุ๋ยสดต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอกในระยะแรก ควรใส่ประมาณ 250-300 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตจากสีของน้ำในบ่อ ถ้ายังมีสีเขียวอ่อนแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติเพียงพอ ถ้าน้ำปราศจากอาหาร ธรรมชาติจะเพิ่มอัตราส่วนให้มากขึ้น และในกรณีที่หาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็อาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15 : 15 : 15 ใส่ประมาณ 5 กิโลกรัม/ไร่/เดือนก็ได้ วิธีใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากบ่อให้แห้งเสียก่อน เพราะปุ๋ยสดจะทำให้น้ำมีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อให้ละลายน้ำทั่วๆ บ่อ ส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้นควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2-3 แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

อัตราปล่อยปลาเลี้ยงในบ่อดิน ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ อาหาร และการจัดการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาขนาด 3-5 เซนติเมตร ลงเลี้ยงในอัตรา 1-3 ตัว/ตารางเมตร หรือ 2,000-5,000 ตัว/ไร่

การให้อาหาร การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก แต่เพื่อเร่งให้ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตขึ้นหรือถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำปลายข้าว กากมะพร้าว มันสำปะหลัง หั่นต้ม ให้สุก และเศษเหลือของอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น กากถั่วเหลืองจากโรงทำเต้าหู้ กากถั่วลิสงอาหารผสมซึ่งมีปลาป่น รำข้าว ปลายข้าว มีจำนวนโปรตีนประมาณ 20% เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหน สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกชนิดที่มีราคาถูกและหาได้สะดวก ส่วนปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรเป็น 4% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือจะใช้วิธีสังเกตจากปลาที่ขึ้นมากินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำคือ ถ้ายังมีปลานิลออกันอยู่มากเพื่อรอกินอาหารก็เพิ่มจำนวนอาหารมากขึ้นตามลำดับทุก 1-2 สัปดาห์ ในการให้อาหารสมทบมีข้อพึงควรระวังก็คือ ถ้าปลากินไม่หมด อาหารจมพื้นบ่อ หรือละลายน้ำมาก อาจทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง และ/หรือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสูบถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ

 

การเจริญเติบโตและผลผลิต

ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะมีขนาดเฉลี่ย 500 กรัม ในเวลา 1 ปี ผลผลิตไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี กรณีที่เลี้ยงในกระชังที่คุณภาพน้ำดีมีอาหารสมทบอย่างสมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร

 

การจับจำหน่ายและการตลาด

ระยะเวลาการจับจำหน่ายไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับขนาดของปลานิลและความต้องการของตลาด โดยทั่วไปเป็นปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อรุ่นเดียวกันจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจับจำหน่าย เพราะปลานิลที่ได้จะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดที่ต้องการ ส่วนปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน ระยะเวลาการจับจำหน่ายขึ้นอยู่กับราคาปลาและความต้องการของผู้ซื้อ

อาจารย์สุรชาติบอกว่า ปลาบึกเป็นปลาที่ใช้เวลาเลี้ยงนานซึ่งไม่ขอกล่าวถึง สำหรับพันธุ์ปลาจะซื้อจากผู้เพาะขาย อย่างปลาดุกซื้อจากนครปฐมในราคาตัวละ 50-60 สตางค์ เลี้ยงประมาณ 30,000 ตัวต่อบ่อ อัตราการตายประมาณ 20% อายุ 3 เดือน 25 วันก็จับขาย น้ำหนักประมาณ 4 ตัว/กิโลกรัม ส่วนปลานิลซื้อจากสหกรณ์ฯ ตัวละ 38 สตางค์ ปล่อยประมาณ 3,000 ตัวต่อบ่อ อายุ  8 เดือนก็จับขาย เฉลี่ยตัวละประมาณ 8 ขีด หากเปรียบเทียบการเลี้ยงปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ การเลี้ยงปลานิลจะทำกำไรดีกว่าปลาดุก แต่จะมีปัญหาเรื่องการช็อกน้ำ ต้องจัดระบบการหมุนเวียนน้ำในบ่อให้ดี

อาจารย์สุรชาติกล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงปลาของตนเองถึงแม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็อยู่ในฐานะที่สบาย อยากได้อะไรก็สามารถซื้อได้ด้วยเงินจากการเลี้ยงปลา และไม่ถือว่ายากจน ขออย่างเดียวคือความขยัน เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ไม่มีความยากจนในหมู่ชนที่ขยันนั้นถูกต้องที่สุด

สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงปลาแบบบ่อดินติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 08-1980-1953