ดังไกลถึงต่างแดน! “เครื่องเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี” งานสวย คุณภาพดี ออร์เดอร์ล้น

ดังไกลถึงต่างแดน! “เครื่องเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี” งานสวย คุณภาพดี ออร์เดอร์ล้น

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้มีโอกาสเดินทางไป บ้านเบญจรงค์ ดอนไก่ดี ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถีชุมชนหนึ่ง ในตำบลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นชุมชนที่สืบทอดการผลิตเครื่องเบญจรงค์ จนเป็นชุมชนขึ้นชื่อเรื่องเบญจรงค์ เป็นอย่างมาก

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล
ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

เครื่องเบญจรงค์ของบ้านดอนไก่ดี ถือได้ว่ามีความสวยงาม ประณีต และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นไทยไว้ในลวดลายบนเครื่องปั้นเคลือบ ที่เขียนลายแบบการลงยาอย่างประณีต โดยใช้สี 5 สี ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ของที่นี่ จนในปี พ.ศ. 2546 ผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ บ้านดอนไก่ดี ได้รับรางวัลสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ที่มีมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งได้รางวัลชุมชนดีเด่น ด้านการท่องเที่ยวในปี 2550 ด้วย

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล
คุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี

คุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ได้เล่าให้ฟังว่า กลุ่มชาวบ้านในชุมชน ส่วนมาก เป็นกลุ่มลูกจ้างของโรงงานผลิตชามตราไก่ เมื่อหลายสิบปีก่อน เธอเป็นเพียงเด็กอายุ 10 ปี ที่ทางบ้านฐานะยากจน ตามพ่อแม่เข้ามาทำงานและเรียนรู้งานเซรามิกในโรงงาน และย้ายไปทำงานแผนกเขียนลายเพราะช่างคนเก่าลาออก คุณอุไรเป็นช่างเขียนลายมาได้ 20 ปี โรงงานก็ปิดตัวลง เธอและคนงาน จึงกลายเป็นคนตกงาน ออกรับจ้างเขียนลายเซรามิกให้โรงงาน พอที่จะมีเงินมาเลี้ยงปากท้องได้

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล
ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

“ทำงานในนั้นมาก็หลายสิบปีเนอะ พอโรงงานปิดตัว เราก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ แต่ดีที่มีความรู้เรื่องการทำเบญจรงค์ติดตัวมาจากโรงงาน เลยไปรับงานเขียนลายจากโรงงานอื่นหารายได้กันไป ตอนนั้นป้ามีเงินเก็บอยู่ประมาณ 2 หมื่น ก็เอาไปซื้อพวกเครื่องเซรามิกขาว มานั่งลงสี เรียกคนที่ตกงาน จากโรงงานชามไก่เหมือนกันมาช่วยกัน สอนคนที่ลงสีไม่เป็นให้หันมาทำ แล้วก็เอาไปขาย ได้เงินมาก็เอามาทำแบบนี้เรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จัก และความต้องการของตลาดมีมากขึ้น เลยรวมตัวตั้งกลุ่มกันไปของบประมาณจากกรมพัฒนาชุมชน  มาต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่มี และพัฒนารูปแบบ จากถ้วยชามลายคราม มาเป็นเครื่องเบญจรงค์ แล้วก็พัฒนาลวดลายเครื่องเบญจรงค์ ให้สวยงามต่างจากที่อื่นๆ จนตอนนี้ป้าเอง ก็อยู่ในวงการเครื่องเบญจรงค์มาได้เกือบ 40 ปีแล้ว” คุณอุไร กล่าว

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

คุณอุไร เล่าเสริมว่า ชาวต่างชาติจะนิยมและชอบเครื่องเบญจรงค์ของบ้านดอนไก่ดีมาก จนมีกรุ๊ปทัวร์มาดูงานประจำ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ที่มีมาลองฝึกทำเป็นเดือนๆ แม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี หมู่บ้านเบญจรงค์แห่งนี้ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้หมู่บ้านเรายังอยู่ได้ เพราะยึดหลัก ของต้องมีคุณภาพ อย่าเอาแต่ขาย เบญจรงค์ของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีทุกชิ้น มีการผลิตอย่างละเอียดประณีต ไม่เคยทำงานส่งๆ แม้แต่ชิ้นเดียว เลยทำให้ลูกค้าเชื่อใจ และยังซื้อเครื่องเบญจรงค์จากเรากัน อีกทั้งราคาเบญจรงค์ของที่นี่ มีหลายราคาให้เลือกซื้อ ตั้งแต่ 80 บาท ไปจนถึงหลักแสน” คุณอุไร กล่าว

การบริหารงานในชุมชนแห่งนี้ เป็นการจัดการกันเองในชุมชน โดยการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร โดยใช้ความถนัดของแต่ละคนเป็นเกณฑ์แบ่ง โดยที่บ้านดอนไก่ดี มีโรงผลิตเบญจรงค์อยู่ 5 โรง แบ่งเป็น โรงปั้น 1 โรง และโรงลงลาย 4 โรง ซึ่งมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ

โรงลงลาย อุไรเบญจรงค์ ของคุณอุไร เน้นลวดลายเครื่องเบญจรงค์แบบโบราณในสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 5 และลวดลายใหม่ๆ เช่น ลายตลาดน้ำ และลายการละเล่นสงกรานต์ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทยไว้บนเครื่องเบญจรงค์

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

โรงลงลาย หนูเล็กเบญจรงค์ จะเป็นเครื่องเบญจรงค์พุทธประวัติ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายไม้เลื้อย ลายจักรี และภาพศิลปะ ซึ่งจะใช้เทคนิคการเขียนลายเบญจรงค์ที่แตกต่างกันออกไป, โรงลงลาย แดงเบญจรงค์ เป็นโรงลงลายเครื่องเบญจรงค์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น นาฬิกา กรอบรูป พวงกุญแจ แจกัน และผลิตภัณฑ์สำหรับสปา เป็นต้น

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

โรงลงลาย ปานรดาเบญจงรงค์ เป็นโรงลงลายเครื่องเบญจรงค์ที่โดดเด่นในเรื่องของลายนกยูง มีทั้งแก้ว โถตักบาตร ถ้วยชาม ชุดน้ำชา และกาน้ำ และ สุดท้าย โรงปั้น สังวาลย์เซรามิก ของคุณสังวาลย์ เป็นโรงที่คอยปั้นเครื่องดินออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อส่งต่อให้ช่างเพ้นต์เบญจรงค์แต่ละบ้านได้ลงลวดลายตามความถนัดและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบ้านนั่นเอง

ปัจจุบัน สมาชิกในชุมชนดอนไก่ดีมีทั้งหมดร้อยกว่าชีวิต โดยยึดอาชีพการทำเครื่องเบญจรงค์กันทุกครอบครัว ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก และนอกจากนั้น ทางชุมชนเปิดโฮมสเตย์สำหรับให้นักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษา ได้เข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตและการผลิตเครื่องเบญจรงค์ ทั้งการลงสีและเขียนลาย ลงบนถ้วยชามด้วยตัวเอง และให้นำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกจากชุมชน แต่คุณอุไรบอกว่า จะรับนักท่องเที่ยวที่มาแบบค้างโฮมสเตย์ไม่มากนัก เพราะปัจจุบันมีเรือนรองรับเพียง 1 เรือนที่จุคนได้ประมาณ 40 คนเท่านั้น

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

หากใครสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ เทศบาลตำบลดอนไก่ดี (034) 878-502 และ หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี (081) 861-4626 (คุณอุไร)

ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล ภาพโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล