ไชโย เรียนจบปริญญาแล้ว จะได้เป็นคนว่างงาน

ไชโย เรียนจบปริญญาแล้ว จะได้เป็นคนว่างงาน

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

ช่วงนี้เป็นเวลาที่นิสิตนักศึกษามีโอกาสเฮเลี้ยงฉลองการจบการศึกษาและรับปริญญากัน คนที่ยิ้มกันแก้มปริก็คือผู้ปกครองที่ชื่นชมนิสิตนักศึกษาบุตรหลานของตนเรียนจบ คนที่รับทรัพย์กันกระเป๋าตุงก็คือร้านอาหารต่าง ๆ ที่เป็นที่เลี้ยงฉลองของนิสิตนักศึกษาเหล่านั้น

แต่ถ้าเราลองดูข้อเท็จจริงว่า นิสิตนักศึกษาจะไปประกอบอาชีพอะไรหลังการเรียนจบ จะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจของ “สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร เดือนมีนาคม 2562 (ISBN 1685-7437)” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ นั่นคือประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 56.489 ล้านคน ประชากรไทยผู้มีงานทำมีจำนวน 38.498 ล้านคน

ในขณะที่ผู้มีงานทำที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 7.977 ล้านคน นั่นคือผู้มีงานทำอีก 30 ล้านคนเศษ หรือคนไทยเกือบร้อยละ 75 ของผู้ที่มีงานทำไม่ได้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ถ้าตัวเลขนี้ถูกต้อง สถิตินี้พยายามบอกว่าการจ้างงานของประเทศไทยไม่ได้สนใจผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยเลยใช่ไหม ? ถ้าเช่นนั้น มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในการจ้างแรงงาน หรือเกิดข้อผิดพลาดในการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเรา ?

เมื่อเราดูต่อไปจะพบว่าในเดือนมีนาคม 2562 มีคนไทยว่างงานจำนวน 346,000 คน (ไม่นับแรงงานที่รอฤดูกาลอีก 380,700 คน) และในจำนวนนี้ผู้ว่างงานเป็นผู้ที่สำเร็จอุดมศึกษาถึง 129,600 คน (ลดลงจากปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 170,900 คน) ซึ่งเท่ากับร้อยละ 15 โดยประมาณของจำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาของปี 2561 (สำเร็จปริญญาตรี 447,454 คน, สำเร็จ ปวช. 246,426 คน, สำเร็จ ปวส. 161,924 คน) ผลเช่นนี้ ร้อยละ 15 ของผู้ปกครองของนิสิตนักศึกษาลงทุนในค่าเล่าเรียนและกินอยู่ของนิสิตนักศึกษาไปแบบขาดทุน เพราะลูกหลานสำเร็จการศึกษามาแล้วก็ยังหางานทำไม่ได้

ผมเคยได้ยินผู้ที่เคารพนับถือหลายท่านเล่าให้ฟังว่า ลูกหลานของท่านจบมาแล้วตอนนี้ยังรอเขาเรียกตัว เพราะต้องรอให้ทางการมีตำแหน่งว่างจึงจะเรียกตัว ผมเลยเปิดดูในสถิติเล่มนี้ทาง internet ก็พบตัวเลขที่น่าสนใจว่าในจำนวน 38 ล้านคนเศษที่มีงานทำนั้น เป็นลูกจ้างรัฐบาลเพียง 3,277,700 คน เป็นลูกจ้างเอกชน 15,940,200 คน ทำงานส่วนตัว 12,101,900 คน ที่เหลือเป็นงานอื่น ๆ

ตัวเลขนี้แสดงว่าราชการเป็นนายจ้างที่จ้างแรงงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้มีงานทำ นั่นคือมีงานจ้างประจำโดยราชการน้อยมาก เมื่อเทียบกับการจ้างงานจากภาคเอกชน (เกือบร้อยละ 50 ของการจ้างงาน) และงานส่วนตัว (เกือบ 1 ใน 3 ของงานที่มีอยู่)

เป้าหมายที่สำคัญของประเทศในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องการปฏิวัติการศึกษา เพื่อเพิ่มงานให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น โดยให้นิสิตนักศึกษาสามารถเรียนในสิ่งที่ตลาดงานต้องการ นั่นคือให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตนักศึกษาป้อนตลาดโดยให้เรียนวิชาที่ตลาดงานต้องการ และสำหรับนิสิตนักศึกษาที่จะทำงานส่วนตัว ก็ต้องเตรียมให้เขามีความรู้ความเข้าใจพร้อมที่จะออกไปทำมาหากินได้

วิธีการก็ไม่ยากเกินไปนัก เพราะสถาบันแต่ละแห่งสามารถสอบถามหารือกับกลุ่มนายจ้างในแต่ละประเภทได้ว่าต้องการบัณฑิตประเภทใด แล้วมุ่งหาทางฝึกอบรมให้นิสิตนักศึกษาของตนสามารถเข้าไปทำงานให้กับตลาดแรงงานเหล่านั้นได้ เป็นต้นว่า คณะนิติศาสตร์แทนที่จะฝึกอบรมนิสิตนักศึกษาให้ไปสอบเข้าผู้พิพากษา อัยการ หรือนิติกรของราชการอย่างเดียว ก็ควรที่จะฝึกอบรมให้พร้อมที่จะว่าความในศาลต่าง ๆ ได้ ให้พร้อมที่จะยกร่างสัญญา เจรจาสัญญาต่าง ๆ ได้ ให้สามารถเป็นเลขานุการบริษัทได้ เป็นต้น โดยต้องให้คณาจารย์ติดต่อหารือกับตลาดงานได้โดยตรง เพื่อปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนร่วมไปกับตลาดงานเรื่อยไป เพราะวิชาการพัฒนาไปตลอดเวลา

ภาครัฐต้องพิจารณาด้วยว่าต้องการจะให้ประเทศไทยไปในทางใดแน่ ในขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่ของคนไทยยังอยู่ในภาคเกษตร ก็ควรตรวจสอบว่ารายได้ประชากรจากเกษตรกรรมนี้คุ้มไหมที่จะให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่มุ่งไปในทางนี้ ถ้าคุ้มก็ต้องส่งเสริมโดยแก้ไขกฎหมายให้มีที่ดินการเกษตรมากขึ้น และเสริมสร้างระบบชลประทานสนับสนุน ถ้าไม่คุ้มค่าก็ควรวางแผนระยะยาวเพื่อจูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การค้าบริการ หรืออื่น ๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรที่จะร่วมมือกันในระดับนโยบายครับ

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2561