“อาลีบาบา” บุก (สวนผลไม้) ไทย ดึงชาวสวนขายผ่าน “ทีมอลล์” เจาะตลาดจีน

หลังหาพาร์ตเนอร์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ค้าในประเทศไทยไปเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันหรือB2B มากว่า 2 ปี “อาลีบาบา” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนก็เข้ามาบุกประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายรูปแบบนอกเหนือไปจากการเจรจาเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มแอสเซนด์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ล่าสุดใช้เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ B2C “ทีมอลล์” (www.Tmall.com) รุกคืบเข้ามาเป็นช่องทางในการขายผลไม้ไทยด้วย
 4201-160701011854
“เรย์ เหอ” ผู้อำนวยการอาวุโส ทีมอลล์ หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบา เปิดเผยว่า จากการเติบโตของอาลีบาบาเรื่องการค้าส่งออนไลน์แบบ B2B จนสามารถดึงผู้ค้าจากประเทศต่าง ๆ มาจำหน่ายสินค้าบนเว็บไซต์ และมีผู้ซื้อทั้งจากประเทศจีน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในโลก จึงเริ่มขยายธุรกิจเพิ่มเติม เช่น “เต๋าเบ่า” (Taobao) เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค หรือ C2C และระบบชำระเงินภายใต้ชื่อ “อาลีเพย์” เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการซื้อสินค้าออนไลน์ครบวงจร ขณะที่ “ทีมอลล์” เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ B2C
“ทีมอลล์ให้บริการเมื่อปี 2551 ช่วงแรกเป็นการรวมแบรนด์สินค้าที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากประเทศจีนมาจำหน่าย ตั้งแต่เสื้อผ้า, อาหารสด และผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม เป็นหนึ่งในตัวที่ทำให้ยอดทรานแซ็กชั่นของกลุ่มอาลีบาบาขึ้นถึง 3 ล้านล้านหยวน (ราว 16,000 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา มูลค่าเทียบเท่าจีดีพีของมณฑลเสฉวนที่อยู่ราว 3.1 ล้านล้านหยวน ใกล้เคียงกับยอดรายได้ของวอล-มาร์ตที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดค้าปลีกออฟไลน์ในขณะนี้ด้วย”
“ทีมอลล์”ปัจจุบันมีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบB2C ทั้งหมด 61% เป็นอันดับที่ 1 ของโลก มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 4.23 ล้านล้านราย มีผู้ซื้อสินค้ามากกว่า 1 ล้านคน/วัน 150 ล้านคน ดูสินค้าทุกวัน และผู้สมัครใช้งาน 78% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีแบรนด์ระดับโลกที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย เช่น มินิ, โซนี่, นิวบาลานซ์ และเอ็นบีเอ เป็นต้น ถ้าเจาะไปที่สินค้ากลุ่มอาหารสด ปัจจุบันมีแบรนด์ที่เข้ามาจำหน่ายสินค้า 1 ล้านบริษัททั่วโลก เช่น เนื้อหมู, เนื้อไก่, ไข่ และผักผลไม้
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบนเว็บไซต์ทั้งหมดเป็นภาษาจีน
และเพื่อโปรโมตบริการในไทย จึงเตรียมแคมเปญจำหน่ายผลไม้ไทยราคาพิเศษ ตั้งแต่วันนี้-17 ก.ค. 2559 เพื่อตอบรับความต้องการของชาวจีนที่ชื่นชอบผลไม้ไทย และกระตุ้นให้ผู้ค้าผลไม้ในประเทศไทยมาจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากชาวจีน คือ มะม่วง, มังคุด และทุเรียน
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2556 มีการจัดแคมเปญในลักษณะนี้ และสามารถจำหน่ายทุเรียนไปได้ 100 ตัน หรือมากกว่า 30,000 ลูก และในปี 2557 จำหน่ายไปทั้งหมด 375 ตัน โดยผู้ค้าผลไม้ที่ต้องการจำหน่ายสินค้าออนไลน์สามารถติดต่อผ่านเว็บไซต์ได้ทันที
ด้าน “นพพร สวัสดิ์ธนพิศุทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท ไทยฟรุ๊ต 1975 จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ขายผลไม้ไทยบนทีมอลล์กล่าวว่า ด้วยความที่มีสวนในเครือข่ายจำนวนมาก เช่น สวนมะม่วง 3 แสนไร่ และสวนทุเรียน 300 ไร่ จึงสามารถที่จะทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่จากการเห็นศักยภาพของช่องทางการทำตลาดบนเว็บไซต์ทีมอลล์เมื่อ 2 ปีก่อน จึงเข้าไปทำตลาดอย่างเต็มที่ทำให้สัดส่วนรายได้หลักจากเดิมมาจากขายหน้าร้าน เป็นขายสินค้าส่งออกออนไลน์ 90% แทน ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุดบนทีมอลล์ คือ มะม่วงสุก รองลงมาคือ ทุเรียน กับมังคุด
สำหรับรายได้ที่มาจากการขายสินค้าส่งออกออนไลน์ที่ทำมา 2 ปีจะอยู่ที่ 6 แสนหยวน/เดือน (ราว 3-4 ล้านบาท) สูงกว่าที่จำหน่ายในช่วง 3 เดือนแรกที่ทำได้ 50,000-100,000 หยวน/เดือนหลายเท่าตัว เพราะเมื่อเทียบราคาผลไม้ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปในประเทศจีนจะสูงกว่าบนเว็บไซต์มาก เพราะการมีพ่อค้าคนกลาง และการขนส่งหลายทอด แต่การจำหน่ายผ่าน “ทีมอลล์” เป็นการลดขั้นตอนเหลือเพียงเจ้าของสวนกับบริษัทขนส่ง และผู้บริโภค ทำให้ทำราคาได้ดีกว่า และสร้างโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ
“การจำหน่ายสินค้าบนทีมอลล์เป็นอีกช่องทางของผู้ขายผลไม้ในประเทศไทยเพราะช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ทำให้มีกำไรมากขึ้นกว่าขายในประเทศ หรือส่งออกด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทมีรายได้ถึง 48 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดว่าปีนี้จะได้ใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีปัญหาภัยแล้งมากระทบ ส่วนเรื่องการขนส่งสินค้าจะมีพาร์ตเนอร์จากประเทศจีนติดต่อเข้ามาหาเอง ไม่ต้องไปวิ่งหา เนื่องจากผลไม้ไทยเป็นสินค้ายอดนิยม และการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในยุคนี้”