“ปฏิทินปลูกผัก” ตัวช่วยมือใหม่หัดปลูกพืช มีกินทั้งปี เก็บขายได้ด้วย

มีใครรู้บ้างว่าแต่ละ “ฤดู” เราควรปลูกผักอะไร ถ้าไม่รู้มีตัวช่วย นั่นคือ “ปฏิทินปลูกผัก” ตัวช่วยมือใหม่หัดปลูกพืช  จุดเด่นของปฏิทินนี้ คือ มีเมล็ดผัก 12 ซอง ตามจำนวนเดือนทั้งหมด 1 ปี มาพร้อมวิธีการปลูก เเค่ฉีกซองเเล้วเทลงดิน มีผักกินทั้งปี เก็บขายได้ด้วย

“คิดได้ยังไง?” สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิด หลังจากได้เห็นปฏิทินปลูกผัก ปากกาที่ทำจากหลอดทดลองวิทยาศาสตร์ ที่คั่นหนังสือจากเปลือกมังคุด เรียกโดยรวมว่า “สินค้าแนวอีโค่ดีไซน์” (Eco Design) สินค้ารักษ์โลกที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ลูกยาง”

คุณลูกยาง-วีรพล วงษ์เทวัญ อายุ 29 ปี ศิษย์เก่าจากรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ เจ้าของผลงานสุดน่าทึ่ง

คุณลูกยาง เล่าว่า เดิมทีเรียนการออกแบบอย่างเดียว แต่เมื่อก้าวสู่วงการนักออกแบบเต็มตัว ก็พบว่าตัวเองอยากทำธุรกิจ จึงเรียนบริหารเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้มาพัฒนาและบริหารธุรกิจของตน ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Service)

“ผมเป็นคนชอบคิด ชอบประดิษฐ์ ชอบการออกแบบ เลยเลือกที่จะทำอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ลองทำกระเป๋าที่ผลิตจากหญ้าเทียม ทำปากกาจากหลอดทดลองวิทยาศาสตร์ ปลอกปากกาจากเศษไม้ปรากฏว่าผลตอบรับดี จึงขยายกลายเป็นธุรกิจ”

สำหรับไอเดียในการผลิตสินค้าแต่ละชิ้น ชายหนุ่มเริ่มจากการสังเกต และมองหาวัสดุใกล้ตัวที่คิดว่าน่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ จากนั้นนำมาทดลอง ถ้าไม่ดี ก็ทำใหม่ แต่ถ้าดีก็ผลิตเป็นสินค้าออกมา

“หัวใจสำคัญ อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ และการเลือกใช้วัสดุ หลักๆ คือ จะนำวัสดุเหลือใช้ วัสดุธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งวัสดุที่ไม่มีความเข้ากันมาประยุกต์ ดัดแปลง ปรับเปลี่ยนหน้าตา สร้างความแปลกใหม่และจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้สินค้า”

ปฏิทินปลูกผัก

เจ้าของผลงาน ยกตัวอย่าง “ปฏิทินปลูกผัก” นับเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ให้กับปฏิทิน จุดเด่นของปฏิทินนี้ คือ จะมีซองที่เป็นเมล็ดผักบรรจุอยู่ 12 ซอง ตามจำนวนเดือนทั้งหมด 1 ปี พร้อมวิธีการปลูก อย่างฤดูร้อนให้ปลูกพริกขี้หนู ต้นหอม คะน้า กวางตุ้ง เพราะทนกับสภาพอากาศ แล้งก็อยู่ได้ “ฤดูฝน” ควรปลูกกะเพรา มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย ผักกาด เนื่องจากผักพวกนี้ชอบความชุ่มฉ่ำ ส่วนฤดูหนาว เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นอย่าง กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ผักชี เป็นต้น

นอกจากปฏิทินปลูกผัก ยังมี “ปากกาหลอดทดลอง” ที่นำหลอดทดลองทางวิทยาศาสตร์ทำเป็นปากกา  ส่วนปลอกปากกา ใช้เศษไม้ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มาทำแทนปลอกพลาสติก

ปากกาหลอดทดลอง

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อีโค่ดีไซน์ที่คุณลูกยางภูมิใจนำเสนอ คือ ที่คั่นหนังสือจากเปลือกมังคุด นำเปลือกมังคุดที่คนทิ้งแล้วมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ด้วยไอเดียที่น่าทึ่งเหล่านี้ ทำให้ผลงานแบรนด์ลูกยางได้รับรางวัลจากเวทีใหญ่มากมาย ทั้งจากประเทศไทยและญี่ปุ่น เช่น Design Excellence Award, Gmark, Demark เป็นต้น

เครื่องเขียนจากเปลือกมังคุด

เจ้าของธุรกิจ เผยแผนการตลาดว่า ยังคงรูปแบบธุรกิจขนาดเล็ก เน้นเจาะกลุ่มคนเมือง และคนที่สนใจงานอีโค่ดีไซน์ เพราะสินค้าเป็นนิชมาร์เก็ต ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ หากทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะเกิดความกดดัน และความเครียด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสุขหายไป ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่หลักหมื่นต่อเดือน

ถามถึงอุปสรรคในการผลิต  เจ้าของร้านหนุ่ม ตอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ ว่า “ส่วนใหญ่จะพบปัญหาเรื่องคิดงานไม่ออก วิธีแก้ไข คือ ให้พักงานไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาคิดใหม่ เพราะยิ่งคิดมาก ความเครียดจะเกิด และความคิดก็จะตันขึ้นเรื่อยๆ”

ก่อนจบบทสนทนา คุณลูกยาง ยังให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจอีกว่า “จงเลือกทำงานจากความรัก เพราะความชอบเป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำงาน ดูความสามารถของตนเป็นหลัก ถนัดสิ่งใดให้ทำสิ่งนั้น แล้วเราจะมีความสุข และอยู่กับมันได้นาน”

ใครที่สนใจ สินค้าอีโค่ดีไซน์ ราคาเริ่มตั้งแต่ 100-850 บาท สนใจดูสินค้าเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่ Facebook : LUK YANG, www.lukyang.com หรือร้าน ODS @สยามดิสคัฟเวอรี่, ร้านเดอะซีเล็คเต็ด @ไอค่อนสยาม