หน้ากากมโนราห์จิ๋ว จากของฝาก สู่ของขลัง

ศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนาน ต้องยกให้ “มโนราห์” มหรสพที่สามารถสะกดผู้ชมให้ตรึงใจไปกับท่วงทำนอง และลีลาการร่ายรำของผู้เล่น สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นชวนให้ต้องขยับตาม ซึ่งเสน่ห์ของการละเล่นชนิดนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่เครื่องประดับที่มีสีสันสดใส ปัจจุบัน มีคนบางกลุ่มยึดเป็นอาชีพ นั่นคือ ประดิษฐ์เครื่องประดับมโนราห์ สร้างรายได้และช่วยอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไทย

1

ต่อยอดอาชีพพ่อ
เติมไอเดียคนรุ่นใหม่

คุณณัฐพงษ์ สัจบุตร หรือ คุณแก๊ก อายุ 32 ปี หนุ่มที่มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดตรัง เขาสืบทอดกิจการต่อจากบรรพบุรุษ ด้วยการประดิษฐ์ส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดงมโนราห์ อาทิ เครื่องดนตรี เครื่องประดับ ล่าสุดใส่ไอเดียคนรุ่นใหม่ ทำหน้ากากตัวตลกมโนราห์จิ๋ว ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หน้ากากพรานบุญ ที่มีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า ใช้สำหรับห้อยกับสร้อยคอ หน้ารถ ใช้เป็นเครื่องประดับ มีคนบางกลุ่มนำไปปลุกเสกขึ้นหิ้งบูชาในฐานะเครื่องรางของขลัง

5

คุณแก๊ก เล่าว่า อาชีพดั้งเดิมของพ่อ หรือ “ประเทือง สัจบุตร” ทำอุปกรณ์การแสดงมโนราห์ เช่น เครื่องดนตรี และเครื่องประดับ โดยเฉพาะ “เทริด” ซึ่งเป็นเครื่องประดับบนศีรษะ พ่อทำมานานแล้ว สืบทอดต่อจากบรรพบุรุษอีกที จุดเด่นชิ้นงานของพ่อ มีความละเอียด ประณีต รูปทรงตามแบบฉบับโบราณเป๊ะ แต่หลังจากที่ตนเข้ามาช่วยกิจการ เริ่มมีบางอย่างเปลี่ยนเเปลง

“ชิ้นงานของพ่อ เน้นทำตามแบบโบราณ สีไม่ค่อยสวย หม่นๆ ไม่สดใส ผมเลยเลือกใช้สีคุณภาพดีขึ้น นำ พลอย  กระจก ลูกปัด มาตกแต่งเพิ่มความโดดเด่น รวมถึงได้ประดิษฐ์หน้ากากตัวตลกมโนราห์ (หน้ากากพรานบุญ) ที่มีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า แต่รูปทรงยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ดัดแปลงใดๆ”

9

หลังจากที่คุณแก๊กเข้ามาช่วยกิจการครอบครัว เขาขยายตลาดกว้างขึ้น จากกลุ่มลูกค้าคณะมโนราห์ ไปสู่ตลาดของฝาก ด้วยการแกะสลักหน้าพรานจิ๋ว รองรับกลุ่มผู้สนใจที่นำไปเป็นของฝาก บ้างก็นำไปบูชา เพราะเดิมหน้ากากมโนราห์ ชุดละ  2,000 บาท พอหันมาทำหน้ากากพรานบุญจิ๋ว ราคาชิ้นละ 199 บาท

“ผมอยากดัดแปลงทำอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากที่พ่อทำมา ขณะเดียวกัน ต้องการสืบสานวัฒนธรรมไทยด้วย ซึ่ง หน้าพราน นับเป็นเอกลักษณ์ของคนใต้ หวังว่าถ้าทำขนาดเล็กลง พกพาสะดวกขึ้น ราคาที่ทุกคนจับต้องได้ เชื่อว่าคนจะนิยมใช้กันมากขึ้น”

ลูกค้าบอกปากต่อปาก
ซื้อไปปลุกเสก บูชา เยอะ

รายละเอียด “หน้ากากพรานบุญจิ๋ว” มีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า ขนาดราวเหรียญ 10 บาท วัสดุที่ใช้แกะสลักคือ ไม้ยอ ไม้ขนุน เพราะเป็นไม้มงคล เนื้อละเอียด ง่ายต่อการแกะสลัก เพราะพิถีพิถันมากพอสมควร 1 ชิ้นใช้เวลาแกะสลักราวชั่วโมงครึ่ง ต่อวันแกะสลักได้ประมาณ 10 ชิ้น เนื่องจากต้องใช้ขวานถากขึ้นรูป จากนั้นตัดด้วยเลื่อยเป็นชิ้นเล็กๆ  ก่อนนำไปร่างแบบ แล้วลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว ลงสีน้ำมัน ใช้ขนเป็ดสีขาวเอามาติดให้ดูเป็นผมหงอก ซึ่งหน้าพรานมีหลายรูปแบบ ทั้งหน้าสีแดง สีทอง สีดำ สีม่วง

6

ด้านการยอมรับ ในช่วงเริ่มต้น ชายหนุ่ม บอกว่า เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการแสดงมโนราห์ แต่จากนั้นไม่นานได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนนำไปปลุกเสกใช้เป็นเครื่องรางของขลัง คนใต้เรียกว่า “ตายาย” ให้การคุ้มครอง ลูกค้ามีทั้งคนในจังหวัดตรังและข้างเคียง เช่น พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี ระนอง แต่ละเดือนมีออร์เดอร์ไม่ต่ำกว่า 300 ชิ้น เรียกว่าผลิตไม่ทันเลยทีเดียว

ในส่วนการทำตลาด ปัจจุบัน คุณแก๊ก และ คุณปฏิพัฒน์ สัจบุตร (น้องชาย) ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องเป็นราว  เพียงแต่ลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง และการบอกต่อ ปากต่อปากของลูกค้าเท่านั้น โดยมากของลูกค้าที่ซื้อไปมักจะเป็นกลุ่มผู้หญิง

สำหรับ “หน้ากากพรานบุญ” มีความเชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังทางสายเสน่ห์ เสริมเมตตา เหมาะแก่ผู้ที่มีอาชีพนักแสดง และพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวจิตใจผู้คน