เกษตรกรเชียงใหม่ เลี้ยงโคเนื้อลูกผสมพื้นเมือง เน้นทำตลาดแบบราคาไม่สูง สร้างรายได้หลักแสนต่อปี

อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรในพื้นที่ทำอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ปลูกข้าวโพดและพืชไร่อื่นๆ จึงทำให้มีวัตถุดิบหลังจากเก็บเกี่ยวเหลืออยู่ ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์มีการนำเปลือกข้าวโพดหรือต้นพืชมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำไปเป็นอาหารให้สัตว์กินและหมักปุ๋ยสามารถลดการเผาทำลาย ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้ไม่เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ เกษตรกรทุกครัวเรือนสามารถทำเกษตรได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณยงยุทธ อินทร

คุณยงยุทธ อินทร อยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเกษตรกรที่มีประสบการณ์ทางด้านปศุสัตว์ โดยทำการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมพื้นเมือง พร้อมทั้งปลูกหญ้าสำหรับเป็นอาหารให้กับโคที่เลี้ยง และนำวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวในพื้นที่อย่างเปลือกข้าวโพดมาให้โคกิน จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตเกิดรายได้เพิ่มขึ้นเวลาจำหน่ายโคแต่ละครั้ง ทำให้การเลี้ยงโคเป็นรายได้ให้กับครอบครัวเขาเป็นระยะเวลาถึง 18 ปีเลยทีเดียว

คุณยงยุทธ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเลี้ยงโคเนื้ออย่างเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อนได้ทำเกษตรคือการปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละปี ราคาจากการจำหน่ายข้าวโพดยังไม่สามารถทำรายได้ให้กับเขาได้ดีเท่าที่ควร ได้มองหาอาชีพเสริมโดยนำโคเนื้อลูกผสมพื้นเมืองเข้ามาเลี้ยง ผลปรากฏว่าสามารถผลิตลูกจำหน่ายได้ดี จึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณการเลี้ยงโคมากขึ้นและปรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้น้อยลง มาปลูกหญ้าให้โคกินแทน

เปลือกข้าวโพดให้โคกินที่ได้มาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ช่วงที่เลี้ยงโคใหม่ๆ ช่วงนั้นเราก็ยังมีต้นข้าวโพดเหลืออยู่ ก็จะนำมาให้โคกินเพื่อเป็นอาหารทดแทนก่อน พอทำเรื่อยๆ ก็ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงและมีปลูกหญ้าเนเปียร์แทน พร้อมทั้งเพาะพันธุ์โคจนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจึงเน้นจำหน่ายลูกพันธุ์จนทำเป็นอาชีพหลัก สามารถจำหน่ายโคได้ ทำให้ตั้งแต่นั้นมาก็มองว่า การเลี้ยงโคเนื้อสามารถสร้างรายได้ดีไม่แพ้การปลูกพืช แต่ละปีขายได้หลายสิบตัว ทำให้หยุดทำไร่ข้าวโพดทันที และมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังเพื่อเป็นอาชีพหลัก” คุณยงยุทธ เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมพื้นเมือง

ในขั้นตอนของการเลี้ยงโคนั้น คุณยงยุทธ บอกว่า จะแบ่งสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนโดยมีโรงเรือนนอน พื้นที่เดินเล่นและแบ่งบริเวณสำหรับไว้ปลูกหญ้าให้โคกิน พร้อมทั้งระหว่างวันจะปล่อยให้โคออกจากคอกเพื่อไปเดินหาหญ้าภายในแปลงกิน ส่วนในเวลากลางคืนจะนำเปลือกข้าวโพดที่ได้จากเกษตรกรในพื้นสามารถเอามาได้อย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงทำให้โคมีอาหารกินตลอดทั้งวันเป็นการลดต้นทุนในเรื่องของอาหารได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ปลูกหญ้า

การผสมพันธุ์โคภายในฟาร์มในช่วงแรก คุณยงยุทธ บอกว่า จะใช้พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ภายในฟาร์มช่วยผสม แต่ระยะหลังๆ เริ่มมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีเลือดที่สูงขึ้น จากที่ปล่อยผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ ก็มีการใช้วิธีผสมเทียมเข้ามาช่วย เพื่อสร้างเป็นโคเนื้อบราห์มันเลือดร้อยต่อไปในอนาคต

“แม่โคที่ใช้ผสมพันธุ์เน้นให้มีอายุอยู่ที่ 2 ปีขึ้นไป ระยะนี้โคจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง เพราะโคเราเป็นพันธุ์พื้นเมือง ขนาดลำตัวไม่ได้ใหญ่มาก ดังนั้น ในเรื่องของอายุต้องให้เหมาะสม พอผสมติดรอตั้งท้อง 9 เดือน โคก็จะออกลูกมา จากนั้นก็ปล่อยให้อยู่กับแม่ พร้อมทั้งเข้าฝูงได้ทันที ซึ่งลูกโคเหล่านี้จะแข็งแรง ปล่อยให้ลูกโคอยู่กับแม่ไปอย่างนั้นจนกว่าจะหย่านม แล้วก็เลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ จนได้อายุเกือบ 2 ปี ก็จะขายออกจากฟาร์ม” คุณยุงยุทธ บอก

ลานเดินเล่น

สำหรับการป้องกันโรคให้กับโคเนื้อลูกผสมพื้นเมืองภายในฟาร์มนั้น คุณยุงยุทธ บอกว่า เมื่อลูกโคที่หย่านมแม่มีอายุได้ 6 เดือน จะทำวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ หลังจากนั้น จะทำวัคซีนให้พร้อมกับโคตัวอื่นๆ ปีละ 2 ครั้ง ป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยเป็นหลัก พร้อมทั้งเสริมด้วยยาบำรุงและยาถ่ายพยาธิ เมื่อเห็นโคบางตัวภายในฟาร์มมีลักษณะตัวที่ผอมจนเกินไป

ส่วนในเรื่องของการตลาดเพื่อจำหน่ายโคภายในฟาร์ม คุณยุงยุทธ บอกว่า จะเน้นเลี้ยงให้โคทุกตัวมีอายุอยู่ที่ 2 ปี แล้วจึงจะจำหน่ายออกจากฟาร์ม โดยแต่ละปีจะมีโคหมุนเวียนออกจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 15 ตัว โดยเน้นจำหน่ายตัวผู้เป็นหลัก ส่วนตัวเมียที่สวยๆ จะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนไว้ใช้ภายในฟาร์ม

ปุ๋ยคอกที่สร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

“โคที่เราเลี้ยงเป็นโคเนื้อลูกผสมพื้นเมือง ทรงตัวเลยไม่ใหญ่มากเหมือนโคพันธุ์ที่มีเลือดร้อยอย่างบราห์มัน ดังนั้น ในเรื่องของราคาก็จะไม่ค่อยสูง ตัวหนึ่งก็จะขายอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไป ช่วงก่อนที่เราจะขายออกจากฟาร์ม จะมีการเสริมด้วยอาหารข้นให้กินอย่างสมบูรณ์ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้โคมีตัวที่ใหญ่ โดยพ่อค้าที่มาซื้อก็จะเป็นคนในพื้นที่และเพื่อนๆ เกษตรกรด้วยกันที่ต้องการซื้อไปเลี้ยงต่อ ดังนั้น ในเรื่องของราคาก็จะไม่สูงมากอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ และรายได้อีกช่องทางก็คือขี้โค สามารถขายให้กับคนที่ต้องการนำไปปลูกพืชได้อีกด้วย” คุณยงยุทธ บอก

เมื่อมาปรับเปลี่ยนทำด้านปศุสัตว์เพื่อสร้างรายได้ คุณยงยุทธ บอกว่า ถือว่าเป็นช่องทางการทำรายได้ที่ดี แต่การเลี้ยงโคต้องใช้ระยะเวลาสักเล็กน้อย ผู้เลี้ยงต้องมีความอดทนในช่วงที่รอโคโตจนกว่าจะจำหน่ายได้ อย่างตัวเขาเองในช่วงที่เลี้ยงโคจนกว่าจะส่งจำหน่ายได้ก็จะทำอาชีพอย่างอื่นเสริมเข้าไปด้วยอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนมาใช้จ่ายภายในครอบครัว ดังนั้น ผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงโคจึงแนะนำว่า ให้หาพื้นที่ปลูกหญ้าและแหล่งอาหารอื่นๆ ไว้ให้โคกิน ก็จะช่วยให้ลดต้นทุนในการเลี้ยงค่าอาหารได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้การเลี้ยงโคมีกำไรเป็นทั้งเงินเก็บและเงินใช้จ่ายได้อย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณยงยุทธ อินทร หมายเลขโทรศัพท์ (096) 592-6109