สัตวแพทย์ เลี้ยงปลาลำน้ำพอง จับขาย แปรรูป เพิ่มมูลค่า ราคาดี

ผลจากการเรียนจบมาทางด้านสัตวแพทย์ ก็ทำให้ น.สพ. ตุลา ตรงเมธีรัตน์ เข้าใกล้ชิดสัตว์บางชนิดมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ระบบร่างกายของสัตว์ชนิดนั้น แต่กลับเป็นเรื่องของการจัดการระบบการเลี้ยง การดูแล การส่งเสริม รวมถึงการขาย

น.สพ. ตุลา ตรงเมธีรัตน์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบทางด้านสัตวแพทย์ แต่ไม่เปิดคลินิกรักษาสัตว์ กลับเข้าทำงานในบริษัทเอกชน ที่ให้บริการส่งเสริมการเลี้ยงปลาครบวงจร ในตำแหน่งนักวิชาการของบริษัท ทำให้รู้และเข้าใจระบบการเลี้ยงปลาอย่างถูกวิธี จึงมีแนวคิดทำอาชีพอิสระด้วยการเลี้ยงปลากระชัง ตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มี

น.สพ. ตุลา ตรงเมธีรัตน์

“แหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลา เป็นประการสำคัญประการแรกที่ควรคำนึงถึง” น.สพ. ตุลา บอก

การเลี้ยงปลาที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่สนใจต้องการเลี้ยงปลา หรือมือใหม่ที่เริ่มก้าวเข้ามาเป็นเกษตรกรเลี้ยงปลา ควรเลือกแหล่งเลี้ยงที่เหมาะสม เพราะเป็นประการสำคัญที่มีปัจจัยต่อความเสียหายของการเลี้ยงอย่างมาก

น.สพ. ตุลา เลือกลำน้ำพอง เป็นแหล่งเริ่มเลี้ยงปลากระชัง และเลือกปลานิล ปลาทับทิม เพราะเห็นว่าเป็นปลาที่สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปในท้องตลาด ซื้อ-ขายง่าย และระยะเวลาการเลี้ยงต่อรอบจับจำหน่ายไม่ได้ยาวนาน

เริ่มต้นจาก 50 กระชัง

ขนาดกระชัง 3×3 เมตร

ลำน้ำพอง

น.สพ. ตุลา บอกว่า ขนาดกระชังอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่ามีความถนัดแบบใด สำหรับเขาแล้ว ขนาดกระชัง 3×3 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไป น้ำหนักเบา ไม่กดให้ถังรับน้ำหนักมาก กระชังจะดูสูงกว่ากระชังขนาดใหญ่ที่ถังรับน้ำหนักมาก ทำให้กระชังจมลงไปกับน้ำ อีกทั้งการจัดการกระชังขนาดเล็กก็สามารถทำได้ง่ายกว่ากระชังขนาดใหญ่ ใช้แรงงานน้อยก็สามารถจัดการได้ในทุกๆ ด้าน

การเลือกพันธุ์ปลาก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกแหล่งพันธุ์ปลาที่มีพันธุกรรมดี อัตราการเจริญเติบโตดี และอัตราการเป็นปลาเพศผู้เยอะกว่าปลาเพศเมีย เพราะปลาเพศผู้จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าปลาเพศเมีย ปลาเพศเมียจะมีช่วงของการวางไข่ ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า แม้ว่าแรกเริ่มของการซื้อปลาจะรู้เพศของปลาแล้วก็ตาม แต่เมื่อเลี้ยงไปควรมีการสุ่มตรวจว่า ปลาเป็นเพศผู้มากตามอัตราที่ซื้อ-ขายกับแหล่งซื้อจริงหรือไม่ เพื่อเลือกใช้แหล่งพันธุ์ปลาที่ดี

ขนาดปลาที่ปล่อยลงกระชังได้ต้องมีน้ำหนักต่อตัวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม ขนาดที่เหมาะสม คือ ขนาด 30 กรัม ต่อตัว สามารถปล่อยลงกระชังได้ 300-800 ตัว ต่อกระชัง ขึ้นกับฤดูกาล หากน้ำมากก็สามารถเพิ่มจำนวนปลาในกระชังได้มาก และลดหลั่นจำนวนลูกปลาตามปริมาณน้ำในแหล่งเลี้ยง

จุลินทรีย์ผสมกับอาหาร ช่วยบำบัดแหล่งน้ำและช่วยการเจริญเติบโตของปลา

สำหรับลำน้ำพอง ที่เลือกเป็นแหล่งเลี้ยงปลากระชังนั้น แม้ว่าจะเลือกอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ลำน้ำพองเป็นลำน้ำที่รับน้ำจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ หากปีใดกักเก็บน้ำได้มาก ปริมาณการปล่อยน้ำลงลำน้ำพองก็จะมาก แต่ถ้าปีใดกักเก็บน้ำได้น้อย ปริมาณการปล่อยน้ำลงลำน้ำพองก็จะน้อย รวมถึงฤดูกาล เช่น ฤดูแล้งน้ำจะลดปริมาณลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัญหาที่ตามมาเมื่อน้ำในแหล่งเลี้ยงปลาน้อยมากก็มีเช่นกัน

กรณีที่แหล่งเลี้ยงปลามีปริมาณน้ำน้อย ควรใช้เครื่องเติมอากาศสำรองช่วย เพื่อเติมออกซิเจนเข้าไปที่แหล่งเลี้ยง เป็นการบำบัดพื้นแม่น้ำใต้กระชังไปด้วย

น.สพ. ตุลา ใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา คิดค้นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อปลาและแหล่งเลี้ยง ซึ่งผลิตจากแบคทีเรียในกลุ่มบาซิลลัส โดยการนำเข้าห้องแล็บ คัดแยกเชื้อที่มีประโยชน์นำไปผสมให้กับอาหารให้ปลากิน ในช่วงที่สภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เป็นการช่วยให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี ต้านทานโรค ทั้งยังช่วยบำบัดแหล่งน้ำไปพร้อมกัน

“เมื่อคุณภาพน้ำดี ออกซิเจนในน้ำเยอะ ปลาตื่นตัวมากก็จะกินอาหารได้มาก การเจริญเติบโตก็ดี”

ให้วัคซีนปลา ป้องกันโรคในกระชัง

อาหารปลามีเพียง 2 ขนาด คือ เบอร์เล็ก และเบอร์กลาง ปลาเล็กก็ให้อาหารเบอร์เล็ก ปลาใหญ่ก็ให้อาหารเบอร์กลาง

การให้อาหารปลา เช้าและเย็น ดูขนาดของปลาให้เหมาะสมกับอาหาร หากปลาเล็กให้อาหารเบอร์กลาง ปลาจะกินอาหารไม่ได้ แต่ถ้าปลาใหญ่ให้อาหารเบอร์เล็ก ปลาจะเสียพลังงานในการกินอาหารมาก แต่ถ้าต้องการเร่งปลาให้โตเร็วพร้อมจับ และสภาพน้ำเหมาะสม ก็สามารถเพิ่มเวลาให้อาหารเป็น เช้า กลางวัน และเย็น ได้

ระยะเวลาการจับจำหน่าย 4-6 เดือน

ขนาดปลาที่ตลาดต้องการอยู่ที่ 800-1,200 กรัม มีบางตลาดที่ต้องการปลาขนาด 1,500 กรัม

การดูขนาดปลาว่าถึงเวลาจับจำหน่ายแล้วหรือยัง ทำเพียงการใช้สวิงสุ่มตักปลาขึ้นมาชั่งน้ำหนัก หากเหมาะสมก็เลือกจับปลาไปจำหน่ายได้

ตลอดการเลี้ยงถึงปัจจุบัน รวม 16 ปี ปัญหาที่ประสบคือ สภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้เกิดโรคระบาดในกระชังปลา จึงควรหมั่นสังเกตปลาในช่วงฤดูแล้ง หากปลามีลักษณะตาบวม ตัวเป็นแผล หรือว่ายน้ำแบบหมุนควงสว่าน นั่นหมายถึงเกิดโรคในปลา การจัดการทำได้โดยการป้องกัน เมื่อใกล้ฤดูแล้ง การให้จุลินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองก็ช่วยป้องกันได้ดีในระดับหนึ่ง และให้วัคซีนกับปลาเมื่อพบปลาป่วย โดยการใช้สวิงช้อนปลาขึ้นมาเพื่อฉีดวัคซีนทีละตัว จากนั้นให้วัคซีนปนไปกับอาหารอีก 2-3 ครั้ง เป็นการกระตุ้นให้วีคซีนป้องกันทำงานได้ดี เมื่อจัดระบบเรื่องของการป้องกันและการรักษาดีแล้ว อัตราความเสียหายไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์

การเลี้ยงปลา จำเป็นต้องวางระบบรอบการจับให้ดี เพื่อให้มีปลาจับขายได้ทุกวัน เป็นการรักษาความต่อเนื่องของตลาด

ตลาดปลานิลและปลาทับทิมแตกต่างกัน

ปลาทับทิม เป็นปลาที่เลี้ยงยาก อัตราการรอดต่ำ เจริญเติบโตช้า แต่ราคาจำหน่ายสูง ตลาดของปลาทับทิมอยู่ในกลุ่มของภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือการจัดการพิธี

ปลานิล เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อัตราการรอดสูง เจริญเติบโตได้เร็ว แต่ราคาจำหน่ายถูกกว่าปลาทับทิม ตลาดปลานิลอยู่ในกลุ่มทั่วไป เช่น ปลาเผา

แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว หลังการจับขายก็ถือว่ามีรายได้ไม่ต่างกัน

ปัจจุบัน น.สพ. ตุลา เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม รวม 500 กระชัง ในลำน้ำพอง สามารถจับปลาขายได้ทุกวัน เฉลี่ยปลาทับทิม 200 กิโลกรัม ต่อวัน ปลานิล เฉลี่ย 700-800 กิโลกรัม ต่อวัน ราคาขายหน้ากระชังผันผวนตามราคาตลาด เฉลี่ยปลานิลราคากิโลกรัมละ 60 บาท ปลาทับทิมเฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 75 บาท

แต่เพราะเศรษฐกิจผกผัน น.สพ. ตุลา จึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป โดยให้ภรรยาเป็นหัวเรือใหญ่ การแปรรูปทำออกมา 3 รูปแบบ คือ ปลาแดดเดียว ปลาหวาน และปลาส้ม ผลิตจากปลานิลและปลาทับทิม อีกทั้งปลาหวานและปลาแดดเดียว สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำให้สุกพร้อมรับประทาน เพิ่มอีกรูปแบบหนึ่ง

ทำให้ตลาดปลา 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นปลาที่เข้าสู่กระบวนการแปรรูป 20 เปอร์เซ็นต์ และออกสู่ตลาดขายปลาสดอีก 80 เปอร์เซ็นต์

สนใจขอคำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงปลา น.สพ. ตุลา ตรงเมธีรัตน์ ยินดีตอบคำถาม ติดต่อได้ที่ ตุลาฟาร์ม บ้านหนองเต่า ตำบลโคกสี่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ติดตามหน้าเฟซบุ๊กได้ที่ ปลานิล ขอนแก่น ตุลาฟาร์ม หรือโทรศัพท์พูดคุยได้ที่ (081) 545-8188 และ (081) 485-5844 หรือ (043) 242-449