ชาวพระบุ ขอนแก่น เลี้ยงจิ้งโกร่ง ขายในหมู่บ้านยังไม่พอ

“จิ้งหรีด” เป็นแมลงที่หลายคนคุ้นชื่อรู้จักดี ส่วน “จิ้งโกร่ง” เป็นแมลงประเภทไหน ฟังชื่อแล้วไม่ค่อยคุ้น แต่ทำไมจึงมีชื่อคล้ายกัน?

จิ้งโกร่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Brachytrupes portentosus เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ มีลักษณะคล้ายกับจิ้งหรีด และชื่อพื้นเมืองของญาติจิ้งหรีดนี้มีแตกต่างกัน ได้แก่ อ้ายโกร่ง หัวตะกั่ว จี้กุ่ง ขี้กุ่ง จี่นายโม้ ขี้หนาย จี่ป่ม และ จี่โป่ง

จิ้งโกร่ง รูปร่างคล้ายกับจิ้งหรีดแต่ค่อนข้างอ้วน มีลำตัวยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร มีสีน้ำตาล หนวดยาวแบบเส้นด้าย หัวกลมและใหญ่ ปากแบบกัดกิน ปีกมีลายเส้นเล็กน้อย ตัวผู้สามารถทำเสียงได้โดยใช้ขอบปีกคู่หน้าสีกัน มีอวัยวะฟังเสียงอยู่ที่บริเวณขาหน้า ในทางโภชนาการชี้ว่า จิ้งโกร่งเป็นแหล่งโปรตีนเช่นเดียวกับจิ้งหรีด

เมนูจิ้งโกร่งคั่วใบมะกรูด หลายคนบอกเอาสเต๊กมาแลกก็ไม่ยอม

ในปัจจุบันผู้คนนิยมบริโภคแมลงมากขึ้น เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่าบางประเภทไม่เป็นอันตราย แถมยังให้ประโยชน์และคุณค่ามากกว่าเนื้อสัตว์เสียด้วยซ้ำ และจิ้งโกร่งก็เป็นแมลงอีกชนิดที่นิยมนำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ รับประทานกัน

ที่จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านตำบลพระบุ รวมกันตั้งกลุ่มเพาะเลี้ยง “จิ้งโกร่ง” ขายเป็นรายได้เสริมยามว่างเว้นจากงานในไร่ในนา อีกทั้งจิ้งโกร่งเป็นแมลงหายาก ตลาดต้องการสูงจึงทำให้มีราคาสูงกว่าจิ้งหรีด ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น หากรายใดมีความพร้อมก็อาจเพาะเลี้ยงเป็นหลักช่วยให้มีรายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน แต่ที่สำคัญขายในพื้นที่ยังไม่พอ

คุณภรณ์กุลยา ประจวบ หรือ คุณอ้อย เจ้าของ “จิ้งโกร่งบ้านสวนฟาร์ม” และเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ตำบลพระบุ อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงแมลงทำเงินชนิดนี้ว่า หลังจากต้องเดินทางกลับมาดูแลพ่อ-แม่ ที่บ้านเกิดจึงคิดหาอาชีพทำ พอเห็นว่าจิ้งหรีดหรือสะดิ้ง เลี้ยงไม่ยากก็เลยไปหาข้อมูลในเน็ตแล้วลองซื้อพันธุ์มาทดลองเลี้ยง

จิ้งโกร่งวัยเด็ก
ไข่จิ้งโกร่ง สีขาว

โดยไปหาซื้อจากฟาร์มใหญ่ ในราคาขันละ 50 บาท เพราะมีทั้งขายพันธุ์และอุปกรณ์ต่างๆ ลงทุนไปแสนกว่าบาท พร้อมได้รับคำแนะนำวิธีเลี้ยง ขณะเดียวกันยังรับซื้อเป็นตัวคืนเพื่อป้องกันปัญหาขาดทุนในกรณีที่ราคาลดลง

จนเมื่อคุณอ้อยเลี้ยงจิ้งหรีดจนเกิดความชำนาญ จากนั้นจึงขยับไปเลี้ยงจิ้งโกร่งเพราะมองว่าตอนนั้นมีคนเลี้ยงกันน้อย และตลาดขาดแคลน การริเริ่มเลี้ยงจิ้งโกร่งของคุณอ้อยในตอนแรกมีหลายคนทักท้วงว่ายากกว่าจิ้งหรีดแล้วเสี่ยงมาก และเธอก็แอบซื้อไข่มาเพาะเลี้ยง จำนวน 1 ขัน ซึ่งมีราคาขันละ 500 บาท นับว่าสูงกว่าไข่จิ้งหรีดที่ขายเพียง ขันละ 50 บาท ทั้งนี้ หลังจากที่เริ่มเลี้ยงระยะหนึ่งเธอยอมรับว่ายากจริง แต่ไม่ท้อ แล้วรู้ทันทีว่าทำไมราคาไข่จิ้งโกร่งจึงแพงกว่าจิ้งหรีด

ขุยมะพร้าวใส่น้ำเพื่อให้ลูกจิ้งโกร่งกิน
กล่องเลี้ยงจิ้งโกร่งสร้างด้วยสมาร์ทบอร์ด ขนาด 120 คูณ 240 เซนติเมตร ด้านบนมีบานปิดด้วยมุ้งลวด

“ตอนแรกที่เพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งจับเป็นตัวได้ประมาณ 3 ขีด จากไข่ 1 ขัน แต่ยังไม่ละความพยายามจึงค่อยๆ เพาะเลี้ยงต่อไปแล้วขยายจำนวนได้เป็น 1 กิโลกรัม แล้วพอจับหลักได้ก็เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ เป็นเท่าทวีคูณ จึงทำให้ลงทุนซื้อไข่ ขันละ 500 บาท เพียงครั้งเดียว”

จิ้งโกร่ง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน หรือ 60 วัน ก็จะได้ตัวเต็มวัย จากนั้นตัวเต็มวัยชุดนี้ก็จะผสมพันธุ์แล้วมีไข่จึงนำไข่ไปขยายพันธุ์ต่อ ทำให้การเลี้ยงจิ้งโกร่งทำได้ตลอดเวลาทั้งปี จับขายมีรายได้ทุก 2 เดือน เพียงแต่หน้าหนาวอาจช้าออกไปอีกเดือน ส่วนฤดูอื่นๆ เป็นปกติ

ในช่วงตัวเต็มวัยทั้งตัวผู้-เมีย จะผสมพันธุ์ โดยใช้ถาดขนาดใหญ่ใส่ขุยมะพร้าวผสมกับดินวางไว้ในกล่องเลี้ยงเพื่อวางไข่ เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วจิ้งโกร่งเป็นแมลงที่ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ จากนั้นแยกไข่ออกมาอบในภาชนะ อาจเป็นกะละมังแล้วใช้ฝาปิดเจาะรูเล็กน้อยเพื่อให้ระบายอากาศ จะฟักตามกำหนด 10-12 วัน แล้วตัวอ่อนจะเดินออกจากขุยมะพร้าวเอง จากนั้น 3-5 วัน ให้นำขุยมะพร้าวที่แห้งแล้ว แล้วให้เลี้ยงต่อโดยนับอายุวันแรกตั้งแต่เมื่อตอนที่แมลงฟักเป็นตัว

 

โรงเรือนเลี้ยงจิ้งโกร่งต้องโล่ง โปร่ง
จิ้งโกร่งตัวเกือบเต็มวัย

ความจริงโดยธรรมชาติจิ้งโกร่งกินพืชผักเป็นอาหาร ซึ่งถ้าทำแบบนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายน้อย แต่ข้อเสียคือโตช้าและไม่แข็งแรง แต่ถ้าเป็นการเลี้ยงในเชิงการค้าแล้วอาหารจิ้งโกร่งควรเป็นอาหารข้นหรืออาหารสำเร็จของแมลงขนาดเล็กและเป็นชนิดเดียวกับจิ้งหรีด การใช้อาหารประเภทนี้ถึงจะลงทุนสักหน่อยก็เพื่อต้องการให้จิ้งโกร่งมีขนาดตัวใหญ่ แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ลดการตายในช่วงลอกคราบและช่วงติดปีก

หลังจากเลี้ยงครบ 1 เดือน หรือ 30 วัน จะต้องปรับอาหารโดยลดอาหารข้นแล้วเพิ่มอาหารประเภทผัก รำ แทน ต่อไปอีก 30 วัน จนจับขาย โดยให้วันละครั้งหรือห่างออกไป ทั้งนี้ ควรคำนวณปริมาณอาหารให้พอดีหรือใกล้เคียงอย่าให้เหลือมาก เพราะถ้าเป็นอาหารเก่าแล้วจิ้งโกร่งมักไม่กิน แต่ถ้าเป็นอาหารใหม่มีกลิ่นแรง จะเป็นที่ชื่นชอบมาก แล้วกินไดัจำนวนมาก ทำให้โตเร็ว แข็งแรงด้วย สำหรับน้ำถ้าในช่วงตัวเล็กจะใส่น้ำไว้ในขุยมะพร้าว พอตัวโตจะเปลี่ยนใส่น้ำในภาชนะแทน

จิ้งโกร่ง มักเลี้ยงกันในกล่องหรือลังที่มีขนาด 120 คูณ 240 เซนติเมตร เพราะสามารถเลี้ยงได้จำนวน 12-20 กิโลกรัม ต่อรุ่น กล่องดังกล่าวอาจใช้วัสดุราคาไม่แพงมาประกอบก็ได้ แต่ควรคำนึงถึงการถ่ายเทอากาศด้วย ซึ่งถ้าเลี้ยงไม่มากอาจวางไว้ในบริเวณที่พอมีอากาศถ่ายเทอย่างใต้ถุนบ้าน ในโรงรถ

คุณอ้อย (ที่ 2 จากขวา) กับสมาชิกกลุ่มเลี้ยงจิ้งโกร่ง

แต่ในกรณีที่เลี้ยงเพื่อเป็นรายได้หลักอย่างคุณอ้อย การสร้างภาชนะสำหรับเลี้ยงจะใช้วัสดุอย่างสมาร์ทบอร์ด ขนาด 120 คูณ 240 เซนติเมตร รองด้วยแผงไข่เพื่อให้จิ้งโกร่งได้อาศัย การเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวสามารถได้ผลผลิตประมาณ 12-20 กิโลกรัม

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การลอกคราบที่ไม่สมบูรณ์ แล้วเกิดการติดปีก ทั้งนี้ มักอยู่ในช่วงที่จิ้งโกร่งมีอายุ 35 วัน กับ 50 วัน ทั้งนี้ วิธีแก้ไขคงทำได้ยากเพราะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่อาจต้องเน้นในเรื่องการให้อาหารที่สมบูรณ์เต็มที่เพื่อจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับตัวอ่อน อีกปัญหาคือเกิดจากความสกปรกของกล่องเลี้ยง เนื่องจากผู้เลี้ยงต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดภายในกล่องเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้สกปรกมิเช่นนั้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอันทำให้จิ้งโกร่งตายในที่สุด

ตลาดที่ขายจะมีลูกค้าที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นการขายในราคาปลีก ส่วนพ่อค้าที่มีรายเล็ก-ใหญ่จะมารับที่ฟาร์มในราคาขายส่ง โดยลูกค้าทุกประเภทจะต้องสั่งจองล่วงหน้าเพราะมีจำนวนจิ้งโกร่งไม่มาก สำหรับราคาจำหน่าย ถ้าเป็นแบบขายปลีกราคา กิโลกรัมละ 220 บาท ราคาขายไข่ ขันละ 250 บาท ส่วนราคาขายส่งจะเป็นเกณฑ์ตามท้องตลาดซึ่งปกติจะอยู่ที่ราคาเฉลี่ย กิโลกรัม 140-160 บาท และถ้ารับซื้อคืนในราคากิโลกรัมละ 140 บาท

จิ้งโกร่ง จะแบ่งเพศเมื่ออายุได้ประมาณ 30 วัน โดยตัวผู้-เมีย โดยสามารถสังเกตเพศได้จากรูปร่างลักษณะ ถ้าตัวเมียจะมีท่อนำไข่ที่เห็นชัด ทั้งนี้ การให้กินโปรตีนสูงอย่างอาหารข้นจะช่วยทำให้ได้เพศเมียจำนวนมาก ซึ่งส่งผลทำให้จิ้งโกร่งสามารถออกไข่ขยายพันธุ์ได้จำนวนมากอันเป็นผลดีต่อผู้เลี้ยงอย่างมาก

ตัวผู้-เมีย กำลังผสมพันธุ์เพื่อวางไข่

คุณอ้อยชี้ว่า สมาชิกในกลุ่ม จำนวน 25 ราย ยังเพิ่งหัดเพาะเลี้ยงแบบมือใหม่ โดยเลี้ยงกันรายละเพียง 1 กล่อง ก่อน ทั้งนี้ หากผลผลิตที่ได้เฉลี่ยรายละ 12 กิโลกรัม (อย่างต่ำ) สมาชิกรายหนึ่งจะมีรายได้เกือบ 3,000 บาท ในช่วงเวลา 60 วัน แล้วหากต่อไปมีความชำนาญเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็จะใช้เวลาเลี้ยงเท่าเดิม แต่จะมีรายได้มากขึ้น

“เพราะถ้าคำนวณรายได้อย่างต่ำที่เลี้ยง กล่องละ 12 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 220 บาท ก็จะมีรายได้เกือบ 3,000 บาท ในเวลา 60 วัน แล้วถ้าเลี้ยงไว้หลายกล่องก็คูณเข้าไปได้อีกมาก แถมยังขายได้ทันทีไม่ต้องรอ เห็นเงินแน่นอน ยิ่งถ้าขยันแล้วปรับมาทำเป็นอาชีพหลักเชิงพาณิชย์ก็ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ”

คุณอ้อยเลี้ยงจิ้งโกร่งมาได้สัก 3 ปี ก่อนหน้านี้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขายมา 6 ปี มีโรงเรือนเดียว แล้วกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติม ขนาดโรงเรือนมีความกว้าง 10 ยาว 20 เมตร ส่วนความสูงขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่ควรให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ด้านข้างต้องโปร่ง หาซาแรน หรือผ้าใบมาปิดถ้ามีลมแรงเกิน ในโรงเรือนสามารถวางกล่องเลี้ยงจิ้งโกร่งและจิ้งหรีดได้จำนวน 40 กล่อง

จิ้งโกร่งมีขนาดตัวใหญ่และอ้วนกว่าจิ้งหรีด

การเรียงแผงไข่ในกล่องเลี้ยง ถ้าจิ้งโกร่งไม่ต้องเต็มพื้นที่ เพราะต้องการกระตุ้นให้พวกมันออกมากินอาหารได้ง่าย ช่วยทำให้โตเร็ว ทั้งนี้ แผงไข่ถือเป็นวัสดุเลี้ยงที่ช่วยให้ทำงานง่าย สะดวก รวดเร็ว เมื่อต้องการเก็บตัวขายก็เพียงเคาะแผงไข่ที่จิ้งโกร่งเกาะให้ตกลงในภาชนะที่เตรียมรองไว้เท่านั้นเอง

ส่วนวัสดุที่นำมาประกอบเป็นกล่องเลี้ยง คุณอ้อยบอกว่า ที่ผ่านมาเคยทดลองใช้วัสดุมาหลายชนิดก็ไม่ดีเท่าสมาร์ทบอร์ดอย่างในตอนนี้ แล้วหากใช้วัสดุตามที่แนะนำมีค่าลงทุนประมาณ 4,300 บาท (รวมค่าไข่และอุปกรณ์แล้ว) แต่ไม่เกี่ยวกับโรงเรือน ขณะนี้ทั่วประเทศให้ความสนใจบริโภคจิ้งโกร่งกันเป็นจำนวนมากทำให้ผลิตไม่ทัน เมนูใช้จิ้งโกร่งปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะทอด คั่ว ยำ ใส่แกง หรือน่าจะทำเป็นข้าวเกรียบ

ดังนั้น การเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งจึงเพียงพอขายเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเท่านั้น สำหรับฟาร์มคุณอ้อยจะขายให้เฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้นเนื่องจากผลิตไม่ทัน ฉะนั้นจึงไม่เพียงพอกับตลาดที่อื่น อย่างไรก็ตาม ตลาดนอกจะเน้นขายไข่มากกว่าเนื่องจากมีลูกค้าที่กำลังเริ่มสนใจเลี้ยงเพื่อหารายได้กันเพิ่มขึ้น โดยมีการแนะนำวิธีเลี้ยงอย่างละเอียดไว้ในกลุ่มไลน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าเป็นอย่างมาก

กล่องเลี้ยงจิ้งหรีด

เจ้าของฟาร์มจิ้งโกร่งบอกต่ออีกว่า แมลงชนิดนี้สามารถเพาะเลี้ยงที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ใช้พื้นที่ไม่มากหากเลี้ยงเป็นรายได้เสริม สำหรับใครที่สนใจขอให้ดูแลจริงจัง พอผ่านไปสักระยะจนเกิดความชำนาญก็จะพบว่าเลี้ยงไม่ยากเลย ที่ผ่านมาไม่นิยมเลี้ยงกันเพราะเจอปัญหาก็ท้อแล้ว

“ถึงแม้จิ้งโกร่งจะเป็นแมลงที่ต้องดูแลเอาใจใส่สักหน่อย จนผู้เลี้ยงเปรียบพวกมันเหมือนลูกน้อย แต่แมลงชนิดนี้ขายได้เงินดีเมื่อเทียบกับการที่ต้องเฝ้าดูแล เพียงแต่ขอให้สร้างภาชนะสำหรับเลี้ยงตามคำแนะนำ แล้วควรตั้งภาชนะในสถานที่สภาพแวดล้อมที่โปร่ง ไม่อับชื้นมากเกินไป รวมถึงควรมีลมผ่านด้วย”

แทบไม่น่าเชื่อว่า เจ้าแมลงตัวเล็กเช่นนี้จะทำเงินให้กับชาวบ้านได้อย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องออกไปตระเวนตากแดดให้เสียเหงื่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวิธีการเลี้ยงจิ้งโกร่งได้ที่ คุณภรณ์กุลยา ประจวบ หรือ คุณอ้อย โทรศัพท์ (099) 036-7019