ปลากดคัง เลี้ยงแบบเข้าใจนิสัย ทำเงินได้สบาย

คุณชัยพร โชคภรณ์ประเสริฐ อยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 1 ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากดคังแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นอาชีพที่สร้างเงินล้านกันเลยก็ว่าได้

ซึ่งปลาชนิดนี้ยังมีคนทั่วไปมองว่าอาจเป็นปลาที่ต้องอยู่ตามธรรมชาติ น่าจะเลี้ยงยากกว่าปลาชนิดอื่น แต่สำหรับคุณชัยพรแล้ว เขาบอกเลยว่าเพียงแค่รู้จักนิสัยปลา รู้จักธรรมชาติของปลากดคัง การเลี้ยงไม่มีอะไรยากอย่างที่คิด

คุณชัยพร บอกว่า พันธุ์ปลากดคังที่นำมาเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่เพาะพันธุ์มาจากจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งที่เพาะพันธุ์ปลากดคังที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ แต่ปัญหาการเลี้ยงที่เจอในช่วงแรกๆ จะเป็นเรื่องลูกปลากินกันเองและอัตราการรอดยังค่อนข้างน้อยอยู่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้เลี้ยงและเฝ้าดูลักษณะนิสัยของปลากดคังอย่างจริงจัง จากปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น กลายเป็นบทเรียนทำให้คุณชัยพรเป็นเจ้าพ่อแห่งการเลี้ยงปลากดคังอย่างสุดตัว

การเลี้ยงปลากดคังมีข้อเสียตรงที่เมื่อคิดที่จะเลี้ยงแล้ว ต้องอดทนในเรื่องเวลาให้ได้ เพราะเวลาที่ปลาเจริญเติบโตให้มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ อย่างน้อยๆ ใช้เวลามากกว่า 1 ปี และถ้าต้องการให้มีขนาดเกิน 3 กิโลกรัม ขึ้นไป ระยะเวลาที่เลี้ยงถึง 3 ปี ก็เลี้ยงมาแล้ว ซึ่งวิธีการเลี้ยงในแบบคุณชัยพร มีวิธีดังนี้

ลูกปลากดคัง

ในช่วงแรกนำลูกปลากดคังมาอนุบาลในบ่อดิน ที่ขนาด 3 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5-2 เมตร โดยตากบ่อให้แห้งแล้วจึงโรยด้วยปูนขาว จากนั้นนำน้ำเข้าภายในบ่อ เพื่อทำน้ำเขียวโดยใช้ขี้ไก่กับน้ำอามิปล่อยทิ้งไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงปล่อยลูกปลากดคังไซซ์นิ้ว ประมาณ 30,000 ตัว ลงภายในบ่อ

“ช่วงนี้เรียกว่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เราต้องมาฝึกการให้อาหาร เพราะเราต้องรู้ด้วยว่าแหล่งปลาที่เขามาส่งขายเรา เขาอนุบาลในบ่อดินหรือว่าบ่อปูน เขาฝึกการให้อาหารแบบไหนมา เราจะได้เลี้ยงต่อได้ในแบบที่ปลาคุ้นเคย” คุณชัยพร กล่าวถึงการดูแลลูกปลาระยะอนุบาล

ซึ่งลูกปลากดคังในระยะนี้จะได้กินอาหารที่เป็นแพลงตอนจากธรรมชาติ และมีการเสริมอาหารกุ้งที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ คุณชัยพร บอกว่า ปลากดคังเป็นปลาที่ต้องใช้อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูง ปลาจะยิ่งเจริญเติบโตได้ดี ให้อาหาร 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ใช้เวลาในการอนุบาลระยะนี้ประมาณ 3-4 เดือน

ปลาภายในบ่อเลี้ยง

“พอครบอายุอนุบาล ปลาจะได้ขนาดประมาณ 13-14 ตัว ต่อกิโลกรัม เราก็จะเตรียมย้ายไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ ซึ่งที่นี่มีบ่อหลายขนาด ตั้งแต่ 10 ไร่ ไปถึง 50 ไร่ แต่ถ้าเหมาะสมก็จะเป็น 10-15 ไร่ ให้มีความลึกประมาณ 2-3 เมตร ปล่อยปลากดคังประมาณ 700 ตัว ต่อไร่ สมมุติเลี้ยงบ่อขนาด 10 ไร่ ก็เท่ากับว่าต้องปล่อยปลา 7,000 ตัว นี่ก็เป็นเทคนิคการปล่อยปลาของที่ฟาร์มเราใช้” คุณชัยพร อธิบาย

ปลาในช่วงอายุนี้จะเปลี่ยนอาหารเป็นเหยื่อสด ให้กินวันละ 1 มื้อ ซึ่งปริมาณของอาหารก็จะดูตามอายุและขนาดของปลา ยิ่งอายุเป็นปีมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นอาหารก็จะต้องให้ในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย

ด้านการดูแลเรื่องโรคของปลากดคัง คุณชัยพร บอกว่า ปลาไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้มากนัก การเกิดโรคจะเป็นเฉพาะช่วงของลูกปลาที่นำมาเลี้ยงในรุ่นนั้นๆ ซึ่งการตายก็อาจมีบ้าง และจะหยุดตายลงมาเอง

“ในช่วงที่ปลาเป็นโรค จำเป็นที่ต้องหยุดให้อาหารปลา จนกว่าปลาจะหยุดตาย แต่ตั้งแต่ที่เลี้ยงปลากดคังมาเรื่องโรคไม่มีปัญหาเหมือนปลาอื่นๆ เพราะนานๆ จะเจอสักครั้งหนึ่ง มันจะเป็นรุ่นๆ ไป ที่ติดมากับลูกพันธุ์ ไม่ใช่ว่าจะเป็นหมด” คุณชัยพร กล่าว

เลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ปี ปลากดคังจะมีขนาดไซซ์กลาง น้ำหนักอยู่ที่ 1.7 กิโลกรัม ต่อตัว ก็สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งจะจับหรือไม่ต้องดูที่ตลาดว่าต้องการไซซ์ขนาดใด

คุณชัยพร เล่าว่า การทำตลาดในช่วงแรกที่เขาสามารถจำหน่ายได้นั้น ค่อนข้างมีอุปสรรค เพราะพ่อค้าที่รับซื้อมีเพียงเจ้าเดียวอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องการจับและขนส่งค่อนข้างมาก

“พอเราเลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จดี คราวนี้พอถึงเวลาจำหน่าย ตลาดยังไม่ค่อยมีอีก พอจำหน่ายได้ยอมรับว่าผลตอบแทนถือว่าดี ช่วงนั้นบอกเลยนะว่ามีท้อ เพราะว่าเราเลี้ยงนาน 2-3 ปี กว่าจะได้จำหน่าย ช่วงนั้นโชคดีที่ทางนครสวรรค์เกิดน้ำท่วม พ่อค้าที่นั่นก็เลยต้องมารับซื้อปลาที่เรา หลังจากนั้นมาเรื่อยๆ ตลาดเราก็เริ่มสร้างขึ้นมาเองบ้าง ซึ่งปลากดคังที่ฟาร์มเราขนาดไซซ์ใหญ่ เราเลี้ยงนานเขาก็เลยต้องการที่จะซื้อ จากตอนนั้นมาถึงตอนนี้เราเลี้ยงปลากดคังอยู่ที่เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ เราเลยมีปลาจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี โดยที่ปลาไม่ขาดตลาด” คุณชัยพร เล่าถึงปัญหาและการจัดการเรื่องตลาด

การจำหน่ายปลากดคัง ตลาดจะชอบปลาที่มีขนาดตั้งแต่ 2 กิโลกรัม ขึ้นไป ซึ่งขนาดไซซ์ 2 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 140 บาท ขนาดไซซ์ 3 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 160 บาท และขนาดไซซ์ 4 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 180 บาท ซึ่งที่ฟาร์มของคุณชัยพรสามารถส่งจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และมีกำลังเลี้ยงส่งจำหน่ายอยู่ที่ 20-30 ตัน ต่อเดือน เลยทีเดียว

“ในเรื่องการทำตลาด ถือว่าเราโชคดีหน่อยที่มีพื้นที่เลี้ยงเยอะ และก็ปลาที่เลี้ยงเป็นปลาขนาดไซซ์ใหญ่ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าเขาชอบปลาไซซ์ใหญ่ แต่ติดว่าไซซ์ใหญ่มันมีราคาแพง มันก็เลยเป็นว่าตลาดปลากดคัง จะมาสู้กันในเรื่องของขนาดไซซ์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องราคา เพราะราคามันคงที่อยู่แล้ว ผันผวนน้อย ซึ่งการที่จะได้ไซซ์ใหญ่มันก็ต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน แต่ผลตอบแทนกับระยะเวลาที่รอก็ถือว่าคุ้มค่า” คุณชัยพร กล่าวอธิบายถึงการแข่งขันของตลาด

คุณชัยพร โชคภรณ์ประเสริฐ และลูกชาย

นอกจากนี้ ปลากดคัง ที่ฟาร์มของคุณชัยพรยังส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยผ่านทางพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อไปอีกทอดหนึ่ง

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลากดคังเพื่อเป็นอาชีพทั้งเสริมหรือหลัก คุณชัยพร แนะนำว่า

“การเลี้ยงปลาชนิดนี้มันเป็นเหมือนวัฏจักร โดยเฉพาะเรื่องการตลาดที่ต้องวนมาแบบเดิมๆ ซึ่งไทยเราเองยังขาดเรื่องการรวมตัว อย่างที่ฟาร์มถามว่าเราประสบความสำเร็จไหม บอกเลยว่าเราประสบความสำเร็จ แต่การที่จะส่งเสริมให้คนเลี้ยง เราก็จะบอกเสมอว่า สภาวะการเลี้ยงมันเป็นแบบนี้นะ มันต้องใช้ต้นทุนยาว ต้องมีเงินทุนหมุนหน่อย ต้องดูว่าถ้าจะเลี้ยงแบบเป็นปลาเศรษฐกิจ 3 ปี นี่รอได้ไหม ทนไหวไหม แต่ถ้าจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมก็ได้ โดยที่เราไม่หวังกับมันมาก ซื้อปลาไปปล่อยทิ้งไว้ในบ่อที่บ้าน มันก็เหมือนสะสมเงินใส่กระปุกออมสิน เราก็ทยอยจับจำหน่ายไปเรื่อยๆ ก็ถือว่าสร้างรายได้ที่ดี มันอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นอะไรมากขึ้นก็ได้” คุณชัยพร กล่าวแนะนำด้วยใบหน้าปนรอยยิ้ม

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากสอบถามเรื่องการเลี้ยงปลากดคัง ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยพร โชคภรณ์ประเสริฐ ที่โทรศัพท์ (086) 367-2111, (088) 490-1900