ผู้เขียน | ทีมข่าวเส่้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเด็นปัญหาที่ว่า ระหว่างที่ยังผ่อนรถ ในระยะสัญญาเช่าซื้อรถ อาจจะเป็น 48 งวด 60 งวด หรือกี่งวดก็ตาม หากรถที่เช่าซื้อมานั้นหายไป ถามว่า ผู้เช่าซื้อยังต้องผ่อนต่อหรือไม่
เรื่องนี้ ต้องพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บัญญัติว่า อันว่า เช่าซื้อ นั้น คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว”
และมาตรา 567 ที่ว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย”
ลักษณะของสัญญาเช่าซื้อ ก็คือสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าย่อมต้องระงับลง นั่นหมายความว่า เป็นอันเลิกสัญญาต่อกัน ผู้เช่าซื้อไม่ต้องผ่อนต่อ
แต่สัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ผู้ให้เช่าซื้อมักกำหนดต่อไปอีกว่า …หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป ผู้เช่าซื้อก็จำต้องผ่อนต่อจนครบสัญญา …… ซึ่ง ในส่วนต่อท้ายนี้ ศาลฎีกามองว่า เป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็เข้าลักษณะเบี้ยปรับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ดังนั้น เมื่อเป็นเบี้ยปรับ ศาลอาจกำหนดลดลงได้
ตัวอย่างคำพิพากษา ในเรื่อง ดังกล่าวมีดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 304/2522
จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ได้จอดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ที่ถนน แล้วถูกคนร้ายลักไปเมื่อถนนดังกล่าวเป็นที่จอดรถได้และมีรถยนต์คันอื่นจอดอยู่หลายคัน ดังนี้จะเรียกว่าจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ได้ เมื่อรถดังกล่าวถูกขโมยลักไปสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ประกอบด้วยมาตรา 567 จำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดที่รถหายเป็นต้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2531
เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่ตั้งแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปหาได้ไม่…
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2525
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงนำบทบัญญัติลักษณะเช่ามาใช้บังคับด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับลงตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อเฉพาะงวดที่รถยนต์ยังไม่สูญหาย และไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำรถยนต์คันนี้ไปแสวงหาประโยชน์ได้อีก
แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อระบุว่าหากเกิดการเสียหายขึ้นแก่รถยนต์ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ผู้เช่าซื้อยินยอมชดใช้ค่าหรือราคารถยนต์ให้เจ้าของ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ ส่วนราคารถยนต์นั้นสมควรกำหนดตามราคาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้โดยให้หักค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วออก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2540
สัญญาเช่าซื้อ… ระบุว่า “ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว… และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ…” … ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก …
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550
เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์
แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก
ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้
แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7 ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึง ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
(เผยแพร่ในเว็บไซต์เส้นทางเศรษฐี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559)
หมายเหตุ : รายการ ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ