ฎีกาชาวบ้าน : จำคุก 5 ปีมีลุ้นรอลงอาญา หลังแก้กฎหมายใหม่

เรื่องของการรอลงอาญา ในภาษาที่เรียกกันทั่วไป หรือ การรอการลงโทษ ในภาษากฎหมาย

ปัจจุบันกำหนดไว้ดังนี้

“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ วรรคแรก ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือ สภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

ดัง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ที่ ๗๖๖๓/๒๕๔๘

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง จำคุกสี่ปี

คำให้การและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกสองปี

จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กระทำความผิดเนื่องจากอารมณ์โทสะที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง และได้รับผลจากการกระทำโดยสูญเสียผู้ตายซึ่งเป็นภริยาที่จำเลยรัก ประกอบกับจำเลยเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สามารถใช้ความรู้สอนนักศึกษาหรือปฏิบัติงานด้านวิชาการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ และยังมีภาระต้องดูแลบุตรซึ่งอายุยังน้อย สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนดสามปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖

โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ด้วยการใช้ความรู้ของจำเลยสอนนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปตามสถานศึกษาหรือสถานที่ต่าง ๆ ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร มีกำหนดห้าสิบชั่วโมง”

พนักงานอัยการโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
พนักงานอัยการโจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
พิพากษายืน

ทั้งนี้ กฎหมายอาญามาตรา 56 วรรคแรก ได้รับการแก้ไขผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว เพียงแต่ รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับเท่านั้น

กฎหมายแก้ไขใหม่ รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๖ วรรคแรก
ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น

(๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดิอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

และเมื่อศาลได้คำนึงคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือ สภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลบร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุก หรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th
นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ที่มา มติชนออนไลน์