ฎีกาชาวบ้าน: กฎหมายค้ำประกัน ไม่รู้…ไม่ได้แล้ว

เรื่องของการค้ำประกันเกิดปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่มาจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จนส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องเข้าใช้หนี้แทน

เรื่องของกฎหมายค้ำประกันมีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ ที่ว่า

“อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

การเข้าค้ำประกันนั้น จะมีทั้งที่เป็นการค้ำประกันโดยบุคคลหลายคน เข้าทำสัญญาค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ และกรณีบุคคลคนเดียวเข้าค้ำประกัน

การเข้าค้ำประกันด้วยคนหลายคน ผู้ค้ำประกันจะมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน นั่นหมายความว่า เจ้าหนี้จะบังคับให้ผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งใช้หนี้แทนจนหมดสิ้น หรือให้เฉลี่ยกัน หรือบังคับที่ใคร มากน้อย อย่างไรก็ได้

ดังที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา ๖๘๒ วรรคสองว่า

“ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้น มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน”

แต่ถ้าเป็นการค้ำประกันด้วยคนๆเดียว การเขียนในข้อสัญญาว่าให้ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วยนั้น ข้อสัญญานี้จะเป็นโมฆะ ตามที่มีการแก้ไขกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ในมาตรา ๖๗๑/๑ ที่แก้ไขใหม่ ดังนี้

“มาตรา ๖๘๑/๑ ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

ทั้งนี้ หมายความว่า สัญญาค้ำประกันยังคงผูกพันอยู่ และผู้ค้ำประกันมีสิทธิเกี่ยง ขอให้เจ้าหนี้ เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน หรือขอให้บังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน หรือ ร้องขอให้ชำระเอาจากหลักประกันที่เจ้าหนี้ยึดถือเป็นประกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๘, มาตรา ๖๘๙ , มาตรา ๖๙๐ ได้

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์ สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ