เผยแพร่ |
---|
กรณีที่ ลูกจ้างลักสมุดเช็คจากนายจ้าง แล้วปลอมลายเซ็น นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ธนาคารก็จ่ายเงินให้ได้ มีคำถามกรณีนี้ ทางธนาคารมีสิทธิ์ไปหักเงินจากบัญชีของนายจ้างหรือไม่ (ใครต้องเป็นฝ่ายรับความเสียหายนี้)
จาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๖๗๒ ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น
นั่นหมายความว่า เงินที่ลูกค้า (เคสนี้คือนายจ้าง) นำไปฝากไว้กับธนาคาร ย่อมเป็นเงินของธนาคารแล้ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (ทางธนาคารจะไปหักเงินจากบัญชีของนายจ้างหรือลูกค้า หาได้ไม่)
กรณีปัญหาดังกล่าวมีคำพิพากษาฎีกาที่เคยตัดสินไว้ ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15447/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน และผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว
เงินฝากของโจทก์ร่วมที่ฝากไว้กับธนาคาร ย. สาขาแจ้งวัฒนะ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารนับแต่วันที่มีการฝากเงิน โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ ธนาคารเพียงแต่มีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น
และในกรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็ค เงินที่ธนาคารจ่ายไปตามเช็คย่อมเป็นเงินของธนาคารและธนาคารไม่มีสิทธิหักจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ดังนี้ เงินที่จำเลยลักไปจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาทแก่โจทก์ร่วม
หมายเหตุ รายการฎีกาชาวบ้านเป็นรายการกฎหมายใกล้ตัวที่เข้าใจได้ง่ายๆ ออกอากาศทาง www.matichon.co.th โดยมีนายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ