ฎีกาชาวบ้าน : คิดจะตบ!! แล้วกะเสียค่าปรับ 500 บาท ไม่ง่ายอย่างที่คิด ระวังงานงอก

หลายคนเข้าใจว่า  หากมีการตบตีทำร้ายร่างกายกันเล็กๆน้อยๆ  จากนั้นก็ขึ้นโรงพัก เสียค่าปรับ ก็จบ

แต่ในแง่ของกฎหมายแล้ว อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะการตบตี ทำร้ายร่างกายอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391ที่ว่า  “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

ในกรณีความผิดตามมาตรา 391นี้  เป็นคดีลหุโทษ  ตามกฎหมายอาญามาตรา 102 ที่ว่า “ความผิดลหุโทษคือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

สำหรับคดีลหุโทษ หากจะเลิกกันได้  ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37    และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 38

นั่น คือ เจ้าพนักงานต้องเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก จะมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ขณะเดียวกัน  ต้องมีความยินยอมของผู้ต้องหาและผู้เสียหายด้วย   คดีจึงจะเลิกกันได้ด้วยการปรับของเจ้าพนักงาน

ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าถ้าเจ้าพนักงานไม่เห็นควร หรือ หากผู้เสียหายไม่ยินยอม หรือแม้ผู้เสียหายยินยอมแต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอม    ก็เป็นไปได้ว่าเรื่องอาจจะถึงศาล นั่นคือ ไม่จบง่ายๆ ด้วยการเสียค่าปรับ ดังที่เข้าใจกัน

หมายเหตุ รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ที่เข้าใจได้ง่ายๆ  โดยนายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน ผู้ดำเนินรายการ