ฎีกาชาวบ้าน : บังคับกราบ-ชกต่อย กรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท?

อันที่จริงแล้ว แม้จะมีการประกันภัยในลักษณะต่างๆ เพื่อความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถ ให้มีบริษัทประกันภัยเข้ามารับภาระความเสี่ยงในส่วนนั้นไป โดยเจ้าของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ได้เอาประกันภัย และจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ขับขี่กันเอง อันจะนำไปสู่การวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน นำไปสู่การบาดเจ็บเสียหายต่อร่างกายที่มีค่ายิ่งกว่า

ทว่า ปัญหาใช้ถนนร่วมกันมีโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย ไม่เฉพาะในบ้านเรา แม้ต่างประเทศเองก็มีเกิดขึ้นให้ได้เห็นใน วิดิโอ คลิป ทาง YouTube กันอยู่เสมอๆ

หากว่าเกิดเหตุแล้ว ผู้เป็นเจ้าของรถที่ถูกเฉี่ยวชน ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ถึงขนาดลงจากรถไปคว้าคอเสื้อคู่กรณีอีกฝ่าย ลากมาดูแผลที่เกิดจากการเฉี่ยวชน แถมด้วยชกหน้าคู่กรณี บังคับให้กราบร่องรอยถูกชน หรือให้ทำอย่างอื่น จนผู้ถูกบังคับลากมานั้นยอมกระทำ โดยมีเพื่อนที่มาด้วยลงมายกมือห้ามไม่ให้คนอื่นยุ่งเกี่ยว เมื่อผู้ที่เห็นเหตุการณ์ตะโกนให้สติว่า อย่าทำร้ายกัน

กรณีเช่นนี้ อาจบานปลายกลายเป็นการกระทำความผิดอาญาที่ต้องระวางโทษร้ายแรงได้ เช่นผู้ที่ไปคว้าคอคู่กรณีลากมา อาจจะมีความผิดในความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 คือ กระทำด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายได้

ทั้งอาจจะผิดตาม มาตรา 309 เรื่องการข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการตามที่ตนต้องการ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้อื่นต้องกระทำการเช่นนั้นตามที่ต้องการ

ถ้าได้ชกต่อยจนผู้นั้นบาดเจ็บ ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 295 คือ ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผูอื่นนั้น

หากกระทำจนถึงขนาดผู้ที่ถูกกระทำบาดเจ็บสาหัส เช่น หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว ทุพพลภาพ หรือ เจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือ จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน หรือ ตาบอด หูหนวก เสียอวัยวะสืบพันุธุ์ เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใดไป ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 297 ได้ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้กระทำมีโทษหนักขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น หากเป็นกรณีว่า มีพรรคพวกของผู้กระทำ ลงมาร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย แม้ไม่ได้ลงมือลงไม้เอง แต่อาจมีข้อเท็จจริง ว่าการปรากฏตัวอยู่ในเหตุการณ์ในทำนองทำให้ผู้ก่อเหตุเกิดความมั่นใจ เกิดความฮึกเหิมใจในการกระทำการ หรือ อาจจะแสดงท่าทาง-พูดจาอย่างใดในทางส่งเสริมผู้กระทำ คอยช่วยเหลือ หรือ อำนวยความสะดวกผู้กระทำแม้เล็กน้อย ก็อาจตกเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 86 อันมีโทษถึง 2 ใน 3 ของโทษสำหรับความผิดนั้นด้วยก็ได้ ซึ่งคงต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป ว่าได้มีการดำเนินการส่อไปเช่นนั้นหรือไม่

ทั้งนี้ การกระทำที่เกิดขึ้นนั้น นับแต่คว้าคอคู่กรณีดึงลากมา แล้วชกต่อย บังคับให้กราบร่องรอยถูกเฉี่ยวชน อาจวินิจฉัยได้ว่า เป็นการกระทำหลายกรรมต่อเนื่องกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจต้องโทษโดยเรียงกระทงลงโทษต่อเนื่องกันไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวศาลก็ใช้บทกฎหมายที่มีโทษสูงสุดลงโทษไปเพียงมาตราเดียว ตามมาตรา 90 ว่าไว้

หากเป็นกรณีเช่นนี้ คงเป็นที่น่าเสียดายว่า เหตุการณ์อุบัติเหตุเฉี่ยวชนกัน ที่ผู้เฉี่ยวชนมีความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ในกรณีชนแล้วหนี และอาจมีความรับผิดทางละเมิดกรณีกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นที่ต้องชดใช้ กรณีไม่ได้ทำประกันภัย กลับกลายเป็นว่า ผู้ที่รถถูกเฉี่ยวชน แต่ได้มาลงไม้ลงมือกับผู้เฉี่ยวชน อาจต้องเผชิญกับคดีอาญามีโทษร้ายแรง ทั้งอาจต้องชดใช้ค่าแทนแทนแก่ผู้ที่ตนทำร้ายเสียเองด้วย

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ