6 วิธีสร้างแบรนด์ให้สตรอง สไตล์คุณโซอี้ เจ้าของผ้าพันคอแบรนด์ดัง

 6 วิธีสร้างแบรนด์ให้สตรอง สไตล์คุณโซอี้ เจ้าของแบรนด์ผ้าพันคอ Zoe Scarf

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานมหกรรมตลาดนัดผลิตภัณฑ์สินค้ากลุ่มสตรีและครอบครัว “สร้างอาชีพให้มั่นคง สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

มีการจัด workshop เรื่อง “การเพิ่มยอดขาย สร้างโลกธุรกิจใหม่ด้วยไลน์แอด” โดย เภสัชกรหญิง โสภา พิมพ์สิริพาณิชย์ หรือ คุณโซอี้ เจ้าของผ้าพันคอ แบรนด์ Zoe Scarf จากแบรนด์ขายออนไลน์สู่การส่งออกกว่า 8 ประเทศ แต่กว่าจะมาไกลได้ถึงขนาดนี้ คุณโซอี้ก็เริ่มจากการขายออนไลน์มาก่อนเช่นกัน

ภญ.โสภา พิมพ์สิริพาณิชย์ หรือ คุณโซอี้ เจ้าของแบรนด์ผ้าพันคอ โซอี้ สคาร์ฟ

“ตอนนั้นธุรกิจออนไลน์ก็กำลังมา คนกำลังเล่นเฟซบุ๊ก แล้วเราเป็นนักช็อปออนไลน์มาก่อนก็รู้สึกว่า เราก็่ขายของออนไลน์ได้นะ แล้วส่วนตัวชอบผ้าพันคอ ในตู้เสื้อผ้ามีแต่ผ้าพันคอซึ่งมันเยอะมาก มีตั้งแต่ผืนละ 20 ถึงผืนละหมื่น แต่มันไม่มีีลายที่เราชอบ เลยมองว่าถ้าเกิดเราได้ออกแบบลายที่เราชอบบนเนื้อผ้าดีๆ คงดีไม่น้อยนะ ลงมือออกแบบเอง ส่งโรงงานเอง เลยเป็นที่มาของผ้าพันคอ แบรนด์ โซอี้ สคาร์ฟ นั่นเอง และธุรกิจเราเติบโตเร็ว เริ่มต้นจากขายในเฟซบุ๊ก 6 เดือน แล้วดันแบรนด์เข้าขายในห้างทั่วประเทศได้ ผ่านไปอีก 2 เดือน สามารถส่งออกไปขายกว่า 8 ประเทศ กระทั่งเริ่มมีรายการต่างๆ ให้ความสนใจกับเรา มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์” คุณโซอี้ กล่าว

จากนั้นเธอจึงได้บอกเทคนิคการตลาดออนไลน์ ที่ได้จากประสบการณ์ทำงาน มาแบ่งปันให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยมี  6 ข้อ น่ารู้ไว้ ดังนี้

  1. การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง คือ การสร้างบุคลิกของแบรนด์ ว่าจะให้คนจดจำแบรนด์แบบไหน ซึ่งชื่อแบรนด์ สีประจำแบรนด์ สื่อที่ใช้นำเสนอแบรนด์นั้น ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น ไอโฟนสร้างบุคลิกแบรนด์ให้คนมองว่า ฉลาด เรียบหรู ทันสมัย ซึ่งไอโฟนทุกรุ่น มีลักษณะเป็นแบบนี้มาตลอด สีของไอโฟนก็จะเป็นสีเรียบๆ หรูๆ เป็นต้น

2. การสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ เพราะสินค้าบริการในปัจจุบันแทบไม่ได้มีความต่างกันเลย แต่ถ้าเราสร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ จะสามารถดึงดูดความสนใจให้คนเลือกซื้อสินค้าของเราได้ โดยเรื่องราวของแบรนด์จะต้องมี 2.1 ตัวละคร ซึ่งอาจจะเป็นตัวผู้ประกอบการเอง 2.2 ให้เล่าว่าเมื่อก่อนได้ทำอะไร ผ่านอุปสรรคอะไรมา ยิ่งยากลำบากเท่าไหร่ยิ่งดี 2.3 มีจุดสะเทือนใจ เช่น เมื่อก่อนทำงานบริษัท แล้วเกิดสภาวะฟองสบู่แตกโดนเชิญออกจากงาน เป็นต้น 2.4 มีจุดเปลี่ยน เช่น พอโดนเชิญออกก็อยู่บ้านเฉยๆ แต่ที่บ้านมีบ่อปลาก็ลองเพาะพันธุ์ปลาขาย สุดท้าย 2.5 ผลลัพธ์ออกมาเหนือความคาดหมาย เช่น พอเพาะพันธุ์ปลาขายกลับมีรายได้ดีกว่าตอนทำงานบริษัท เป็นต้น

3. สินค้าต้องมีความคุ้มค่า  เมื่อผู้ประกอบการมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินค้า มีที่มาที่ไปสมเหตุสมผล ผู้บริโภคก็จะมองข้ามเรื่องราคา ความแพงไป เพราะรู้สึกคุ้มค่าที่จะเสียเงินให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ

4. ต้องมีรูปภาพสวยๆ ไว้โปรโมต เพราะรูปสวยๆ เป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้คนอยากซื้อสินค้านั้น

5. คอนเทนต์ คนมักจะสนใจรูปภาพหลายๆ รูปหรือวิดีโอ มากกว่าการโพสรูปภาพเพียงภาพเดียว ฉะนั้น ถ้าจะโพสภาพขายออนไลน์ อย่าหวงรูป โพสหลายๆ มุม หลายๆ แบบ ให้ผู้บริโภคได้เห็นเยอะๆ จะเป็นการดึงดูดความสนใจเขาได้มาก

6. การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ใครๆ ก็อยากเป็นคนพิเศษ เราต้องทำให้ผู้บริโภคที่มาซื้อของกับเรารู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษ ก็จะทำให้เขาอยากกลับมาซื้ออีก การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญ

คุณโซอี้ กล่าวปิดท้ายเอาไว้สั้นๆ ด้วยว่า  คนจะชอบฟังดราม่า เรื่องราวของคนอื่น เป็นเหตุให้ปัจจุบัน จึงมีการเลือกซื้อสินค้าจากเรื่องราว และดูรูปภาพวิดีโอมากกว่ามานั่งหาข้อมูลยาวๆ อ่าน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว สร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์สินค้าของตน เพื่อให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคและสามารถเติบโตได้