มทร. ศรีวิชัย เจ๋ง!! สร้างเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด สะดวกง่ายต่อการใช้งาน

อาจารย์วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สร้างเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด สามารถลดความเมื่อยล้า  สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน การบำรุงรักษา สามารถลดแรงงานคนในการทำงาน เพิ่มการผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย

เครื่องแยกเนื้อและเส้นใยตาลโตนด สามารถทำงานแทนแรงงานคนที่มีจำกัด เพื่อลดเวลาในการแยกเนื้อและเส้นใยตาลโตนด และลดการใช้ปริมาณแรงงานคนในขั้นตอนดังกล่าวให้ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยทั้งผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ เครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับพืชผลทางการเกษตรที่มีเส้นใยติดผลชนิดอื่นๆ ได้อีก เช่น ผลหมาก ผลมะพร้าว เป็นต้น โดยเฉพาะการแยกเส้นใยจะสามารถใช้กับเครื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณความต้องการเนื้อผลตาลโตนดสุกของชุมชนในแต่ละวันจะต้องใช้เนื้อตาลโตนดสุก ประมาณ 80-100 กิโลกรัม ซึ่งกำลังการผลิตของชาวบ้าน ต่อ 1 คน ใน 1 ชั่วโมง จะผลิตได้ 2 กิโลกรัม โดยใช้มือเปล่าเป็นเครื่องมือในการผลิต ส่วนเครื่องแยกเนื้อผลตาลโตนด สามารถผลิตได้ 10 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง และสามารถแยกเส้นใยผลตาลโตนดได้ 6 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง วิธีการแยกเนื้อตาลโตนดสุกและเส้นใยตาลโตนด เพื่อนำไปแปรรูปทำขนมตาลหรือจำหน่ายนั้น ใช้วิธีการต้มแล้วใช้ตะกร้าหรือช้อนในการขยี้และขูดเพื่อแยกเนื้อตาลโตนดออก ส่วนเส้นใยตาลโตนดใช้แรงงานคนในการตัดหรือดึงออกจากกะลา ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยาก เพราะเนื้อตาลโตนดและเส้นใยตาลโตนดที่ติดอยู่กับผลตาลโตนดนั้นมีความเหนียวมาก ทำให้เสียเวลาและแรงงานในการแยกเนื้อตาลและเส้นใยตาลโตนด

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b9%82

 

เครื่องแยกเนื้อและเส้นใยผลตาลโตนด มีหลักการทำงานโดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 ชุดแยกเนื้อผลตาลโตนด ใช้มอเตอร์ต่อเข้ากับมูเล่ส่งกำลังไปยังเพลาถังปั่นแยกเนื้อผลตาลโตนด เพื่อจะแยกเนื้อผลตาลโตนดออกจากเส้นใยผลตาลโตนด

ชุดที่ 2 ชุดแยกเส้นใยผลตาลโตนด จะใช้มอเตอร์ ต่อกับ เกียร์ทด โดยใช้คัปปลิ้งต่อกับเกียร์ทดส่งกำลังไปยังเฟืองเพลาขับ ซึ่งเพลาขับจะหมุนเข้าหากัน ทำหน้าที่ดึงเส้นใยออกจากผลตาลโตนด โดยผลการทดลองเครื่องแยกเนื้อและเส้นใยตาลโตนด จะมีความสามารถในการแยกเนื้อตาล ประมาณ 4.2 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง คิดเป็น 2.8 เท่า ของแรงงานคนที่มีความสามารถในการขยี้เนื้อตาลโตนดได้เพียงประมาณ 1.5 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง และเครื่องแยกเส้นใยสามารถแยกเส้นใยได้ ประมาณ 6 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง คิดเป็น 1.66 เท่า ของแรงงานคนที่มีความสามารถในการตัดเส้นใย ได้ประมาณ 3.6 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง เพราะเมื่อแรงงานคนปฏิบัติงานเป็นระยะเวลาหนึ่งผู้ปฏิบัติงานจะมีความเมื่อยล้าเกิดขึ้น ในขณะที่เครื่องแยกเนื้อและเส้นใยตาลโตนดสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง มีวิธีใช้งานที่สะดวก ง่ายต่อการบำรุงรักษา ลดความเมื่อยล้า เพิ่มผลผลิตให้เร็วยิ่งขึ้น และใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b9%82%e0%b8%95%e0%b8%99%e0%b8%94

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ (081) 569-7303

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์