ยุคธนบัตรพลาสติก “โพลีเมอร์” เฟื่องฟู ใช้งานนาน ทนทาน คงทน

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้เผยโฉมตัวอย่างธนบัตร 5 ปอนด์แบบใหม่ให้ประชาชนได้เห็นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก มีรูปภาพของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ อยู่ด้านหลังธนบัตร และจะนำออกมาใช้วันที่ 13 กันยายนนี้

เรื่องนี้มีความหมายกับคนอังกฤษมาก เพราะเท่ากับว่านี่คือจุดเริ่มต้นทยอยปิดฉากการใช้ธนบัตรกระดาษที่เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อ 320 ปีที่แล้ว

ธนบัตร 5 ปอนด์ของอังกฤษจะเป็นธนบัตรชนิดแรกที่ทำออกมาใช้ ด้วยวัสดุพลาสติกโพลีเมอร์ (Polymer) หลังจากนั้น ในปีหน้า 2560 จะตามมาด้วยธนบัตร 10 ปอนด์ มีรูปเจน ออสเตน นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษบนธนบัตร จากนั้นภายในปี 2563 จะออกธนบัตร 20 ปอนด์ มีรูปโจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ นักวาดภาพแนวภูมิทัศน์ชาวอังกฤษ

ส่วนธนบัตร 50 ปอนด์ ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่ามากที่สุดในขณะนี้นั้น ทางธนาคารยังไม่มีแผนจะออกใหม่ในอนาคตอันใกล้ เพราะเพิ่งออกรุ่นใหม่ไปเมื่อปี 2554

นายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ บอกว่า ธนบัตรโพลีเมอร์แบบ 5 ปอนด์ จะมีอายุการใช้งานได้ 5 ปี มีความทนทานและคงทนต่อ “ไวน์แดง เถ้าซิการ์ สุนัข และเครื่องซักผ้า”

กล่าวคือ หากโดนไวน์แดงหยดใส่ สีก็ไม่ติดธนบัตร เถ้าบุหรี่หรือซิการ์ก็ไม่ทำให้ธนบัตรเป็นรอยไหม้แน่นอน  (ยกเว้น จุดไฟเผาโดยตรง) หากถูกเจ้าตูบขม้ำ ธนบัตรก็ไม่ฉีกขาดเพราะมันเป็นพลาสติก ดังนั้น จึงไม่ต้องพึ่งสก๊อตเทปแปะธนบัตรอีกต่อไป หรือถ้าใครลืมไว้ในกระเป๋าและนำไปเข้าเครื่องซักผ้า รับรองว่าธนบัตรจะไม่ยับย่น

ธนาคารชาติอังกฤษแถลงผลการทดสอบในห้องแล็บว่า ธนบัตรโพลีเมอร์จะเริ่มย่นและละลายที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า ธนบัตรทนทานต่อการถูกปั่นรอบแล้วรอบเล่าในเครื่องซักผ้า และถ้าถูกความร้อนจากเตารีดที่ไม่สูงเกิน 120 องศาเซลเซียส ก็แปลว่าธนบัตรจะไม่เสียหาย

ออสเตรเลีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกที่นำธนบัตรพลาสติกมาใช้เมื่อปี 2531 จากนั้นความนิยมก็แพร่หลาย ว่ากันว่ามีมากกว่า 24 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ แคนาดา ฟิจิ มอริเชียส สิงคโปร์ เม็กซิโก โรมาเนีย เวียดนาม และอิสราเอล ได้เปลี่ยนจากธนบัตรกระดาษล้าสมัยมาเป็นธนบัตรพลาสติกโพลีเมอร์กันหมดแล้ว

โครงการเปลี่ยนธนบัตรกระดาษมาเป็นพลาสติกโพลีเมอร์ของอังกฤษ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ใช้งบราว 70 ล้านปอนด์ในการวิจัยพัฒนาและผลิตธนบัตรชนิดใหม่ โดยเห็นว่าธนบัตรโพลีเมอร์ดีกว่าธนบัตรกระดาษหลายอย่าง เช่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่า ประหยัดกว่าในระยะยาวเพราะมีความคงทนกว่า ประเมินว่าสามารถประหยัดงบการผลิตได้ถึง  100 ล้านปอนด์ แม้ว่าในการผลิตตอนแรกมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผลิตธนบัตรกระดาษก็ตาม นอกจากนั้น การปลอมแปลงยังทำได้ยากกว่าด้วย

ประเทศแคนาดาซึ่งนำธนบัตรโพลีเมอร์ออกมาใช้เมื่อปี 2554 บอกว่าการใช้ธนบัตรโพลีเมอร์ไม่มีปัญหาอะไร  ตลอด 5 ปี มีแต่ข้อดีที่ธนบัตรปลอมลดลงอย่างมากถึง 74% แม้ต้นทุนผลิตจะแพงหน่อยแต่รอบการใช้นานกว่า สรุปแล้วประหยัดกว่า

อย่างไรก็ตาม ธนบัตรโพลีเมอร์ก็มีข้อเสียเช่นกันเพราะจะทำให้บรรดาห้างร้านและธนาคารต่างๆ ในอังกฤษต้องปรับระบบตู้กดเงินเอทีเอ็มและตู้หยอดเงินเพื่อให้สามารถรับธนบัตรโพลีเมอร์ได้ เนื่องจากเป็นธนบัตรที่มีขนาดเล็กกว่าธนบัตรกระดาษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 15% คาดว่าการปรับปรุงใหม่จะมีค่าใช้จ่ายราว 230 ล้านปอนด์

สำหรับธนบัตรโพลีเมอร์หรือเงินพลาสติกไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้แทนธนบัตรกระดาษเป็นครั้งแรกนั้น จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกราคา 500 บาท แบบพิเศษ (โพลีเมอร์) จำนวน 1 ล้านฉบับ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน และในวันที่ 3  ธันวาคม พ.ศ. 2539 ได้ออกใช้ธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 50 บาท แบบพิเศษ (โพลีเมอร์) จำนวน 100 ล้านฉบับ

แสดงว่า ไทยก็นำเทรนด์โลกไม่น้อยหน้าใครเขาเหมือนกันในเรื่องนี้ ใช้โพลีเมอร์มาตั้งแต่ 20 ปีก่อน!

ในสมัย นายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ได้ยินมาว่า ต้นทุนการผลิตสูงกว่ามูลค่าจริงของธนบัตรมากเมื่อใช้ไปเป็นเวลาพอสมควรก็เลยมีการยกเลิกการใช้ไปในที่สุด รุ่นใหม่ที่พิมพ์ออกมาใช้อยู่ตอนนี้กลายเป็นกระดาษเหมือนเดิมแล้ว

มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ปัญหาธนบัตรโพลีเมอร์ของไทยคือ นำมาใช้ก่อนกาล เพราะคุณภาพการผลิตเวลานั้นต่ำกว่ายุคนี้มากและไม่ใช่โพลีเมอร์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนผสมของกระดาษด้วย ดังนั้น เมื่อนำมาใช้จึงเกิดสีลอกได้ โดยลอกตามรอยพับอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้น ยังหัก ยับง่าย ทำให้ไม่น่าใช้งาน และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือ แพ้เตารีด โดนความร้อนแล้วหงิกงอทันที (ตอนนั้นไม่มีผลวิจัยว่าสามารถทนความร้อนในอุณหภูมิสูงขนาดใด)

ตอนที่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษเริ่มโครงการนี้เมื่อ 3 ปีก่อน และประกาศว่าจะนำภาพเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ มาใช้แทนภาพเอลิซาเบธ ฟราย นักปฏิรูปด้านสังคมนั้น มีคนโวยกันยกใหญ่ อ้างว่าแบบนี้ก็เท่ากับว่า นอกจาก สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองแล้ว ก็จะไม่มีรูปภาพบุคคลที่เป็นเพศหญิงบนธนบัตรของอังกฤษเลยล่ะสิ (ขณะนี้ธนบัตรอังกฤษทุกมูลค่า ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง) อีกไม่กี่เดือนถัดมา ทางธนาคารถึงได้ประกาศว่า จะนำภาพ เจน ออสเตน มาใช้บนธนบัตรโพลีเมอร์ 10 ปอนด์ ซึ่งทำให้เสียงไม่พอใจเงียบไป

ว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาพของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ ถูกนำมาใช้บนเงินตราของอังกฤษ เมื่อปี 2508 ได้มีการนำรูปของเขาไปใช้บนเงินเหรียญ 5 ชิลลิงมาแล้ว (ตอนนี้อังกฤษไม่ใช้หน่วยเงินชิลลิงแล้ว) หลังจากที่ธนบัตรพลาสติก 5 ปอนด์ออกมาใช้ในเดือนกันยายนนี้ ทางธนาคารก็จะทยอยเก็บธนบัตรกระดาษออกไปจากระบบ โดยธนบัตรแบบเก่าจะสามารถใช้งานได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2560

ธนาคารชาติอังกฤษยังเตือนด้วยว่า ตอนใช้ธนบัตรโพลีเมอร์ตอนแรกๆ ธนบัตรอาจติดกัน เช่น คนอาจคิดว่าเป็นธนบัตรใบเดียว แต่มี 2 ใบซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม พอใช้ไปเรื่อยๆ เรื่องธนบัตรติดกันก็จะหายไป นอกจากนั้น อย่าเข้าใจผิดว่าธนบัตรโพลีเมอร์เป็นอะไรที่ทำลายไม่ได้ หรือปลอมแปลงไม่ได้

แต่การปลอมอาจจะต้องใช้เวลานานกว่า และมีค่าใช้จ่ายในการปลอมสูงกว่า