ศิลปะพับกระดาษแบบโอริกามิ สายยุโรป เกิดที่ “สเปน”

ไหนๆ ก็ทำตัวเป็นกูรูด้านศิลปะกระดาษแล้วขอไปให้สุดทางเลยนะ จึงต่อด้วยเรื่องการพับกระดาษแบบโอริกามิให้จบสิ้นไปรวดเดียวเลย

ORIGAMI เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลตรงตัวว่า “การพับกระดาษ” จะออกเสียงว่า โอริงามิ โอริกามิ หรือ ออริกามิ ก็ได้ตามสะดวก

คำคำนี้หมายถึงการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นตามต้นแบบที่สืบทอดกันมาจากวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ และยังคงให้เกียรติเรียกทับศัพท์ว่า โอริกามิ ของญี่ปุ่น จนเป็นที่เข้าใจตรงกันทั่วโลกว่าหมายถึงศิลปะการพับกระดาษให้เป็นรูปร่างต่างๆ

หลังจากความรู้เรื่องการผลิตกระดาษจากจีนแพร่เข้าไปในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็สร้างสรรค์กระดาษสารพัดชนิดขึ้นมากมาย และนำกระดาษมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น พับเป็นกระดาษห่อของขวัญช่วงเทศกาลสำคัญ ใช้ห่อเก็บของใช้ในครัวเรือน เช่น สมุนไพร และใช้ห่อช่อดอกไม้เป็นของขวัญ ซึ่งดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีวิธีการห่อที่พิเศษแตกต่างกันออกไป

แต่เรื่องศิลปะการพับกระดาษนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กำเนิดนะคะ แม้ชื่อเรียกทางสากลจะยอมรับชื่อ ORIGAMI กันก็ตามที

อันที่จริงแล้วศิลปะการพับกระดาษนั้นแบ่งออกเป็น 2 สายคือ สายเอเชีย เริ่มจากญี่ปุ่น กับ สายยุโรป เริ่มจากประเทศสเปน

ในสายเอเชียด้วยกันเองนั้นประเทศจีนก็อ้างว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์การพับกระดาษมาก่อนใคร เพราะเป็นผู้ผลิตกระดาษได้รายแรกของโลก ย่อมรู้จักวิธีการเล่นกับกระดาษเป็นอย่างดี และอย่าได้แปลกใจหากจะเคยได้ยินว่านักประวัติศาสตร์เยอรมันบางคนก็อ้างสิทธิ์ว่าเยอรมนีต่างหากที่เป็นผู้ริเริ่มศิลปะโอริกามิรายแรกด้วยเหตุผลที่ว่า คำว่า  “Origami” นั้นเป็นการแปลมาจากรากศัพท์ภาษาเยอรมัน คำว่า “Papierfalten”

แต่ไม่ว่าใครจะอ้างสิทธิ์อะไร สุดท้ายแล้ววงการศิลปะการพับกระดาษก็ยอมรับว่าต้นกำเนิดโอริกามิ แยกออกไปเป็น 2 สายมีที่มาจาก 2 ประเทศนี้เท่านั้น คือ ญี่ปุ่น กับ สเปน

ศิลปะการพับกระดาษของสเปนนี้ตามประวัติบอกว่ามาจากพวกมัวร์ (Moore) ซึ่งบุกเข้ามายึดครองสเปนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 พวกมัวร์เป็นชนเผ่ามุสลิมที่มาจากแถบแอฟริกาเหนือ โดยพวกมัวร์นิยมพับกระดาษเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบต่างๆ เนื่องจากในศาสนาอิสลามห้ามการสร้างรูปสัตว์

ต่อมาชาวคริสต์สามารถชิงดินแดนสเปนคืนกลับมาจากพวกมัวร์ได้ในปี ศ.ศ. 1492 จากนั้นมา สเปนก็พัฒนาการพับกระดาษขึ้นมาเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ โดยเริ่มจากการพับนก เรียกว่า papiroflexia หรือ pajarita (แปลว่า นก) และจากจุดเริ่มต้นที่สเปนนี้เองศิลปะการพับกระดาษสายยุโรปก็ได้แพร่เข้าสู่ประเทศทางแถบอเมริกาใต้ที่เป็นอาณานิคมของสเปนในเวลาต่อมา

เอกลักษณ์ของโอริกามิสายพันธุ์สเปนคือแบบแผนรูปทรงเรขาคณิตที่เห็นได้ชัดเจน ดังจะเห็นตัวอย่างได้จาก นกปาคารีตา (pajarita) ซึ่งเป็นการพับนกพื้นเมืองของสเปนที่แปลกและแตกต่างจากการพับนกแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นมาก

ถือเป็นต้นแบบศิลปะกระดาษแนวทางสเปน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปทรงของนกปาคารีตาของสเปนนั้นไปคนละทางกับนกกระเรียนของญี่ปุ่น รูปทรงเรขาคณิตของสเปนดูออกทันทีว่าเป็นรูปนก แต่ค่อนข้างแข็ง มีเหลี่ยมมุมแบบเรขาคณิต ขณะที่รูปทรงนกกระเรียนของญี่ปุ่นนั้นมีความอ่อนช้อยสมจริงในความเป็นนกมากกว่า

ศิลปะการพับกระดาษแบบสเปน ถือเป็นต้นทางโอริกามิสายยุโรปที่แพร่ขยายออกไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ในยุคเรอเนซองส์ชนชั้นสูงชาวอิตาลีนิยมตกแต่งโต๊ะรับประทานอาหารด้วยการพับผ้าเช็ดมือเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น นก เรือ และเริ่มมีการเผยแพร่หนังสือคู่มือวิธีพับกระดาษในยุคนี้

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานด้วยว่าในยุควิคตอเรียของอังกฤษ โอริกามิเป็นงานอดิเรกที่เด็กชาวอังกฤษนิยมกันมาก  ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ประเทศเยอรมนี ได้ตั้งโรงเรียนอนุบาลที่มุ่งเน้นใช้การพับกระดาษแบบโอริกามิเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำให้โอริกามิได้รับความสนใจไปทั่วโลก

วงการพับกระดาษในญี่ปุ่นและในโลกมีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในทศวรรษที่ 1950 เมื่อยอดนักพับกระดาษชาวญี่ปุ่นชื่อ โยชิซะวะ อะกิระ (Yoshizawa Akira) ได้คิดแบบพับใหม่หลายแบบ รวมทั้งวิธีการพับแปลกๆ เช่น พับกระดาษชนิดหนา พับขณะเปียกแล้วปล่อยให้แห้ง รวมทั้งคิดสัญลักษณ์วิธีการพับซึ่งกลายเป็นภาษากลางสำหรับการสื่อสารของผู้ที่หลงใหลในการพับกระดาษ

นับแต่นั้นมา ศิลปะโอริกามิก็เบ่งบานสะพรั่งไปทั่วโลก

หลักสำคัญของการสร้างสรรค์ศิลปะ Origami คือ จะต้องไม่มีการใช้กาว, การฉีก, การตัด, การตกแต่งอื่นใดนอกจากกระดาษเพียง 1 แผ่นเท่านั้น และกระดาษนั้นต้องเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ราวทศวรรษที่ 1970 ศิลปะการพับกระดาษก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เมื่อมีการคิดค้นเทคนิคการพับอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้รูปร่างต่างๆ ตามต้องการ โดยใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์มาช่วยเสริมจินตนาการให้กลายเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น

การพับกระดาษในยุคสมัยใหม่ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการพับที่ไม่ยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ แบบคลาสสิกอีกแล้ว พร้อมกับอ้าแขนรับแนวความคิดใหม่จนถึงขั้นที่จะพับอะไรก็ได้ตามใจนึก ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการพับครึ่งตามแบบฉบับของโอริกามิ ลืมเรื่องข้อห้ามการตัดกระดาษและการใช้กาวแบบเดิมไปเสีย ดังนั้น ผลที่ได้จึงกลายเป็นโมเดลที่แปลกใหม่ ตระการตา และเหนือจินตนาการ

ต้นทางการใช้ของโอริกามินั้น ปัจจุบันได้พัฒนามาใช้ในการพับแผนที่ พับถุงลมนิรภัย แม้กระทั่งเป็นต้นแบบให้กับการพับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปสู่อวกาศ และทุกวันนี้นักพับกระดาษเก่งๆ บางคนได้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบโอริกามิของพวกเขาให้แปลกแหวกแนว จนเราสามารถพูดได้ว่าขอบเขตของโอริกามิไม่มีขีดจำกัดอีกแล้ว

สำหรับภาพโอริกามิที่เลือกมาให้ชมนี้ เป็นผลงานการพับกระดาษของ “กอนซาโล การ์เซีย คาลโว” (Gonzalo Garcia Calvo) นักดนตรีชาวสเปนที่อาศัยอยู่ในกรุงแมดริด แต่อุทิศเวลาว่างของเขาเพื่อศิลปะการพับกระดาษที่เขารักและหลงใหลอย่างแท้จริง

แนวทางของ กอนซาโล การ์เซีย คาลโว เห็นได้ชัดถึงรูปทรงงานพับกระดาษสมัยใหม่และการก้าวพ้นออกไปจากกฎเกณฑ์เดิมๆ ในการพับกระดาษ กลายเป็นงานศิลปะที่มีพลังในการสร้างสรรค์สูง สวยงาม และเป็นที่ยกย่องชื่นชมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคสื่อสังคมออนไลน์มีพลังอย่างมากนี้ งานพับกระดาษของกอนซาโล การ์เซีย คาลโว กลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากมายให้กับคนรุ่นใหม่ที่รักและหลงใหลในศิลปะการพับกระดาษ

กอนซาโล การ์เซีย คาลโว มีความสามารถโดดเด่นในการพับรูปสัตว์ทุกชนิด ด้วยกระดาษชิ้นเล็กๆ เขาสามารถสร้างสรรค์ได้สารพัด ตั้งแต่แมงมุมที่กำลังชักใย ไก่ แมว สุนัข วัว ม้า มังกร หรือแม้กระทั่งสัตว์ในตำนานต่างๆ

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังสร้างสรรค์ศิลปะการพับกระดาษเป็นรูปทรงแปลกตาอื่นๆ ตามที่เขาชื่นชอบ เช่น ตัวละครในภาพยนตร์ไซไฟ มหากาพย์เรื่อง “สตาร์วอร์ส” โดยเขาใช้เทคนิควิธีการพับหลากหลายแบบรวมกัน เช่น พับกระดาษขณะที่ยังเปียกอยู่เพื่อให้เกิดผิวสัมผัสที่ต้องการเมื่อแห้ง และใช้วิธีพับแบบเส้นโค้งบางๆ เพื่อให้เกิดรูปทรงสมจริงของสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวทำให้งานโอริกามิของกอนซาโล การ์เซีย คาลโว มีความสมจริง น่าตื่นตา ตื่นใจมาก

นำเรื่องทั้งหมดมาเล่าให้ฟังเพื่อเปิดจินตนาการของคนไทยให้สร้างสรรค์ศิลปะการพับกระดาษได้เก่งๆ เหมือนคนอื่นเขาค่ะ