คุยเฟื่องเรื่องกระดาษ และ “ศิลปะกระดาษ”

เล่าเรื่องถึงรถยนต์กระดาษให้เห็นไอเดียในการสร้างสรรค์ของชิ้นใหญ่ๆ ด้วยกระดาษได้อย่างน่าทึ่งไปแล้ว เกิดอาการติดลมถึงขนาดไปค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของกระดาษมาได้เยอะแยะ ก็เลยต้องเอามาเล่าสู่กันฟังหน่อย

ตอนที่พวกเราเรียนวิชาประวัติศาสตร์แบบท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองนั้นคงพอจะนึกออกนะว่าเราถูกป้อนข้อมูลในหัวว่า หลังจากผ่านยุคการจดบันทึกใส่กระดองเต่า กระดูกสัตว์ หรือแม้แต่บนแผ่นดินเหนียวแล้ว เราก็เข้าสู่ยุคของการบันทึกบนแผ่นกระดาษเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล

ซึ่งเป็นยุคอียิปต์ที่อารยธรรมมวลมนุษยชาติเริ่มรุ่งโรจน์ ที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการคิดค้นผลิตกระดาษขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการนำเอาต้นกกโบราณที่มีชุกชุมแถบลุ่มแม่น้ำไนล์มาลอกเอาเยื่อบางๆ ออกแล้วนำมาวางเรียงซ้อนทับกันเป็นแนวขัดขวางกัน แล้วบดอัดจนแน่นก่อนจะนำไปผึ่งแดด เมื่อแห้งดีก็นำมาใช้จดบันทึกเรื่องราวสิ่งต่างๆ ในลักษณะตัวอักษรภาพ และเรียกแผ่นที่ใช้บันทึกนี้ว่า

กระดาษปาปิรัส (Papyrus)

สำหรับเครื่องมือบันทึกนั้น ชาวอียิปต์จะนำหญ้ามาทุบปลายให้เป็นฝอยคล้ายพู่กัน ใช้ขีดเขียนลงบนกระดาษปาปิรัส และต่อมาได้พัฒนามาใช้ปล้องหญ้าตัดปลายให้แหลมคล้ายปากกา จุ่มกับหมึกที่ทำมาจากถ่านไม้บดละเอียดผสมกับยางไม้ ซึ่งทำให้การจดบันทึกลงบนกระดาษปาปิรัสเป็นไปได้ด้วยดีและเฟื่องฟูมาก

แต่…อย่าเพิ่งท่องจำกันเพลินนะ เพราะหลักฐานการค้นพบกระดาษปาปิรัสตั้งแต่ยุคอียิปต์นั้นนักโบราณคดีและนักวิจัยสมัยใหม่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “ปาปิรัส” ยังไม่นับเป็นกระดาษค่ะ เนื่องด้วยปาปิรัสนั้นใช้วิธีต่อเนื้อเยื่อซ้อนเข้าด้วยกัน ทำให้กระดาษชนิดนี้ไม่ได้ต่อกันเป็นเนื้อเดียวอย่างแท้จริง

สิ่งที่นักโบราณคดีและนักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นกระดาษชิ้นแรกของโลกคือ กระดาษที่ถูกประดิษฐ์ในประเทศจีน ราวปี ค.ศ. 105 โดยขุนนางชื่อ “ไช่ หลุน” ซึ่งได้เสนอวิธีการทำกระดาษต่อองค์จักรพรรดิของจีน จนกระทั่งเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก

ไช่ หลุน เป็นขันทีชาวจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งถือกันว่าคิดค้นกระดาษและวิธีผลิตกระดาษชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อันต่างจากกระดาษปาปิรัสของอียิปต์ แม้ในประเทศจีนมีกระดาษหลายรูปแบบมาตั้งแต่ 200 ปีก่อน ค.ศ. แล้ว แต่ ไช่ หลุน ได้พัฒนาและสร้างมาตรฐานอันโดดเด่นให้แก่กระบวนการผลิตกระดาษเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มวัสดุใหม่เข้าไปในองค์ประกอบกระดาษ

ใน ค.ศ. 105 ไช่ หลุน คิดค้นองค์ประกอบของกระดาษและวิธีผลิตกระดาษอย่างใหม่ (แต่บางคนเห็นว่า ความจริงแล้วเป็นผลงานของบุคคลคนหนึ่งซึ่งวรรณะต่ำกว่าไช่ หลุน) ในบันทึกบอกไว้ว่า ใช้วิธีนำเปลือกไม้ เศษแห อวน เศษผ้า  และเส้นใยจากพืชต่างๆ มาต้มจนได้เป็นเส้นใย นำมาฟอกสี เติมสารเคลือบเนื้อลงไป เพื่อให้ไม่มีการดูดซับน้ำหมึกมากเกินไปเมื่อนำไปใช้งาน เมื่อได้เป็นเส้นใยกระดาษแล้วจะนำมาเกลี่ยบนตะแกรงปล่อยไว้จนแห้ง จนกลายเป็นกระดาษเรียบบางที่มีเนื้อเดียวกัน

 

วิธีและอุปกรณ์ผลิตกระดาษในปัจจุบันนั้นได้พัฒนาซับซ้อนไปกว่าเดิมมาก แต่โดยหลักแล้วทั้งโลกยังคงใช้กรรมวิธีแบบไช่ หลุน นี้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ไช่ หลุน จึงได้รับการยกย่องตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่มาตลอด จนเมื่อเขาสิ้นชีวิตแล้ว  จดหมายเหตุจีนจึงระบุว่า

“แต่เดิมมักเขียนและจารึกอักษรลงบนซีกไผ่หรือแพรไหม…แต่ผ้าไหมราคาสูง ส่วนซีกไผ่ก็น้ำหนักมาก ใช้ไม่ใคร่สะดวก ไช่ หลุน จึงคิดผลิตกระดาษจากเปลือกไม้ เศษปอ เศษผ้า และเศษอวน เขาทูลเสนอผลงานต่อพระเจ้าแผ่นดินในปีแรกแห่งรัชกาลเซี่ยวเหอ พระองค์ตรัสชมสติปัญญาเขาอย่างยิ่ง นับแต่นั้น ทุกแห่งทุกหนคนจึงใช้กระดาษ และเรียกกระดาษว่า กระดาษท่านไช่”

แม้สูตรผลิตกระดาษที่แท้จริงของไช่ หลุน สูญหายไปสิ้นแล้ว แต่ก็มีบันทึกว่าพระเจ้าเหอโปรดผลงานของไช่ หลุน  อย่างยิ่ง จึงประทานลาภยศสรรเสริญหลายประการให้แก่ไช่ หลุน และในสมัยหลัง ผู้คนนับถือบูชาไช่ หลุน ในฐานะบรรพบุรุษของชาติ

ไช่ หลุน เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการผลิตกระดาษให้กับราชสำนักทั้งหมด แต่การทำกระดาษก็ยังถูกเก็บเป็นความลับไว้ในแผ่นดินจีนยาวนานกว่า 500 ปี จึงค่อยแพร่ออกสู่โลกภายนอก

กระดาษของไช่ หลุน นิยมใช้เป็นสื่อการเขียนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศจีนในช่วงนั้น และทำให้ประเทศจีนพัฒนาอารยธรรมหลายประการได้รวดเร็วอย่างยิ่ง เมื่อไช่ หลุนตายหลายร้อยปีแล้ววิธีผลิตกระดาษของเขาจึงได้แพร่หลายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7

และแพร่หลายเข้าสู่ยุโรปในปี ค.ศ. 751 เมื่อกองทัพราชวงศ์ถังปราชัยแก่กองทัพอาหรับในยุทธการแม่น้ำต้าหลัว  ซื่อ (Battle of Talas River) ช่างผลิตกระดาษชาวจีนจำนวนหนึ่งถูกชนอาหรับจับกุมไว้ได้ การผลิตกระดาษจึงไปสู่ซีกโลกตะวันตกนับแต่นั้น โดยเข้าสู่อียิปต์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 10 และกระจายเข้าสู่ยุโรปอย่างแท้จริงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ผ่านทางประเทศสเปนและอิตาลี ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติวิธีสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างต่อเนื่อง และเนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวอาหรับและยุโรปในช่วงสงครามครูเสด กระดาษอย่างจีนจึงได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลายและช่วยส่งเสริมรากฐานของวิชาการในยุโรปต่อมา

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จีนได้ประกาศให้กระดาษเป็น 1 ใน 4 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ของจีน (Four Great Inventions)  ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ แสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้แก่

เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ การพิมพ์

ชาวจีนสมัยโบราณใช้วิธีเขียนหนังสือลงบนแผ่นไม้ไผ่ กระดองเต่า และกระดูกสัตว์ แต่ทั้งหมดนี้มีน้ำหนักมาก พกพาไม่สะดวก สมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นเริ่มเห็นว่าการเขียนลงบนผ้าไหมดีกว่าการเขียนลงบนแผ่นไม้มาก แต่ผ้าไหมก็เป็นสินค้าที่มีราคาแพงเกินไป กระทั่งถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เกิด “กระดาษไช่ หลุน” ขึ้น นับเป็นประดิษฐกรรมของชาวจีนที่นำความภาคภูมิใจนี้ส่งต่อไปยังทั่วโลก

ชาวจีนเป็นต้นคิดในการผลิตกระดาษก็จริง แต่สหรัฐอเมริกากลับเป็นผู้สร้างโรงงานทำกระดาษขึ้นเป็นชาติแรกเมื่อ ค.ศ. 1690 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย ส่วนเครื่องจักรทำกระดาษนั้นประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1804 โดย เฮนรี่ และ  ซิลี ฟูดรินิแอร์ สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส

และทำไมคนไทยจึงเรียกว่า “กระดาษ”? คำว่า กระดาษ แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Paper ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Papyrus แต่คำว่า กระดาษ ที่ใช้กันอยู่เพี้ยนมาจากคำว่า Cartas ในภาษาโปรตุเกสที่โดยเข้าใจว่าโปรตุเกสเป็นผู้นำกระดาษแบบฝรั่งเข้ามาก่อนสมัยอยุธยา คำว่า กระดาษ จึงติดปากใช้กันมาตั้งแต่สมัยนั้น

สำหรับศิลปะกระดาษ (Culture Paper) ที่ปรากฏมาในอารยธรรมมนุษยชาติจนถึงยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสูง ต้องยอมรับว่ากระดาษยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายทอดวิทยาการ การสื่อสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ในงานศิลปะ งานวัฒนธรรม เช่น ใช้พิมพ์หนังสือ ใช้เป็นกระดาษเขียนภาพ เขียนโคลงกลอน บัตรอวยพร นามบัตร พัด ตุ๊กตา โคมไฟ ร่ม ประดิษฐ์ดอกไม้ กระดาษห่อของขวัญ ศิลปะกระดาษตัดแบบจีน รวมถึงการพับกระดาษโอริกามิ และศิลปะกระดาษตัดแบบจีน

วิวัฒนาการการพับกระดาษแบบโอริกามิของญี่ปุ่นนั้นเริ่มขึ้นหลังจากได้รับความรู้เรื่องการผลิตกระดาษต่อจากจีน ในยุคแรกๆ นั้นกระดาษเป็นของหายากและมีราคาแพง ทำให้ศิลปะการพับกระดาษจำกัดอยู่ในแวดวงพิธีกรรมทางศาสนาหรือพวกคนชั้นสูง (เช่น ซามูไร) ซึ่งจะมีธรรมเนียมการห่อของขวัญเป็นรูปแบบเฉพาะตัว

ต่อมา เมื่อกระดาษผลิตได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง ทำให้การพับกระดาษแพร่หลายออกไปในวงกว้าง แต่การถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้ทำโดยการสอนจากแม่สู่ลูก เป็นการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่คนในตระกูลเท่านั้น โดยยังไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

รูปแบบของโอริกามิมีความซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1200 มีการพับกระดาษแสดงถึงสถานที่สำคัญต่างๆ จนต่อมาในศตวรรษที่ 18 มีเอกสารที่กล่าวถึงการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุด คือหนังสือชื่อ เซมบาซุรุ โอริกาตะ  (Sembazuru Orikata) หรือ “วิธีพับนกกระเรียนพันตัว” ซึ่งออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1797 เป็นหนังสือสอนพับกระดาษเล่มแรกของโลกที่สร้างความแปลกใหม่ในวงการพับกระดาษ จึงถือให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือพับกระดาษเชิงนันทนาการเล่มแรกของโลก ทั้งนี้การพับกระดาษเป็นรูป กบ และ นก นับเป็นรูปแบบการพับกระดาษที่เก่าแก่ที่สุด

ส่วน ศิลปะกระดาษตัด แบบจีนนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระดาษแกะ หรือ กระดาษตัดลายประดับ สร้างขึ้นโดยการแกะลายด้วยมีด กรรไกร กับกระดาษ 1 แผ่นเท่านั้นก็สามารถประดิษฐ์ผลงานศิลปะให้สวยสดงดงามได้ตามจินตนาการ

ศิลปะกระดาษตัด จึงแทรกอยู่ในวิถีชีวิตจีนชาวบ้าน ถูกนำมาตกแต่งของขวัญบ้าง ตกแต่งกระจก หน้าต่างทุกบานบ้าง ในด้านความเชื่อก็มีการนำภาพเสือและมังกรมาติดธงเพื่อขจัดสิ่งเลวร้าย นอกจากนี้ มีการนำกระดาษมาใช้เป็นศิลปะตกแต่ง เช่น โคมไฟในเทศกาลเอวี๋ยนเซียวจะครึกครื้นมาก ด้วยเหตุที่อาศัยรูปแบบต่างๆ ของกระดาษมาตกแต่งโคมไฟ กระดาษตัดจึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย

เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ชิง ความนิยมนี้ได้แพร่หลายเข้าสู่ราชสำนัก ด้วยการผนึกกระดาษตัดเป็นอักษรมงคล ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส เนื่องจากสภาพสังคมจีนเป็นสังคมเกษตรกรรม เนื้อหาในกระดาษจึงเกี่ยวกับการเกษตร เช่น ภาพพืชผักผลไม้ ดอกไม้ สัตว์ แมลง งานศพ งานมงคล งิ้ว พงศาวดาร นิทานพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนกระดาษที่ใช้แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ กระดาษตัดสีเดียว ส่วนมากมักใช้สีแดงเป็นหลัก

หลังจากนั้น ศิลปะกระดาษก็พัฒนาก้าวหน้าแพร่หลายเป็นรูปแบบมากมายในปัจจุบัน

 

//////////