“ฟุโรชิกิ” ผ้าห่อมหัศจรรย์ ใช้ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ ไม่กินพื้นที่ สารพัดฟังก์ชั่นใช้ประโยชน์

 

ฟุโรชิกิ (Furoshiki) ถือเป็นวัฒนธรรมในการห่อของขวัญด้วยผ้า ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีความเก่าแก่และประณีตมากที่สุด มีมาตั้งแต่สมัยช่วงศตวรรษที่ 14

ว่ากันว่าฟุโรชิกิเป็นสิ่งสำคัญในยุคโชวะ สมัยนั้นชาวญี่ปุ่นทุกคนมีจำนวนฟุโรชิกิเก็บไว้ใช้ส่วนตัวประมาณ 20 แผ่นในทุกขนาดสำหรับห่อของในตู้เสื้อผ้าที่นอนหมอนมุ้ง ถือว่าเป็นกระเป๋าเดินทางที่มีให้เลือกใช้ครบทุกขนาดเลยทีเดียว

แรกสุดมันถูกใช้ห่อเสื้อผ้าเพื่อถือไปร้านอาบน้ำสาธารณะ จากนั้นมันก็ถูกนำไปใช้กับการห่อสินค้าตามร้านทั่วไป ไม่ใช่ห่อเพื่อให้ดูมิดชิด แต่เป็นการห่อเพื่อให้ถือจับกลับบ้านได้อย่างสะดวก หรือห่อด้วยลีลาอย่างวิจิตรพิสดารเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับของกำนัล

แต่เดิมนั้น ฟุโรชิกิ เป็นผ้าที่ทุกคนต้องมีไว้เพื่อใช้ห่ออุปกรณ์ที่ใช้อาบน้ำเมื่อไปอาบน้ำในห้องอาบน้ำสาธารณะ โดยผ้าห่อของนี้จะใช้ปูเพื่อวางของบนพื้นในห้องอาบน้ำได้ด้วย จะเห็นได้จากรากศัพท์ของคำนี้  Furoshiki คำว่า ฟุโร furo แปลว่า ห้องน้ำ ส่วน ชิกิ shiki  แปลว่า การวางแผ่ออกไป

อธิบายอย่างง่าย ฟุโรชิกิ คือ การใช้ผ้าหนึ่งผืนห่อของ เพื่อป้องกันการแตกหัก เพื่อให้ถือได้ง่าย และเพื่อความสวยงามแบบเดียวกับกระดาษห่อของขวัญ

ไม่มีการกำหนดขนาดตายตัวของฟุโรชิกิ มีตั้งแต่ขนาดเหมาะมือไปจนถึงใหญ่กว่าผ้าปูที่นอน แต่ขนาดมาตรฐานอยู่ราวๆ 45 x 68-72 เซนติเมตร

ความน่าสนใจของผ้าสี่เหลี่ยมผืนนี้คือ มันสามารถนำไปห่ออะไรก็ได้ รูปทรงใดก็ได้ อาศัยแค่จินตนาการกับเทคนิคการผูก พับ จับ ม้วน เท่านั้น พอถึงบ้านก็คลี่กลับเก็บ พร้อมกางมาใช้ใหม่ได้ไม่รู้จบ

ข้อดีคือ เมื่อคลี่ออกมาแล้ว เรายังสามารถใช้มันปูรองกล่องข้าวได้ด้วย และอีกอย่างที่ยังเห็นบ่อยก็คือ ใช้ห่อของขวัญ

ต่อมาฟุโรชิกิถูกนำไปใช้ในการห่อสินค้าตามร้านทั่วไป จนปัจจุบันนิยมมาใช้ในการห่อสินค้าในเทศกาลต่างๆ ตั้งแต่วันเกิด เทศกาลปีใหม่ และห่อกันในห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต

เรียกว่ามีทั้ง ประโยชน์ใช้สอย และ ประโยชน์ใช้สวย

ฟุโรชิกิอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมานาน จนถึงช่วงหลังสงครามที่ถุงพลาสติกเริ่มเข้ามามีบทบาท ชาวอาทิตย์อุทัยก็เริ่มหันไปใช้ถุงพลาสติกแทน เพราะรู้สึกว่าสะดวกกว่า ฟุโรชิกิเลยลดบทบาทลงจนเกือบสูญพันธุ์ แต่ก็ยังใช้ห่อกล่องข้าวกันบ้าง(อย่างที่เราเห็นในหนังและการ์ตูน)

ตามปกติแล้วห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาเก็ต มักมีการห่อของด้วยกระดาษต่างๆ หรือกระดาษรีไซเคิล แต่อย่างไรเสียกระดาษเหล่านั้นเมื่อใช้แล้วก็จะกลายเป็นขยะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆในด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

จนกระทั่ง “ยุริโกะ โคะอิเคะ” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้นำเอาศิลปะการห่อผ้าแบบ ฟุโรชิกิ (Furoshiki) มาเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาขยะ เมื่อปี 2549 ซึ่งในขณะนั้น ประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณขยะจากถุงพลาสติกมากถึง 60 ตันต่อปี ก็ปรากฏว่าฟุโรชิกิได้รับความนิยมอย่างยิ่ง

ขยะจากถุงพลาสติกนั้นแต่ละประเทศต่างก็มีวิธีจัดการกับปัญหานี้ต่างกันออกไป ยากบ้าง ง่ายบ้าง ไม้นวมบ้าง ไม้แข็งบ้าง แต่ญี่ปุ่นขอแก้ปัญหาด้วยการใช้ฟุโรชิกิ สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาเอง ฟังดูน่าทึ่งมาก

เมื่อพูดถึงฟุโรชิกิ สิ่งแรกที่คนนึกถึงคือ มันมีความเป็นญี่ปุ่นจ๋า แต่ว่าดูแก่และเชย แต่เมื่อนำเสนอมันอย่างถูกที่ถูกเวลา ฟุโรชิกิเลยกลายเป็นของสุดเก๋ที่แสนจะเหมาะกับยุคสมัยนี้มาก

ทั้งในแง่แฟชั่น และสิ่งแวดล้อม

มันดีกว่ากระเป๋าใดๆ ในโลก เพราะมันคือผ้าผืนเดียวที่สามารถใช้ห่ออะไรก็ได้ นำกลับมาใช้ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ ไม่กินพื้นที่ ไม่ซ้ำใคร

ฟังก์ชั่นไม่น้อยไปกว่าถุงพลาสติก และเท่กว่าถุงผ้าเป็นไหนๆ

ยูริโกะ โคะอิเกะ ไม่ได้แค่ออกมารณรงค์ให้คนหันกลับมาใช้ฟุโรชิกิ แต่เธอทำเป็นโครงการใหญ่โต สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับฟุโรชิกิ

ในฐานะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ยูริโกะ โคะอิเกะ ได้ออกแบบสร้างสรรค์ฟุโรชิกิ ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า มอตไตไน ฟุโรชิกิ (Mottainai Furoshiki) คำว่า มอตไตไน แปลว่า เสียดาย แต่ทีมผู้จัดตั้งใจจะหมายความว่า รู้สึกอายที่ปล่อยให้บางอย่างกลายเป็นขยะโดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และสิ่งพิเศษสุดของฟุโรชิกิรุ่นนี้คือเนื้อผ้าทอจากขวดพลาสติกรีไซเคิล

นอกจากทำผ้าแล้ว ยูริโกะ โคะอิเกะ ยังทำชาร์ตสอนวิธีห่อฟุโรชิกิแบบต่างๆ ทั้งห่อหนังสือ ขวดไวน์ แตงโม ฯลฯ คลิปเคลื่อนไหวก็มีให้ดูใน Youtube

การชวนกันมาใช้ฟุโรชิกิแทนถุงพลาสติกจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

เพราะมันทั้งสวยเก๋ เท่กว่าถุงผ้า และอีกหลายๆ ถุง ที่สำคัญ มันแสดงถึงรากเหง้าของชาวญี่ปุ่นเต็มร้อย

ซึ่งในปัจจุบัน ฟุโรชิกิ ก็ยังเป็นที่นิยม กลายเป็นของสุดเก๋ ที่เหมาะกับยุคนี้มากๆ ทั้งในแง่แฟชั่น และสิ่งแวดล้อม เป็นแค่ผ้าผืนเดียวที่ใช้ห่ออะไรก็ได้ แถมยังสามารถนำกลับมา Reuse ใช้ซ้ำ กี่ครั้งก็ได้ มีน้ำหนักเบา และพับเก็บได้ง่ายเมื่อไม่ต้องการใช้ ไม่กินพื้นที่ ไม่ซ้ำใคร ฟังก์ชั่นไม่น้อยกว่าถุงพลาสติก แต่เท่ห์กว่าถุงผ้า

ปัจจุบันยังมีโรงเรียนสอนศิลปะการมัด ฟุโรชิกิ เพื่อสืบสานคุณค่าของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสามารถต่อยอด นำมาใช้กับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

เป็นวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มีเสน่ห์ น่าภูมิใจ และไม่ซ้ำใคร โดย ญี่ปุ่น ได้ประกาศเชิญชวนให้ชาวโลกหันมาใช้ ฟุโรชิกิ ด้วย ซึ่งก็กำลังได้รับความนิยมมากในต่างประเทศเช่นกัน

งานนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนแต่ฝั่งรัฐบาล ทางฝ่ายศิลปินรุ่นใหม่ราว 30 คนก็ยังรวมตัวกันออกแบบฟุโรชิกิด้วยหลายไอเดีย เพื่อให้สอดรับกับสังคมยุคนี้ ไม่อย่างนั้นใช้แล้วกลายเป็นป้าแก่ๆ ได้ พวกเขาเลยเล่นกับทั้งลายผ้า เนื้อผ้า

ดีไซเนอร์บางคนมองว่าฟุโรชิกิเปลี่ยนรูปร่างไปตามสิ่งที่ห่อ ตัวมันเลยไร้รูปร่างแล้วว่าก็ออกแบบตามคอนเซปต์นี้ บางคนก็มองว่าฟุโรชิกิต้องการสมองคน เพราะเราต้องคิดวิธีที่จะใช้มันเองไม่ใช่ออกแบบลายเท่านั้น ศิลปินเหล่านี้ยังคิดวิธีห่อแบบใหม่สำหรับห่อในสิ่งที่พวกเขาอยากห่อด้วย

บางคนถึงขนาดเอาไปห่อหมา!

ตอนนี้ฟุโรชิกิเป็นสิ่งที่แสนแมส สามารถหาซื้อได้ทั่วไป มีเว็บขายเป็นเรื่องเป็นราว สิ่งที่ควรรู้ก็คือ เวลาเลือกซื้อเราต้องดูทั้งสองด้าน ไม่ใช่ดูด้านเดียวเหมือนซื้อผ้าทั่วไป เพราะสีด้านหลังจะเป็นตัวเพิ่ม ตัวเบรก ตัวตัด กับลายด้านหน้า เวลาห่อ

ตอนนี้คนเลยหันมาใช้ฟุโรชิกิห่อของขวัญกันมากขึ้น เพราะนอกจากมันจะทำหน้าที่เป็นผ้าห่อแล้วตัวมันยังทำหน้าที่เป็นของขวัญอีกชิ้นหนึ่งด้วย

การกลับไปหารากเหง้าของตัวเองครั้งนี้ ทำให้ญี่ปุ่นพบวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แสนจะมีเสน่ห์ และน่าภูมิใจ ถึงขนาดประกาศให้ทั้งโลกหันมาใช้ฟุโรชิกิเลยทีเดียว

ฟุโรชิกิ สามารถห่ออะไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีรูปทรงหรือขนาดที่แตกต่างกันทั้งทรงกลมเหมือนผลแตงโม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือขวดแปลกๆ

 นอกจากใช้ห่อของแล้วชาวญี่ปุ่นยังสามารถใช้ฟุโรชิกิเป็นผ้าพันคอเมื่ออากาศเย็นและทำเป็นเสื่อเมื่อนั่งอยู่กลางแจ้งก็ได้ ทำให้ได้รับความสะดวกมาก เพราะฟุโรชิกิสามารถพับเป็นขึ้นเล็ก ๆ พกพาติดตัวไปไหนได้ง่าย

เห็นแล้วนึกถึง “ผ้าขาวม้า” ของเรานะคะ ภูมิปัญญาแบบไทยๆ ที่มีมานานไม่แพ้ ฟุโรชิกิ ของญี่ปุ่นเลย

“ผ้าขาวม้า” ของเราก็เป็นผ้าสารพัดประโยชน์สุดแสนมหัศจรรย์ แต่น่าเสียดายที่พี่น้องคนไทยต่างพากันทำหายสูญไปจากอารยธรรมโดยไม่มีใครสนใจไยดี

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเราไม่มีคนระดับรัฐมนตรีที่เอาใจใส่ในการรักษาสืบทอดรากเหง้าที่ทรงคุณค่าเอาไว้ได้

ผ้าขาวม้าเลยอดอวดเสน่ห์แข่งกับใคร

///////////////////////////////////