ภูเขาหนังสือ ที่เนเธอร์แลนด์

 ทราบ แต่ว่าหอสมุดเมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งในพันธกิจของการเป็น “เมืองหนังสือโลกปี 2556” สืบเนื่องจากการที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็น “เมืองหนังสือโลก ประจำปี 2556” (World Book Capital 2013) และหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินงานให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้ คือ โครงการจัดสร้างหอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ของชาวกรุงเทพมหานคร

เดิม กทม. ได้เสนอยูเนสโกว่าจะปรับปรุงศาลาว่าการ กทม. 1 เสาชิงช้าให้เป็นหอสมุดประจำเมือง และพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย โดยตั้งเป้าหมายให้คนอ่านหนังสือเพิ่มประมาณ 10-20 เล่มต่อปีภายในปี 2556 จากเดิมที่ปัจจุบันคนอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปีเท่านั้น แต่เนื่องจากยังไม่มีกำหนดจะย้ายศาลาว่าการ กทม. 1 ไปยัง ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดงเมื่อใด จึงต้องเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เพื่อจัดตั้งหอสมุดเมือง ในระยะเวลา 30 ปี

อาคารดังกล่าวมี 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,000 ตารางเมตร จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งก่อสร้าง การปรับปรุงพื้นที่และตกแต่งภายในประมาณ 200 ล้านบาท และจ่ายอัตราค่าเช่าประมาณปีละ 24 ล้านบาท จะเปิดบริการได้ปลายปี 59 หรือต้นปี 60

กรุงเทพมหานครบอกว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จจะถือเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมือง เพราะตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงมีแนวคิดที่จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และ กทม. จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่ก่อรายได้ ต้องการให้บริการฟรีแก่ประชาชน โดยหวังว่าจะทำให้เข้าถึงการอ่านมากขึ้น

             กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ 13 ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก โดยก่อนหน้านี้ ได้แก่ มาดริด (สเปน) อเล็กซานเดรีย (อิยิปต์) นิวเดลี (อินเดีย) อันท์เวิร์ป (เบลเยียม) มอนทรีออล (แคนาดา) ตูริน (อิตาลี) โบโกตา (โคลัมเบีย) อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) เบรุต (เลบานอน) ลูเบียนา (สโลเวเนีย) บัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) และเยเรวาน (อาร์เมเนีย)   

นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูน ซึ่งเดิมจะใช้พื้นที่ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) แต่เมื่อหารือกับหลายฝ่ายแล้วเห็นว่าควรจัดตั้งที่อาคารยูนิลิเวอร์ บริเวณพิพิธภัณฑ์เด็ก กทม. (จตุจักร) เป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทออกแบบอาคารแล้ว ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับเครือข่ายการ์ตูน เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ รวมไปถึงการบริหารจัดการเมื่อแล้วเสร็จ มีกำหนดให้บริการในปี 2559.

            นับว่าเป็นข่าวดีของชาวกทม. แม้จะช้าไปหน่อยแต่ดีกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประเทศที่พัฒนาได้รวดเร็วรัฐบาลจะสนับสนุนและงบประมาณด้านการศึกษาอย่างทุ่มเท มีหอสมุดและสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ใจกลางเมืองอำนวยความสะดวกสบายเต็มที่ อย่างเช่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น เรื่องหอสมุดเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างน้อยก็พิสูจน์ว่ากทม.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของชาติเราได้

เรามาดูเรื่องของต่างบ้านต่างเมืองกันดีกว่า ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เพิ่งเปิดตัวห้องสมุดประชาชนแห่งใหม่ล่าสุดเมือง Spijkenisse เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการตั้งชื่อว่า “ภูเขาหนังสือ” (Book Mountain) จากการออกแบบที่ได้รับการยกย่องว่าโดดเด่นไม่เหมือนใคร

อาคารห้องสมุดประชาชนหรือห้องสมุดเมือง Spijkenisse แห่งนี้ ออกแบบโดยบริษัท MRVDV เป็นหอสมุดที่ตั้งขึ้นพร้อมกับโครงการที่พักอาศัยจำนวน 42 หลัง รวมถึงสวนสาธารณะ  ร้านค้า และอาคารสำนักงาน เพื่อให้ทุกคนที่ใช้ชีวิตประจำวันในบริเวณดังกล่าวสามารถเข้ามาหาความรู้ได้อย่างทั่วถึง ใช้เวลาก่อสร้างอย่างพิถีพิถันนานหลายปีตั้งแต่ ค.ศ.2003-2012 พอเปิดมาก็เป็นที่สนใจและโด่งดังไปทั่วโลกเลย

 

เฉพาะหอสมุดเป็นอาคารขนาด 4 ชั้นกว้างขวาง มีรูปทรงคล้ายปิรามิดล้อมรอบด้วยกระจก สร้างเลียนแบบรูปทรงโรงนาเก่าแก่ของชาวเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ใช้สอย 9,300 ตารางเมตร ภายในนอกจากจะใช้เป็นห้องสมุด ยังประกอบด้วยร้านกาแฟ เลาจ์ดาดฟ้า พื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ และมุมอ่านหนังสือต่างๆตลอดทั่วทั้งอาคาร ใช้เงินก่อสร้างราว 10 ล้านยูโร

สถาปนิกโครงการเปิดเผยว่า รูปทรงภายนอกต้องการสื่อให้เห็นถึงอาคารโรงนาแบบเก่าสไตล์ดัตช์ เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมแบบโบราณมาสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ไม่เหลือบ้านโรงนาให้เห็นในปัจจุบันอีกแล้ว และสถานที่ตั้งห้องสมุดก็เป็นชุมชนเก่าแก่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13

ภายในตัวอาคารออกแบบระบบถ่ายเทอากาศอย่างดี จึงไม่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ ซึ่งปกติเป็นอาคารในเมืองหนาวอยู่แล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความร้อน แต่จะมีปัญหาเรื่องแสงสว่างพอสมควรเนื่องจากเป็นอาคารกระจกโปร่งแสงทั้งหลัง จึงมีการติดตั้งอุปกรณ์บังแสงบนหลังคากระจก ที่นอกจากจะช่วยรักษาสภาพหนังสือแล้ว ยังช่วยให้ผู้อ่านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี แม้แสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านกระจกมาได้มากอาจทำให้หนังสือเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ แต่หนังสือที่นำมาบริการใน ห้องสมุดแห่งนี้เป็นหนังสือแบบอายุสั้น หมดสภาพการใช้งานไว ไม่มีหนังสือสูงค่าหายาก ราคาแพงแต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่คัดเลือกมาให้มีอายุการอ่านประมาณ  4 ปี ก่อนที่จะนำไปขายต่อหรือบริจาคต่อไป

           ลักษณะของภูเขาหนังสือคือการออกแบบชั้นหนังสือให้อยู่ตรงกลางอาคาร ผู้ใช้บริการสามารถเดินวนได้รอบด้าน ส่วนคนที่อยู่ภายนอกที่เดินผ่านไปมาก็สามารถมองเห็นบรรยากาศภายในห้องสมุดได้อย่างชัดเจน หนังสือแต่ละประเภทจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบสวยงามเต็มแน่นทั้งภูเขา โดยที่มีบันไดให้ปีนไปหยิบหนังสือได้สะดวก รอบภูเขาทั้งสี่ด้านซึ่งมีความยาวถึง 480 เมตร

            ความโดดเด่นของห้องสมุดเมืองแห่งนี้ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ เรดดอท ดีไซน์ อะวอร์ด 2013

(Red Dot Design Award 2013, Essen, DE) รางวัลเหรียญทองแดง  ดัชต์ วูด อะวอร์ด 2012(Dutch Wood Award 2012, Bronze) รางวัลเหรียญทองแดง ห้องสมุดยอดเยี่ยมแห่งเนเธอร์แลนด์(Best Library in the Netherlands, Bronze) เข้ารอบสุดท้ายการประกวดห้องสมุดสาธารณะชมิดต์แฮมเมอร์ ลาสเซน ประจำปี 2014 (Schmidt Hammer Lassen – Public Library of the Year Award 2014, DK) ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Mies van der Rohe Award for Contemporary European Architecture 2013 , Barcelona, Spain และ  Wienerberg Brick Award

          ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการทุกวันจนถึงเวลา 16.00 น. และมีทัวร์ฟรีทุกวันพฤหัสบดี เวลา 14.30 น.

 

///////////////