“จอห์น วู้ด” วีรบุรุษผู้สร้างโลกแห่งการอ่าน

การเดินทางออกไปเห็นโลกเพียงหนึ่งครั้งอาจทำให้คุณเปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต!

นี่ไม่ใช่การตีสำบัดสำนวนแต่เป็นเรื่องจริงของผู้ชายคนหนึ่ง

เขาคือ “จอห์น วู้ด” (John Wood) ชายผู้เป็นฮีโร่ของเด็กยากไร้ด้อยโอกาสทั่วโลกหลายสิบล้านคน

ปี 2557 ที่เพิ่งผ่านมานี่เอง “จอห์น วู้ด” ได้รับการโหวตให้คว้ารางวัล World’s Children’s Prize ไปครองร่วมกับ “มาลาลา ยูซาฟไซ” และ “อินทิรา รามานคร” นักเคลื่อนไหวชาวเนปาล ซึ่งช่วยเหลือบุตรหลานของนักโทษในเรือนจำ

มาลาลา ยูซาฟไซ คือ สาวน้อยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง และเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนจอห์น วูด คือผู้ก่อตั้งมูลนิธิ  รูม ทู รี้ด “Room to Read” เพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ

รางวัล World’s Children’s Prize จัดตั้งขึ้นมาในปีค.ศ. 2000 และได้รับขนานนามจากสื่อมวลชนว่านี่คือ รางวัลโนเบลเพื่อเด็ก เพราะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงคะแนนโหวตว่าจะมอบรางวัลนี้แก่ใคร  บุคคลมีชื่อเสียงที่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาแล้ว ได้แก่ เนลสัน แมนเดลา, กราซา มาเชล, แอนน์ แฟรงก์ และ โคฟี อันนัน

ชีวิตของจอห์น วู้ด อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำภูมิภาคเกรทเทอร์ไชน่าและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของไมโครซอฟท์ เหมือนฟ้าลิขิต เพราะถ้าในปีค.ศ. 1998 เขาไม่ลาพักร้อนหลบไปเที่ยวป่าเดินเขาหาความสงบที่เมืองอันนาปรุน่าแถบเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล เขาก็คงจะยังก้มหน้าก้มตาทำงานสร้างความสำเร็จและผลกำไรให้กับไมโครซอฟท์อยู่ต่อไป 

การเดินทางครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจอห์น วู้ด และผู้คนอีกมากมายมหาศาลมายในเวลาต่อมา

จุดหักเหครั้งสำคัญของชีวิตนักบริหารหนุ่มอนาคตไกลเกิดขึ้นเมื่อเขามีอายุ 35 ปี

การเดินเขาบนเส้นทางทุรกันดารเกือบยี่สิบวันให้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน จอห์นได้พบเห็นชีวิตคนยากจนตามหมู่บ้านห่างไกล พบครูชาวเนปาลที่เชิญชวนให้ไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อจะพบภาพอันน่าสลดหดหู่ของเด็กนักเรียนหลายสิบคนที่แออัดกันอยู่ในห้องสกปรกเล็กแคบฟุ้งไปด้วยฝุ่น

จอห์นสังเกตเห็นหนังสือในห้องสมุดราว 20 เล่ม ห้องนั้นไม่มีทั้งโต๊ะเก้าอี้ ที่สำคัญชั้นวางหนังสือถูกล็อคกุญแจอย่างแน่นหนาไม่ให้เด็กคนไหนได้แตะต้อง และที่น่าเศร้าก็คือหนังสือเหล่านั้นนอกจากจะไม่ให้เด็กได้อ่านแล้วยังไม่มีเล่มไหนเหมาะกับเด็กๆ หลายร้อยคนบนเทือกหิมาลัยนี้เลย เพราะส่วนใหญ่เป็นหนังสือนิยายประโลมโลกย์กับคู่มือท่องเที่ยวเก่าเปื่อยที่นักเดินทางทิ้งเอาไว้

เขาบอกครูว่าจะกลับมาอีกครั้งพร้อมหนังสือ ขณะที่ครูสวนกลับว่าใครๆก็พูดแบบนี้กันทั้งนั้นแต่ไม่เห็นมีคนไหนโผล่มาสักรายเดียว

คำสบประมาทของครูก้องอยู่ในหู…เมื่อลงจากเขา ชายหนุ่มส่งอีเมลไปหาเพื่อนฝูงนับร้อยคนเล่าเรื่องเด็กไร้โอกาสเหนือเทือกหิมาลัย ชวนเพื่อนๆให้มาช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกตรงจุดนี้ด้วยการถมหนังสือใส่เข้าไป และเขาทำได้สำเร็จด้วยหนังสือบริจาคถึง 3,000 เล่มภายใน 2 เดือน โดยพ่อของจอห์นเองเป็นผู้สนับสนุนรายแรก

จอห์นกลับไปหาพวกเด็กๆ ที่หมู่บ้านบาฮุนดันดาอีกครั้งในปีถัดไปพร้อมพ่อวัยเจ็ดสิบกว่าที่ยืนหยัดเคียงข้างเขากับลาอีก  8 ตัว บรรทุกหนังสือจนหลังแอ่นเอาไปฝากเด็กๆ ในโรงเรียน 10 แห่ง

เขาสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้จริง

หนังสือที่น่าอ่านเต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกใหม่น่าสนใจ มีสีสันภาพประกอบเร้าใจ ถูกเด็กๆแย่งกันดูทันทีที่แกะห่อออกมา ภาพที่เห็นทำให้ชายหนุ่มเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข และในนาทีนั้นจอห์นก็ตระหนักว่า

“มันสำคัญแค่ไหนกันที่เราต้องขายซอฟท์แวร์ให้ไต้หวันได้เท่าไหร่ในเดือนนี้ ขณะที่เด็กอีกหลายล้านคนยังไม่มีหนังสือจะอ่านด้วยซ้ำไป”  

คราวนี้จอห์น วู้ดกลับไปทำงานด้วยความรู้สึกที่แตกต่างอย่างแท้จริง ตลอด 8 ปีที่ยิ่งใหญ่ในฝ่ายบริหารไมโครซอฟท์ เขาทำให้ผู้ถือหุ้นรวยขึ้นขณะที่คนกว่า 800 ล้านคนในโลกยังไม่รู้หนังสือ

…หน้าที่การงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทรัพย์สินเงินทอง  ชีวิตฟุ่มเฟือยหรูหราอย่างที่เคยวาดฝันไว้ ไม่อาจให้คำตอบอะไรเขาได้เลย…

เขาไม่รู้จะทำอะไรดีกับเงินที่หามาได้ เสียงข้างในถามหาความหมายต่อชีวิตและบอกว่าไมโครซอฟต์ไม่ใช่อนาคตของเขาอีกต่อไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหันหลังให้กับความสำเร็จที่เพียรหามาเพื่อไปสร้างอนาคตใหม่ให้กับเด็กแปลกหน้าต่างเชื้อชาติ  เขาต้องทิ้งความฝันแบบอเมริกันชนไว้ข้างหลัง ลืมรายได้นับล้านเหรียญ  บ้านหลังงาม  รถยนต์คันโก้ ชีวิตที่หรูหราที่บินไปไหนมาไหนในชั้นธุรกิจตลอด

เขาบอกเพื่อนๆว่าแค่อยากไปช่วยให้เด็กด้อยโอกาสได้รู้หนังสือ แต่เพื่อนกลับบอกว่าเขาคงบ้าไปแล้วแน่ๆถ้าคิดจะทิ้งไมโครซอฟท์ไป แต่ในที่สุดหัวใจเขาก็โบยบินไปจนได้

จอห์นลาออกจากไมโครซอฟท์ในปีค.ศ. 2000 แล้วจัดตั้ง “รูม ทู รี้ด” Room To Read องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรขึ้น  เป็นองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กยากจนในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชีย แอฟริกา และ ลาตินอเมริกา 

เขามีเพียงพลังและความปรารถนาที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กๆ ในดินแดนห่างไกลและเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ไม่มีแม้กระทั่งเงินทุนหรือผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

หัวใจสำคัญของรูม ทู รี้ด คือหลักการแบบไตรภาคีของการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น โดย Room To Read เป็นผู้จัดหาเงินทุนและฝึกอบรม ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นจัดหาแรงงานกับวัสดุที่จำเป็น และกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลเป็นฝ่ายจัดหาครู บรรณารักษ์ห้องสมุด และเป็นผู้จ่ายเงินเดือนครู

ดังนั้นลักษณะของการทำงานจึงเน้นความต้องการที่แท้จริงเป็นหลัก และผลักดันให้ท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการอุทิศแรงงาน จัดหาทรัพยากร เช่น ถ้าชุมชนต้องการโรงเรียน รูม ทู รี้ด จะเข้าไปช่วยเหลือแต่คนในพื้นที่ต้องมาช่วยกันลงแรงตอกเสาขุดดินเทปูนด้วยตัวเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

กิจกรรมของ Room To Read ประกอบไปด้วยการฝึกอบรม การจัดหาวัสดุ บรรณารักษ์ห้องสมุดและ ครู เพื่อเด็กที่ยากไร้ด้อยโอกาส  และรณรงค์เพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในด้านการศึกษาด้วย  มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฝึกทักษะชีวิตให้กับเด็กผู้หญิง พร้อมกับช่วยเหลือค่าเล่าเรียนแก่เด็กจากครอบครัวยากจนเพื่อให้มีโอกาสศึกษาต่อไปด้วย

จอห์น พยายามปลูกฝังความคิดที่ว่า “การให้การศึกษาคือการให้ของขวัญล้ำค่าที่สุดในชีวิตแก่เด็กๆ”  จนทำให้ “ Room to Read” กลายเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ชื่อดังมากมาย ได้รับความช่วยเหลือจากคนทั่วโลกร่วมบริจาคเงินอย่างต่อเนื่อง สามารถระดมทุนได้นับร้อยล้านเหรียญ

ปัจจุบัน “Room to Read” ดำเนินงานในประเทศ กัมพูชา ลาว เนปาล อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม และ แอฟริกาใต้ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางการศึกษาไม่เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน  จอห์นและทีมงาน ได้มอบหนังสือให้เด็กๆแล้วหลายล้านเล่ม ช่วยให้มีหนังสือได้อ่านกันถึง 10 ล้านคน และสร้างห้องสมุดทั้งหมด 17,500 แห่งทั่วโลก

จอห์นยึดหลักว่า การบริหารจัดการโครงการต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ โปร่งใส วัดผลและตรวจสอบได้ รวมทั้งมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำเพื่อให้เม็ดเงินถูกใช้ไปกับตัวโครงการและเด็กอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ควบคุมค่าใช้จ่ายในการรณรงค์หาทุนให้มีสัดส่วนเพียง 10% ที่เหลือ 90% เป็นงบประมาณที่ลงไปในโครงการโดยตรง

จอห์นจบปริญญาตรีด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด และ ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐฯ ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในฮ่องกงและออกเดินทางไปตามที่ต่างๆปีละ 200 วัน จอห์นเพิ่งแต่งงานเมื่อปี 2014 กับเอมี่ เพาเวล( Amy Powell) นักเขียนนักวิจารณ์ ด้านอาหารและไวน์ ปัจจุบันเอมี่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพนธ์โรงแรมโฟร์ซีซัน ฮ่องกง

จอห์น วู้ด ได้รับรางวัล “วีรบุรุษแห่งเอเชีย” ประจำปี 2004 จากนิตยสาร ไทม์ เอเชีย นอกจากนี้ จอห์นยังได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆอีกมากมาย

ในปี 2006 จอห์น วู้ด ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหนังสือชื่อว่า  “Leaving Microsoft to Change the World”ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีและทำเงินถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐในปีเดียวเมื่อโอปราห์ วินฟรีย์นำไปแนะนำในรายการของเธอ นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือธุรกิจที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีที่สุดเล่มนึง  หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆกว่า 21 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย

วันนี้ แม้ “Room to Read” จะประสบความสำเร็จในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนับล้านคน  แต่สำหรับจอห์นยังเห็นว่าเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำออกมานิดเดียวเท่านั้น เพราะมีเด็กทั่วโลกในวัยเรียนอีกเป็น 100 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับ และเกือบ 800 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่รู้หนังสือในจำนวนนี้2 ใน 3 เป็นผู้หญิง

เป้าหมายของจอห์นในอีก 10 ปีข้างหน้าคือการได้เห็นเด็ก 10 ล้านคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำลายวัฎจักรของความยากจน  

แนวทางของจอห์นวู้ดมีผู้สนใจเข้ามาร่วมคิดร่วมทำเพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น ดิเนช เชษฐา ที่เคยทำงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนในโครงการรณรงค์กำจัดโรคโปลิโอได้เข้าร่วมทีม Room to Read เช่นเดียวกับเอริน กานจู นักธุรกิจเวียดนามที่ประสบความสำเร็จสูงแต่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่ออุทิศเวลาให้กับโครงการไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้

ปัจจุบัน Room to Read ได้ขยายงานครอบคลุม 10 ประเทศทั่วโลก

//////////